เปิดรายละเอียด 8 มาตรการ ระยะสั้น ควบคุมอาวุธปืน-สิ่งเทียมอาวุธปืน หลังเกิดเหตุ เด็ก 14 ปี ยิงคนในพารากอน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (5 ต.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการครอบครอง การพกพา และการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยที่ประชุม เห็นชอบให้ กรมการปกครอง ออกมาตรการ ซึ่งอธิบดีกรมการปกครอง จะลงนามสั่งการเร็วๆ นี้
8 มาตรการระยะสั้น ดังนี้
1. ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด และอธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก
2. ให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่
3. ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด
4. ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบทั่วประเทศ
– ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ
– อาวุธปืนที่ใช้ในสนามยิงปืนต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ
– ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกเขตสนามยิงปืนเด็ดขาด
– กวดขันตรวจสอบสนามยิงปืน ในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ซึ่ง นายอนุทิน ขยายความว่า คือ ต้องฝากอาวุธปืนไว้ที่สนามยิงปืน
5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
6. อนุญาตโครงการอาวุธปืนสวัสดิการ สำหรับข้าราชการคนละ 1 กระบอกเท่านั้น และห้ามนำไปจำหน่ายหรือโอนต่อให้กับประชาชนหรือผู้อื่น
7. ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาต สั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
8. ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปราบปรามและปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทย ทราบทุก 15 วัน
นอกจากนี้ มาตรการระยะยาว แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
1. ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
2. ความหมาย บทนิยาม ของคำว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ไม่ให้หมายความรวมถึง แบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย
3. กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
4. ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศ ทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้น จะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอกทุกราย
- ให้ใบอนุญาตมีอาวุธปืนภายในวงเล็บ (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัวกับนายทะเบียน ในทุก 5-10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต เช่นเดียวกับ ใบขับขี่รถยนต์