SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ธนาธร’ หวัง ส.ส.-ส.ว.โหวตร่างแก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นผ่านวาระแรก แต่หากไม่ผ่าน ‘พรรคก้าวไกล’ เสนอเป็นนโยบายหาเสียงเรื่องกระจายอำนาจ ‘ส.ว.เลิศรัตน์’ ติงสุดโต่ง-ปฏิบัติยาก ชี้ ส.ว. 1 ใน 3 ไม่เอาด้วย

ภาพจาก : คณะก้าวหน้า

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และน.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ก่อนที่ประชุมรัฐสภา จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. … เกี่ยวกับการปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่นว่า ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอปลดล็อกท้องถิ่น คาดว่า การพิจารณาจะเข้าสู่การพิจารณาไม่ช่วงเย็นของวันนี้ (29 พ.ย. 65) ก็เป็นวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย. 65) พวกเราหวังว่า ทุกท่านจะเห็นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ ยุติการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง พวกเราตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้

โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนอปลดล็อก 3 เรื่อง คือ

1. การจัดสรรภาษีให้เป็นธรรม โดยกำหนดส่วนแบ่งภาษีให้เป็น 50 ต่อ 50 ส่วนกลางครึ่งหนึ่งและท้องถิ่นอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณดูแลอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ขยะ ศูนย์เด็กเล็ก ส่วนท้องถิ่นจะได้ไม่ต้องวิ่งของงบประมาณจากส่วนกลาง

2. เรื่องอำนาจ ทุกวันนี้มีคำสั่ง ประกาศกระทรวง และกฎหมายที่ออกจากส่วนกลางจำนวนมากโดยไม่ไว้ใจท้องถิ่น ไม่เปิดโอกาสให้ทำบริการสาธารณะออกแบบความต้องการการพัฒนาชุมชนตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการบริการสาธารณะของตัวเอง

3. ในร่างฉบับนี้จะเปิดให้จัดทำประชามติ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้หาฉันทามติร่วมกันว่า ราชการส่วนภูมิภาคยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ของไทย

“หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขครั้งนี้ ขอให้ลงมติผ่านวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วหากไม่เห็นด้วยในประเด็นใดสามารถไปพูดคุยรายละเอียดได้ใน วาระที่ 2 และถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็ค่อยตีตกในวาระที่ 3 ได้” นายธนาธร กล่าว

ผู้สื่อข่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เตรียมแผนไว้อย่างไรบ้าง นายธนาธร กล่าวว่า จะเดินหน้าต่อ เพราะพรรคก้าวไกลได้แถลงนโยบายการหาเสียงเรื่องการกระจายอำนาจไปแล้ว

เมื่อถามถึงความกังวลเมื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสำเร็จจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น นายปิยบุตร กล่าวว่า ตัวอย่างการกระจายอำนาจที่ดีคือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตอนแรกก็มีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อกระจายอำนาจแล้ว การทุจริตลดน้อยถอยลงไป ขอยืนยันสบายใจได้ มีงานวิจัยว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่การกระจายการทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา แสดงความเห็นต่อร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยนายธนาธรและคณะว่า ในเนื้อหาและสาระของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวมีหลักการที่รับได้ ทั้งการกระจายอำนาจ งบประมาณ แต่ตนกังวลว่า บทบัญญัติที่เสนอแก้ไขนั้น จะยากต่อการปฏิบัติ เพราะกำหนดรายละเอียด และเขียนเนื้อหาที่มีลักษณะสุดโต่ง และสุดกู่

โดยมองว่า จะมีประเด็นที่รัฐสภาต้องอภิปรายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ 2 ประเด็น คือ งบประมาณตามร่างแก้ไขกำหนดให้จัดสรรงบให้ท้องถิ่น ร้อยละ 50 จากรายได้สุทธิของรัฐ หากพิจารณางบประมาณประจำปีที่มี 2.5 ล้านล้านบาท เท่ากับต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น 1.25 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นได้รับงบประมาณ ร้อยละ 29 หรือ 7 แสนล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัว จำเป็นต้องตัดเงินส่วนราชการ เช่น เงินเดือน และร่างแก้ไขกำหนดให้ทำภายใน 3 ปี ดังนั้นหากจะทำให้เป็นจริงได้ ต้องยุบราชการส่วนต่างๆ เพื่อนำงบประมาณให้กับท้องถิ่น

“ปัจจุบัน ท้องถิ่นได้งบประมาณและเงินอุดหนุน 29% หากจะต้องหาเงินมาอุดหนุนอีก 5 แสนล้านต้องปฏิวัติการปกครองรุนแรง ยุบกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานในต่างจังหวัด และอาจยุบผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยหรือไม่ ทั้งนี้หากจะแก้ไขเรื่องงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายว่าด้วยกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดเป้าหมายการจัดสรรรายได้ให้ อปท. ที่กำหนดว่าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 และตั้งเป้าให้มีรายได้เพิ่ม ร้อยละ 35 ” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ประเด็นต่อมา คือ กรณีที่กำหนดให้ภายใน 2 ปี ต้องทำแผนยุบราชการภูมิภาคทั้งหมด และนำไปทำประชามติภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ หากประชาชนเห็นด้วยจะทำให้เกิดการยุบราชการส่วนภูมิภาค ทั้งสาธารณสุข คมนาคม พลังงาน ยกเว้น ความมั่นคง ความปลอดภัย งานต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดการยุบราชการภูมิภาคทั้งหมด ในยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ทำได้เพราะเป็นรัฐอิสระ มีอำนาจ มีความอิสระในงบประมาณ ทำให้ทุกท้องถิ่นมีอำนาจเหมือนรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นคือการกำหนดให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5-6 ฉบับที่ให้รัฐสภาแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่ปฏิบัติได้

“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้ง 7,850 แห่งได้ ต้องลดกำลังคน หน้าที่ของราชการที่ส่วนกลางและภูมิภาคลง ปัจจุบันข้าราชการมีทั้งหมด 3 ล้านคน ขณะที่ท้องถิ่นมีเพียง 3 แสนคน ดังนั้นหากจะให้ทำอย่างที่เสนอแก้ไขต้องลดกำลังข้าราชการส่วนกลาง ยุบราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา เช่น การถ่ายโอน รพ.สต.ให้ท้องถิ่น แต่ไม่มีอัตรากำลังหมอ พยาบาลให้ เป็นต้น ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ท้องถิ่นเดินหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็นและเขียนเนื้อหาสุดกู่เกินกว่าจะทำได้” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินว่าส.ว.จะลงมติรับหลักการวาระแรกครบ 1 ใน 3 หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การลงมติวาระแรก ต้องใช้เสียงส.ว. เห็นชอบด้วย  จำนวน 83 เสียง ส่วนตัวมองว่ายาก เพราะมีประเด็นที่ยากต่อการปฏิบัติ  และรายละเอียดที่เสนอแก้ไข ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เป็นรายละเอียด ทั้งนี้ตนมองว่าข้อเสนอแก้ไขเป็นความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นการกระจายอำนาจไปสู่จุดนั้น แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก หากเขาได้เป็นรัฐบาลค่อยมาทำ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า