SHARE

คัดลอกแล้ว

‘พิธา’ วิเคราะห์ 100 วันแรกรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ภายใต้ 5 กรอบ ให้ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง เรียกร้องปีหน้าควรมีแผนที่ชัดเจนในการทำงานได้แล้ว ตอบปมเปลี่ยนตัวนายกฯ ชี้ควรให้เวลาทำงาน ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวตอนนี้

เวลา 11.00 น. วันนี้ (15 ธ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดแถลงข่าวในหัวข้อ “การวิเคราะห์การดำเนินงาน “100 วัน” แรกของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ทั้งข้อดีและข้อด้อยที่ควรที่จะปรับปรุง ในเชิงของรัฐศาสตร์นั้น 100 วันแรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ในเรื่องของการเมืองนั้นไม่มีช่วงเวลาโหมโรง ไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน

โดยนายพิธาได้วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ด้วยกรอบ 5 คิด’s ดังนี้

1. คิดดี ทำได้

– ช่วยตัวประกันชาวไทยในอิสราเอล

– วัคซีน HPV มะเร็งปากมดลูก

– หนี้ในระบบ นอกระบบ (พักหนี้)

2. คิดไป ทำไป

– ดิจิทัล วอลเล็ต

– เงินเดือนข้าราชการ

– แลนด์บริดจ์

3. คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว

– ค่าไฟ ค่าเดินทาง

– รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

4. คิดใหญ่ ทำเล็ก

– ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)

– วีซ่าฟรี (Visa free)

– ส.ป.ก.

– ค่าแรง

5. คิดอย่าง ทำอย่าง

– ร่างรัฐธรรมนูญ

– ปฏิรูปกองทัพ

เริ่มต้นที่ “คิดดี ทำได้” โดยสรุป นายพิธา กล่าวชื่นชมรัฐบาลเศรษฐา ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตั้งทีมเจรจา และทีมของรัฐสภา ที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ทำให้คนไทยที่ถูกลักพาตัวไปกลับมาเกือบทั้งหมด คือ 23 คน รวมทั้งการอนุมัติงบเยียวยารายละ 50,000 บาท อนุมัติสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย แต่อยากฝากรัฐบาลที่ทำดีอยู่แล้วให้ทำต่อ คือการช่วยเหลือตัวประกันที่ยังอยู่กับกลุ่มฮามาสอีก 9 คน ก็หวังว่ารัฐบาลจะไม่ลืมพวกเขา ส่วนเงินที่อนุมัติแล้วหวังว่าจะมีการส่งต่อเงินให้แรงงานให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และในที่สุดหวังว่าสิ่งที่ได้ทำมาแล้วจะเป็นการถอดบทเรียน ถ้ามีความรุนแรงแบบนี้อีกไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนในโลก ทั้งการอพยพ การช่วยเรื่องเงิน ก็สามารถต่อยอดและทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ในภายภาคหน้า

ส่วน “คิดไป ทำไปทำ” นายพิธา กล่าวถึงนโยบายดิจิทิลวอลเล็ต เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างน้อย 4 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าคิดไปทำทำไป ก่อนเลือกตั้งจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินไม่จำเป็นต้องมีการกู้ เมื่อเป็นรัฐบาล บอกว่าจะใช้เงินจากธนาคารออมสินแต่กฤษฎีกา บอกผิดพ.ร.บ.ออมสิน เลยเปลี่ยนครั้งที่ 2 ว่าจะเป็นต้องใช้เงินจากงบผูกพัน แต่ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่าผิดพ.ร.บ.เงินตรา ทำให้ต้องคิดไปทำไปในครั้งที่ 3 ที่แถลงจะใช้เงินงบประมาณและพ.ร.บ.เงินกู้ แต่ปรากฏว่าเมื่อร่างงบประมาณปี 67 ออกมาไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนครั้งที่ 4 ใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจากครั้งที่ 4 เทียบกับที่สัญญาก่อนเลือกตั้งก็จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งนี่คือการคิดไปทำไปแค่ที่มาของงบประมาณเท่านั้น ยังไม่ได้รวมอีกหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน และวันเริ่มโครงการจากเดิมบอกว่ากุมภาพันธ์ 2567 เป็นพฤษภาคม 2567

นายพิธา กล่าวด้วยว่า เราคาดหวังจากรัฐบาลเรื่องแผน 2 ในกรณีดิจิทัลวอลเล็ตที่จะไม่สามารถทำได้ หรือติดปัญหา ในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ตนคิดว่าในปีหน้า รัฐบาลควรจะมีความชัดเจน และไม่มีการปรับเปลี่ยนอีกแล้วถ้าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้าไม่ได้เป็นดิจิทัลวอลเล็ตก็ควรจะเกาให้ถูกที่คัน และเลือกจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นภาคการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือการลงทุนของภาครัฐบาลเอง

“คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว” การลดค่าไฟ ลดค่าเดินทาง รัฐบาลมีแต่มาตรการระยะสั้น ยังไม่เห็นมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นตอ นายพิธา กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุมครม. แต่ไม่ได้มีการตามงานต่อว่า การจะให้ลดตามเป้าหมายนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ข้าราชการทำยังไงบ้าง นอกจากนี้ยังระบุว่า สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาลคือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างโรงงานไฟฟ้ากับโรงงานปิโตรเคมี หรือ pool gas รวมถึงการเจรจา “ค่าความพร้อมจ่าย” กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ตรงนี้จะสามารถแก้ปัญหาจาก คิดสั้นไม่ได้คิดยาว มาแก้ปัญหาในระยะยาว และจะทำให้ภาระเรื่องค่าไฟของประชาชนลดลงได้ ขณะเดียวกัน ปีหน้ารัฐบาลควรประกาศว่า การอนุญาตให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในการผลิตกำลังไฟสำรองทั้งที่ไม่จำเป็น ไม่ควรจะเกิดขึ้นในปีหน้า และควรกระจายโอกาสการทำพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์เซลล์

ส่วนเรื่องขนส่งสาธารณะภาคใหญ่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าคนส่วนใหญ่จำนวนมากยังใช้รถเมล์ เรือ การจะทำให้ขนส่งสาธารณะสะดวก พัฒนาแบบตั๋วรวม น่าจะเป็นการคิดยาวให้คนกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น แต่ถ้าจะมองเฉพาะรถไฟฟ้านั้น หากจะเกาให้ถูกที่คัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีผู้โดยสารใช้งานมากกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว (นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง) 

ต่อมา “คิดใหญ่ ทำเล็ก” นายพิธา ได้กล่าวถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ถึงสิ่งที่รัฐบาลทำแล้ว เช่น การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การเคาะงบประมาณกว่า 5.1 ล้านบาท สนับสนุน 11 อุตสาหกรรม เสนอตั้ง THACCA เพื่อสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง การจะทำเฟสติวัล Winter Festival และสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายน ซึ่งในส่วนของ THACCA นายพิธาเห็นว่า ควรยื่นเป็น พ.ร.บ. หรือเพิ่มงบประมาณไปที่หน่วยงานเดิมที่มีอยู่ เช่น CEA, OKMD หรือ TK Park

พร้อมเสนอแก้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน ลดขั้นตอนการขออนุญาตกองถ่าย เฟสติวัล สนับสนุนการรวมตัวของฟรีแลนซ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แก้กระทรวงสุราก้าวหน้า และคูปองเปิดโลก 2,000 บาท กระตุ้นอุปสงค์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ พิพิธภัณฑ์ได้ทันที

สุดท้าย “คิดอย่าง ทำอย่าง” นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในการแก้รัฐธรรมนูญ คือมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะทำประชามติกี่รอบ คำถามจะเป็นอย่างไร สสร. จะมีที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์พอสมควร เพราะการทำงานระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนว่าเห็นตรงกัน 90% ทั้งที่มาของ สสร. หรือประชามติ โดยส่วนที่ไม่ตรงกัน 5-10% คือการหมวดหมู่ในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจ เข้ากับขั้วตรงข้ามที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการปฏิรูปกองทัพ ก็เกิดความไม่ชัดเจนคิดอย่างทำอย่างเกิดขึ้น

นายพิธา กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในปีหน้าว่า รัฐบาลควรมี Strategic Roadmap ที่ชัดเจน ต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ รัฐบาลผสมต้องทำงานให้เป็นเอกภาพมากกว่านี้ ทำการศึกษาโครงการอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป และต้องเป็นแผนที่ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถติดตามกับการทำงานของรัฐบาลได้ และมี KPI ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ นายพิธา ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ให้ประเมินผลงานรัฐบาลว่า ตอนแรกคนทำสไลด์เขียนว่าประเมิน ตนก็บอกไปว่า เราประเมินไม่ได้ เป็นวิเคราะห์ อย่างที่บอกว่า พอไม่มี Road map ชัดเจนให้ดูก็เลยไม่รู้ว่าตั้งใจที่จะทำอะไร ไม่สามารถประเมินเป็นเกรดได้ ทำได้คือวิเคราะห์ อย่างฝ่ายเชิงรุกและสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่ามีข้อดีอยู่หลายข้อเหมือนกัน เช่นการช่วยคนไทยในอิสราเอล, วีคซีน HPV แต่ที่เหลือมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้เข้ารูปเข้ารอยกว่านี้ ดังนั้นเป็นการวิเคราะห์ไม่ใช่ประเมินและไม่ได้ให้เกรดแต่อย่างใด

มีผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับการหาทางลงหรือสัญญาณการเปลี่ยนนายกฯ นายพิธา กล่าวว่า “ผมคิดว่าคำว่าในการปรับเปลี่ยนทิศทางน่าจะเหมาะสมมากกว่าการหาทางลง การหาทางลงอาจจะเป็นสิ่งที่ประเทศ ไม่ได้ต้องการในตอนนี้ แต่ว่าการปรับเปลี่ยนท่าที การปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานอย่างมีเป้าหมาย เป็นมืออาชีพก็น่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วเหมือนกับเป็นโจทย์ร้อนในปีหน้าเบาบางลงได้ ก็หวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะ และก็ข้อกังวลที่พรรคก้าวไกลมีในวันนี้”  

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำเรื่องเปลี่ยนตัวนายกฯ นายพิธา ตอบว่า “อันนี้คงไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะทำตอนนี้ ก็น่าจะให้โอกาสท่านนายกฯ ได้มีโอกาสทำงานให้เต็มที่ก่อน”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า