‘ธีรยุทธ-สนธิญา’ ยื่น ป.ป.ช. สอบจริยธรรม 44 สส. พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างกฎหมาย แก้ ม.112 แล้ว

(ภาพ เจมส์ วิลสัน / Thai News Pix)
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร อดีตทนายพุทธะอิสระ ซึ่งเป็นผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครอง ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
และนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษา กรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ต่างได้เดินทางเข้ามายื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง สส. ของพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 เมื่อปี 2564
นายธีรยุทธ ให้สัมภาษณ์ว่า สส. พรรคก้าวไกล ทั้ง 44 คน ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคาดหวังต้องการไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เรื่องการยุบพรรค เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งตนได้ทำหนังสือยื่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วเมื่อวานนี้
ขณะที่ นายสนธิญา ให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งกล่าวว่า การกระทำเหล่านี้เป็นมรดกบาปที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2561 ถ่ายทอดเป็นกรรมพันธุ์ ดีเอ็นเอ (DNA) จากอนาคตใหม่ มาเป็นก้าวไกล มาเป็นเจน (Gen) ปัจจุบันนั้น ไม่ทิ้งในการแก้ไขมาตรา 112 ก็เท่ากับว่า ยังจ้องที่จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวและเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ ซึ่งความรู้สึกของตน เรียกร้องว่าให้วินิจฉัยแล้วให้ยุติการเมืองไปตลอดชีวิต
ผู้สื่อข่าวให้ประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ นายสนธิญา ตอบว่า ตนมอง 50 : 50 ถ้าพรรคก้าวไกล และสมาชิกพรรค ผู้บริหารพรรค ยุติการกระทำ ซึ่งเมื่อวาน ตนก็เห็นด้วยที่เขาลบข้อความต่างๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงออกไปจากหน้าเว็บไซต์ แต่กรณีการแสดงความคิดเห็นยังร้อน เช่นที่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงบอกว่ายังสนับสนุนแก้ มาตรา 112 อยู่
“จริยธรรมกับการกระทำผิดกฎหมายต้องดูให้ชัดเจนนะครับ เพราะการกระทำผิดกฎหมายอาญา ต้องเป็นไปตามกระบวนการ แต่กรณีจริยธรรมนั้นจะนำเรื่องพฤติกรรม การกระทำ การตั้งใจ ตั้งแต่อดีต จนถึงส่วนกลาง อนาคต วันนี้ เข้ามาประกอบทั้งหมด แล้วเรียกว่าเป็นจริยธรรม” นายสนธิญา กล่าวทิ้งท้าย