
ขอบคุณภาพ : วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
วันที่ 22 ส.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป แถลงกรณียื่นขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคเพราะกรรมการบริหารพรรคติดภารกิจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ ทั้งเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และการประสานงานสร้างตัวแทนพรรคการเมือง
สำหรับการดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 (7) คือ พรรคการเมืองจะสิ้นสุดสภาพได้โดยที่เลิกพรรคตามข้อบังคับของพรรค ข้อที่ 122 ที่ระบุว่าการเลิกพรรคให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ยังมีมติให้คืนอุดหนุนที่ได้รับจากกองทุนสนับสนุนอุดหนุนพรรคการเมือง จำนวนเงินประมาณ 880,000 บาทด้วย

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ขณะที่ตนเองสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายในระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 101(10) ซึ่งตนได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐแล้วว่า จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และจะไปช่วยงานด้านกฎหมายของพรรค ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มจาก 116 เสียงเป็น 117 เสียง แต่เสียงขั้วฝั่งรัฐบาลยังเท่าเดิม ซึ่งกรรมการบริหารพรรคหลายคนจะย้ายไปพรรคพลังประชารัฐพร้อมกันด้วย
ทั้งนี้ ในการทำงานในส่วนคณะกรรมาธิการ ตนตั้งใจจะเป็นกรรมาธิการด้านศาสนา เพื่อให้การดูแลทรัพย์สินของวัดเป็นไปด้วยความโปร่งใสเปิดเผย สามารถตรวจสอบได้ พร้อมส่งเสริมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้พระพุทธศาสนิกชนน้อมนำไปปฏิบัติ
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตการเลิกพรรคและย้ายพรรคของนายไพบูลย์ว่า ไม่สามารถจะตัดสินใจย้ายเข้าพรรคใดได้เอง และ กกต.จะต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ โดยตัดคะแนนพรรคประชาชนปฏิรูปออก โดยระบุว่า
1. โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่
2. กกต.ต้องคำนวณ ส.ส บัญชีรายชื่อใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคคุณไพบูลย์ออก และจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก ส.ส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่
3. คุณไพบูลย์ ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม (หากเขารับ) และคงสถานะเป็น ส.ส. (แต่หากไม่รับ ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง)
4. ไม่ควรจบง่ายๆ ว่า ยุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มีนาคม 2562 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับ กรณีพรรคไทยรักธรรม
นายสมชัย ระบุด้วยว่า เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามองและดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต.ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10219992702872620&id=1374514777