ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในมาเลเซีย จุดจับจ้องกลับไปอยู่ที่สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ แห่งมาเลเซีย ว่าจะทรงตัดสินพระทัย เลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันเสาร์ (19 พ.ย.) ไม่มีฝ่ายใดครองเสียงข้างมากในสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ตรัสเมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) ว่าพระองค์จะตัดสินพระทัย เลือกคนใดคนหนึ่ง ระหว่างอัมวาร์ อิบราฮิม และมูห์ยิดดิน ยัสซิน มาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียเคารพคำตัดสิน และการตัดสินใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
นับเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่กษัตริย์มาเลเซียจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง โดยการแต่งตั้งตามพระราชวินิจฉัย 2 ครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
รู้จักกษัตริย์มาเลเซียองค์ปัจจุบัน
มาเลเซียปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยกษัตริย์จะได้รับเลือกจากสมาชิกราชวงศ์ใน 9 รัฐ หมุนเวียนกันปกครองประเทศรัชสมัยละไม่เกิน 5 ปี สำหรับกษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ รีอายาตุดดิน อัล-มุซตาฟา บิลละฮ์ ซะฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม สุลต่าน ฮาจี อะฮ์มัด ซะฮ์ อัล-มุซตาอิน บิลละฮ์ แห่งรัฐปะหังทางตะวันออกของมาเลเซีย ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2562 ขณะมีพระชนมายุ 59 พรรษา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 16 ของมาเลเซีย นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2500
สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 16 ของมาเลเซีย มีคะแนนนิยมจากภาพลักษณ์ติดดินมาตั้งแต่เริ่มรัชกาล จากภาพที่พระองค์ทรงต่อแถวซื้อไก่ทอดเคเอฟซี และทรงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางหลวง นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นนักกีฬามากความสามารถ ทรงเคยเป็นนักกีฬาตัวแทนของรัฐในการแข่งขันฟุตบอลเมื่อทรงพระเยาว์ และเป็นสมาชิกกรรมการบริหารฟีฟ่าและประธานสหพันธ์ฮอกกีแห่งเอเชียด้วย
บทบาททางการเมืองของกษัตริย์มาเลเซีย
แม้ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียจะให้อำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ในอดีตที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้มีกษัตริย์พระองค์ใดใช้อำนาจดังกล่าว จนกระทั่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในปี 2563 หลังจากที่พรรคอัมโน ซึ่งครองอิทธิพลทางการเมืองในมาเลเซียมาตลอดได้เสื่อมอำนาจลง จากคดีฉาวทุจริตกองทุน 1MDB ของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำพรรค รวมถึงการเสื่อมถอยของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ บาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional – BN) ซึ่งเคยเรืองอำนาจในอดีต ทำให้ทิศทางการเมืองของมาเลเซียต้องตกอยู่ในสถานการณ์ไร้เสถียรภาพ จนนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอลาออกถึง 2 คน ส่งผลให้กษัตริย์ต้องทรงใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
โดยครั้งแรก พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2563 หลังจากที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลผสม ซึ่งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น พระองค์ได้ร่วมประชุมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ 222 คน เพื่อเลือกว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลผสม
ในเวลาต่อมา นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนในสภา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการจัดการกับโควิด-19 สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ได้ใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 114 คน จากทั้งหมด 222 คนในสภา
อย่างไรก็ตาม การใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับสองครั้งก่อนหน้า เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากที่มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไป แต่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนมาเลเซียเข้าสู่ภาวะสภาแขวนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ทิศทางการเมืองมาเลเซียต่อจากนี้
หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซียออกมาประกาศผลการเลือกตั้งในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) ทั้งกลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง หรือ ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan – PH) ซึ่งนำโดยนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ หรือ เปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional – PN) ของนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างออกมาประกาศชัยชนะ โดยมั่นใจว่าฝ่ายของตนจะสามารถรวมเสียงสนับสนุน สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้
ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ออกแถลงการณ์กำหนดเส้นตายให้ทั้งสองกลุ่มรวบรวมพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายในช่วงบ่ายวันจันทร์ (21 พ.ย.) และขยายเวลาต่อมาถึงวันอังคาร (22 พ.ย.) แต่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ หลังจากที่กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ของนายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ออกมาประกาศไม่สนับสนุนทั้ง PH และ PN พร้อมแสดงจุดยืนจะเป็นฝ่ายค้าน ทำให้สถานการณ์ยิ่งยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีก เพราะ BN ครองเสียงในสภาอยู่ถึง 30 เสียง ซึ่งเมื่อปราศจากเสียงเหล่านั้น ทำให้การตั้งรัฐบาลของทั้งสองกลุ่มแทบจะเป็นไปไม่ได้
การเลือกตั้งในมาเลเซียล่วงมาแล้ว 4 วัน แต่ยังคงไร้วี่แววที่จะตั้งรัฐบาลสำเร็จ แม้สมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ได้ทรงแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ พระองค์จึงทรงเรียกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกลุ่ม BN เข้าเฝ้าเป็นรายบุคคลในวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อชี้แจงว่า พวกเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายอันวาร์ อิบราฮิม และนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน แต่ ส.ส. กลุ่ม BN ก็ขอเลื่อนการเข้าเฝ้าออกไปอีกเนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าทางออกของวิกฤตการเมืองมาเลเซียในครั้งนี้จะเป็นไปในทิศทางใด งานหนักจะตกอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปอย่างแน่นอน
ที่มา Reuters, Al Jazeera