Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แม้จะเห็นด้วยกับการใช้คำว่า “สลิ่ม” เรียกวิธีคิดทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คำว่า “สลิ่ม” ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ในสัปดาห์แห่งการชุมนุมทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย มีแฮชแท็กที่มีคำว่าสลิ่มอย่างน้อย 8 ที่

ในอดีต “สลิ่ม” หรือ “ซ่าหริ่ม” หมายถึงของหวาน แต่หลังเหตุการณ์การเมืองปี 2553 คำว่าสลิ่มก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุดอธิบายว่า คำนี้ถูกนำมาใช้เรียก “กลุ่มเสื้อหลากสี” ที่ออกมาตอบโต้การประท้วงของคนเสื้อแดง มีการริเริ่มครั้งแรกในเว็บบอร์ด pantip.com ต่อมามีผู้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง

ผ่านไป 10 ปีให้หลัง คำว่าสลิ่มย่อมมีขอบเขตความหมายเปลี่ยนไปแน่นอน ในวาระที่เกิดปรากฎการณ์แฮชแท็กแสดงจุดยืนของแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้น ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงเดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาที่เลือกใช้  #BUกูไม่เอาสลิ่ม แสดงจุดยืน เพื่อเข้าใจการนิยามความหมายของคำสุดฮิตนี้ในปัจจุบัน

การชุมนุมที่ม.กรุงเทพ วันที่ 25 ก.พ. 2563 เริ่มจากพัชรพลและชนณภัทรตั้งกรุ๊ปในแอปพลิเคชันไลน์กันเล่น ๆ ตอนตี 2 ภายในคืนเดียวก็มีคนเข้าร่วมกว่า 300 คน การเคลื่อนไหวจึงย้ายจากโลกออนไลน์สู่กายภาพ

ไม่ได้ตั้งใจใช้แฮชแท็กนี้ แต่มันไปเอง 

นักศึกษาม.กรุงเทพฯ นัดชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลวันที่ 26 ก.พ. 2563 ที่ข้างสนามฟุตบอลม.กรุงเทพ สิ่งที่ผู้เขียนเซอร์ไพรสต์คือนักศึกษาบางคนเปิดเผยว่าแฮชแท็ก  #BUกูไม่เอาสลิ่ม สุดฮิตที่ติดเทรนทวิตเตอร์นี้ไม่ใช่แฮชแท็กที่พวกเขาพอใจนัก

“ผมว่ามันไม่สร้างสรรค์ ม.เราเป็นม.สร้างสรรค์ ที่สำคัญคือมันไม่เก๋” นักศีกษาคนหนึ่งที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “ปกป้อง” กล่าว เขาบอกว่าตอนแรกเพื่อน ๆ ในกรุ๊ปไลน์ที่เกิดขึ้นเพื่อรวบรวมผู้สนใจในคืนก่อนหน้านั้นคิดคำอย่างอื่นกัน หนึ่งในคำที่ตกลงใช้ในทีแรกคือ #เอกชนหน้ามนของเรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้วยคนจ้า “แต่แฮชแท็กนี้มันติดเทรน เราก็เทรนอันนี้ไปเลยแล้วกัน”

ระหว่างนักศึกษาไม่ต่ำกว่า 300 คนดำเนินกิจกรรมไป ผู้เขียนเดินพูดคุยกับนักศึกษาตามรายทางไป นักศึกษากลุ่มหนึ่งจากคณะวิศวกรรมตอบว่าไม่พอใจแฮชแท็กนี้เช่นเดียวกัน

นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ 2 คน บอกว่าอยากมาแสดงจุดยืนมานานแล้ว จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาไม่พอใจต่อรัฐบาลคือเรื่องภาษีที่ดินที่ครอบครัวของเขาต้องรับภาระในฐานะเกษตรกร

“ผมว่ามันเกรี้ยวกราดไป” หนุ่มน้อยคนหนึ่งกล่าว ส่วนอีกคนเสริมว่า “ไม่รู้อ่ะ พอมีคำว่ากูมันดูเป็นการเทคแอคชั่นแบบ ดูใส่อารมณ์”

แต่พอผู้เขียนถามว่าคิดว่าคำว่ากู หรือคำว่าสลิ่มที่เป็นปัญหา พวกเขาประสานเสียงกันว่า “คำว่ากูครับ”

คนที่เห็นว่าการใช้คำว่าสลิ่มในแฮชแท็กเป็นปัญหา กลับเป็นสาวน้อยคนหนึ่งที่ผู้เขียนเข้าไปคุยด้วยหลังเธอเพิ่งเสร็จจากการปราศรัย “มันก็รุนแรงนะ ทั้งคำว่ากูและคำว่าสลิ่ม เหมือนเราไปพุ่งที่กลุ่มบุคคลนึง”

เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนยันว่าแฮชแท็กนี้เกิดขึ้นมาด้วยอุบัติเหตุ “มันฮิตเอง เราก็เลยตามเลย ส่วนตัวหนูหนูก็อยากให้เปลี่ยนแฮชแท็ก”

ขณะที่เพื่อนของเธอที่ยืนอยู่ข้างเวทีปราศรัยเห็นว่า #BUกูไม่ใช่สลิ่ม เหมาะแล้ว

เขาอนุญาติให้ถูกเอ่ยถึงในชื่อ พัชรพล “เราแค่ต้องการบอกว่าเราไม่ได้ฝักใฝ่เผด็จการ เรากำลังมองว่าสลิ่มคือคนที่ฝักใฝ่ในเผด็จการ วันนี้เราก็เลยบอกว่าเราไม่ชอบเผด็จการนะ ก็เลยบอกว่า กูไม่ใช่สลิ่ม”

สลิ่มแปลได้หลากหลาย 

ถ้าสำหรับพัชรพล สลิ่มหมายถึงผู้ฝักใฝ่ในเผด็จการ คนอื่น ๆ คิดเห็นอย่างไร จากการเดินสอบถาม ผู้เขียนประมวลได้ตามนี้

1) สลิ่มตรงข้ามกับความเปิดกว้าง

นศ.ชูป้าย “ม.เอกชนเป็นคนไม่ใช่สลิ่ม” : ผมคิดว่าเป็นคนที่ไม่สนใจคนที่เขาหาเช้ากินค่ำอย่างเรา หรือว่าไม่ได้เดือดร้อนแบบเราแล้วมองว่าเราล้าหลังหรือชังชาติ

เราไม่ได้ถามข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนนี้ แต่เขาบอกว่าเข้าร่วมการชุมนุมจากกรุ๊ปไลน์ เพราะอยากให้เข้าใจว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนก็สนใจปัญหาปากท้องเหมือนกัน

ผู้เขียนแซวว่าเด็กเอกชนไม่ได้รวยหรอ เขาตอบทันทีว่า “เป็นคนหาเงินเหมือนกันครับผม ทำงานหาเงินเหมือนกัน ไม่ใช่คนสบาย”

นศ.วิศวะ 1 : สำหรับผมนะ เขาไม่ยอมรับความจริงอะไรเลย ไม่คิดแม้แต่จะฟัง แม้แต่ลูกของเขาเองที่เขาเป็นคนส่งให้เรียนสูง ๆ แล้วเขาก็บอกว่าเรียนสูง ๆ ที่กลับมาดูแลที่บ้านแล้วก็คือเขากลับไม่เลือกฟังลูกที่เขาส่งไปเรียน อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เป็นสลิ่มเยอะเพราะยุคของเขาข่าวสารคนปล่อยข่าวก็สามารถควบคุมเป็นแบบในทางนี้ ๆ เท่านั้น มันเลยทำให้คนเชื่อว่ามันเป็นอย่างนี้ เพราะว่าข่าวออกมาด้านนี้ด้านเดียว ไม่ได้ตีแผ่อีกด้านว่าความจริงแล้วมันเป็นอย่างไร เขาก็เลยเชื่อว่าความจริงนี้มันเป็นอย่างนั้น บางคนอยู่กับความเชื่อนี้มาเป็น 10 ปี เขาก็เลยปักใจเชื่อแล้วว่ามันเป็นแบบนี้

นศ.วิศวะ 2 : สลิ่มสำหรับผมรู้สึกว่าเป็นกลุ่มสังคมจำพวกนึงที่ไม่ยอมเปิดใจ ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับรู้สิ่งที่โลกเขาไปเปิดกว้างมากกว่านี้ จะอยู่แค่กับกลุ่มที่ตัวเองคิดแบบเดียวกัน ฝักใฝ่ในเรื่องเดียวกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน แล้วก็จะแอนตี้คนที่เขาคิดต่าง ผมคิดว่าน่าจะเป็นการปลูกฝังแล้วก็ปลุกเร้าอารมณ์ของกันเอง แล้วเขาเหมือนจะชอบในสิ่งๆนี้มาตั้งนานแล้ว แล้วเขาอาจจะยังเปลี่ยนกันไม่ได้

นศ.วิศวะ 3 : พวกที่คิดว่าตัวเองคิดถูก ทำถูกแล้วแล้วก็ไม่ยอมรับคนอื่นเลย ก็จะสังเกตว่าจะเป็นคนรุ่นก่อน ๆ แล้ว รุ่นเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้วส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ค่ะ ยึดติดกับการเมืองเดิม ๆ

ผู้เขียนกระเซ้าว่าแล้วจริง ๆ เกลียดผู้ใหญ่หรือเปล่า เธอรีบอธิบาย  “ไม่ได้เกลียดผู้ใหญ่นะคะ มันอยู่ที่ว่าเขาคิดแบบไหนมากกว่า ถ้าเป็นเด็กแล้วคิดแบบนั้นเราก็ไม่เข้าไปยุ่งกับเขาดีกว่า”

ผู้เขียนถามต่อแล้วคนรุ่นใหม่ที่เป็นสลิ่มล่ะ “อันนี้พูดด้วยยากกว่าคนรุ่นเก่าอีกนะ เพราะเขาเป็นรุ่นใหม่แล้วเขาน่าจะเจอยุคนั้นมาแล้ว มาเจอยุคนี้เขาน่าจะเข้าใจในเจนฯ (Generation) ที่ตัวเองอยู่ระดับนึง แต่เขาเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองแล้วเลือกที่จะไม่ฟัง”

2) สลิ่มตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลง

ชนณภัทร (ได้รับอนุญาตให้เรียกชื่อนี้) : หนูมองว่าสลิ่มเป็นคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง เขากลัวว่าเปลี่ยนแปลงไปจะแย่กว่านี้

เหมวัฒน์ (ได้รับอนุญาตให้เรียกชื่อนี้) : ผมมองว่าคนที่เป็นสลิ่มเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศล้าหลัง มีคนขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็บอกว่ากลุ่มนี้ไม่ดีเป็นคนเลว ทั้ง ๆ ที่เขามาใส่ร้ายใส่สีคนที่ออกมาเรียกร้อง เขาว่าพวกเราชังชาติ แต่ผมว่าการกระทำของพวกเขานั่นแหละทำร้ายชาติ

3) สลิ่มตรงข้ามกับความเป็นธรรม

ปกป้อง:  ต้องเข้าใจก่อนว่านิยามการเป็นสลิ่มมันไม่เท่ากัน นิยามสลิ่มที่เราคิดคือคนที่ไม่มีตรรกะในการแยกแยะว่าเราจะใช้แค่เรื่องของความชอบไม่ได้ เราต้องใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสินใจ เช่น ในกรณีที่อนาคตใหม่ถูกยุบ ตะแคงดูมองดูก็รู้ว่าไม่แฟร์ไม่เป็นธรรม เราก็ต้องแสดงจุดยืนว่ามันไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเราไม่ทำตอนนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ กับใครก็ได้

4) สลิ่มตรงข้ามกับประชาธิปไตย

สาวน้อยนักปราศรัย :  เหมือนคำว่าสลิ่มมันกลายเป็นคำด่าไปแล้วเนอะ ใครมันจะอยากโดนด่า จริง ๆ แล้วมันก็อยากขึ้นมาสร้างจุดยืนมากกว่าที่ว่าเราจะไม่เอาประชาธิปไตยที่สมมติขึ้นมาเอง ส่วนสลิ่ม ก็คือความหลากสีมากกว่า ความแบ่งแยก เราคือประชาธิปไตย ทุกอย่างทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันเพื่อรวมกันให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างสวยงามมากขึ้น

พัชรพล: คนที่ไม่รับฟังคนอื่นแล้วก็ฝักใฝ่ในเผด็จการ พวกที่ออกมาพูดว่าประเทศไทยไม่พร้อมกับการมีประชาธิปไตย คนที่ยอมให้รัฐบาลทหารเข้ามาควบคุมอำนาจ คนที่ยอมให้คนกลุ่มเดียวเข้ามาปล้นอำนาจจากประชาชนไป เป็นคนไม่คิดจะยอมรับความเห็นคนอื่นและฝักใฝ่ในเผด็จการ

เลิกใช้คำว่า สลิ่ม?

กระแสรณรงค์ให้เลิกใช้คำว่า สลิ่ม เกิดขึ้นในปี 2561 เริ่มจาก ”วาด ระวี” นักประพันธ์ที่เสนอว่าคำดังกล่าวเป็นคำเหยียดหยามในทำนองเดียวกับคำว่า “ควายแดง”

บก.ลายจุดออกมาขานรับความคิดนี้ มติชนบันทึกแนวคิดของเขาว่า “คำนี้เป็นเหมือนคำด่า เช่นเดียวกับการเรียกฝ่ายประชาธิปไตยว่า ควายแดง หรือพวกเผาบ้านเผาเมือง โดยเป็นวาทกรรมที่ใช้ต่อสู้ทำลายล้างความน่าเชื่อถือสำหรับทิ่งแทงกัน”

“ตอนแรกมันไม่ได้มีความหมายเหยียดหยามกัน” รายงานข่าวบรรยาย “ต่อมาคำนี้เป็นคำดูถูก เป็นพวกเห็นแก่ตัว อนุรักษ์นิยมที่ใช้ชีวิตทุนนิยม ไม่มีหลักการ ขัดแย้งกันเอง เป็นคนมีความคิดห่วยแตก” นอกจากนี้มติชนยังระบุว่าบก.ลายจุดบอกว่าตนลดการใช้คำนี้มานานและค่อนข้างเห็นด้วยว่าไม่ควรใช้คำๆนี้หรือใช้ “ตีตราใคร ด่าใครว่าเป็นสลิ่ม”

แต่ในกลุ่มคนที่เรียกตนว่าอยู่ “ฝั่งประชาธิปไตย” ก็มีความเห็นต่างในฝั่งเดียวกันเอง

“ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์และพิธีกรเขียนบทความตอบโต้วาด ระวี และ บก.ลายจุด ว่าคำว่า สลิ่ม ไม่ใช่การแปะป้ายใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการแปะป้ายคุณสมบัติแย่ๆ อย่างการ ไม่รู้จักใช้ตรรกะเหตุผล สนับสนุนการรัฐประหาร ต่อต้านการเลือกตั้ง เชื่อบุคคล ไม่เชื่อระบบ

ใบตองแห้งเชื่อว่าหากถามว่าใครเป็นสลิ่มบ้าง ย่อมไม่มีใครยอมรับว่าตนมีคุณสมบัติเหล่านี้ การใช้คำว่าสลิ่มจึง “เพียงแต่เอาชุดความคิดพฤติกรรมแย่ๆ มารวมไว้เตือนสติ ใครคิดใครทำแบบนี้ ไม่ต้องเรียกสลิ่มเรียกควาย ก็แย่อยู่ดี แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็ไม่ใช่”

กลับมาที่ปี 2563 นักเรียนนักศึกษา ดูจะมีความคิดเห็นไปทางฝั่งหลังชัดเจน หนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ขึ้นปราศรัยระหว่างการนัดรวมตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 บอกผู้เขียนว่า “ผมคิดว่าสลิ่มอ่ะ ไม่เคยเป็นสิ่งที่นักศึกษาไม่อยากเป็นขนาดนี้มาก่อน”

ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปี 2563 เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเพียง 1 วัน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยนัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากนั้นนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเกษตรศาสตร์ก็จัดกิจกรรมขานรับในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จะประกาศนัดชุมนุมทั้งสัปดาห์ที่ตามมา

“จนถึงนาทีนี้สลิ่มมีคำนิยามภาพคอนเซปที่ชัดมากว่ามันตรงข้ามกับอะไร ชัดกว่าครั้งที่แล้ว ๆ มา” เขาบอก “นักศึกษาที่ขี้ริ้วขี้เหร่เรื่องการเมืองแค่ไหน จังหวะนี้ต้องสลัดมุมมองทางการเมืองตัวเองเพื่อพิสูจน์แล้วว่ากูไม่ใช่สลิ่ม”

ขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้อยู่ (บ่ายสามโมงของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563) #saveพลังเงียบ ทะยานขึ้นติดเทรน Top 5 ในทวิตเตอร์ สนับสนุนคำพูดของพ่อหนุ่มท่าพระจันทร์ได้เป็นอย่างดี

แฮชแท็กข้างต้นนี้เกิดขึ้นหลังมีผู้ทวีตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย (ปชต.) ว่า “เราเลือกที่จะเงียบดีกว่าออกมาดิ้นหาปชต.ของพวกคุณ เรียกร้องมันไม่ได้เรียกว่าปชต.ด้วยซ้ำ อย่าเรียกมันว่าปชต.ถ้าคุณยังดูถูกความคิดคนอื่น ระรานคนที่คิดไม่เหมือนกัน ตระหนักไว้ด้วยเถอะว่าปชต.คือการเคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ใครคิดต่างก็ด่ากราดสาปแช่ง”

ความคิดนี้ถูกตอบโต้โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ จน #saveพลังเงียบ ที่มีความหมายปฏิเสธพลังเงียบขึ้นทะยาน

“ถ้าเป็นยุคก่อนคงคิดว่าออกมาพูดแบบนี้แล้วจะมีคนสรรเสริญว่าเป็นคนมีหลักการ วางอุเบกขาได้ไม่ยุ่งกับการเมือง แต่ขอโทษ ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การที่คุณเลือกจะเงียบ ก็เท่ากับว่าคุณยอมรับ ยอมก้มหัวให้เผด็จการแล้ว มันไม่ได้ดูเท่เลย #Saveพลังเงียบ” ความคิดเห็นนี้ได้รับการรีทวีตกว่า 4,000 ครั้ง

แน่นอนว่าจากเรื่องนี้ความเงียบถูกโยงกับความเป็นสลิ่มไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการปลดปล่อยตนเองจากคำกล่าวหาว่าเป็นสลิ่ม ทางหนึ่งคือจำเป็นต้องเปิดหน้าสู้กับสิ่งที่ถูกนิยามว่า “อยุติธรรม”

“หากคุณเป็นกลางภายใต้สถานการณ์ของความอยุติธรรมคุณได้เลือกที่จะอยู่ข้างผู้กดขี่ไปแล้ว” ถ้อยคำของบิชอปเดสมอนด์ ทูทู เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพถูกรีโพสต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ไฟใต้ที่ไม่สงบ คนไม่มีที่ดินทำกิน ผู้หญิงที่ถูกผัวซ้อม เด็กที่โดนครูละเมิดทางเพศ หรือคนที่ถูกฆ่าเพราะขัดขืนนายทุน ขอให้รู้ไว้ นี่คือ ผลของการเงียบและอ่อนแอ” ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชี้ให้เห็นความเอนเอียงที่ซ่อนอยู่ภายใต้การไม่เลือกข้าง

กลับมาที่ ม.กรุงเทพฯ ตอนนั้นทีมข่าวก็ถามเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า คนเราสลัดความเป็น “สลิ่ม” ออกจากตัวได้ไหม

ในสายตาคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยก็จากที่ผู้เขียนถามในการชุมนุมที่ม.กรุงเทพฯ พวกเขาทุกคนเชื่อว่าคนเราเลิกถูกแปะป้ายว่าเป็นสลิ่มได้

“สลิ่มคือคนที่ขี้กลัว คือคนที่อ่อนแอ  หนูจะบอกให้เขาเลิกกลัว พูดสิ่งที่ตัวเองต้องการซะ” ชณภัทรกล่าว เชื่อว่าสลิ่มเองก็ต้องการปลดปล่อยโดยที่ตนเองโดยไม่รู้ตัว

สาวน้อยนักปราศรัยเห็นด้วยกันเพื่อน “ถ้าเกิดว่าเขาได้เห็นความเป็นจริงและเห็นความเป็นจริงนั้นซ้ำ ๆ อาจจะหายจากการเป็นสลิ่มได้” เธอเปิดใจว่าเธอไม่ได้เกลียดสิ่งที่ตัวเองเรียกว่าสลิ่ม แต่หนูรู้สึกว่าเขาไม่ได้เห็นความจริงอะไรบางอย่างแล้วเขายังอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของเขาอยู่แล้วเขายังไม่เปิดใจรับสิ่งที่เป็นความจริง

สาวน้อยนักปราศรัยมาจากคณะมนุษยศาสตร์ เธอเป็นคนแรก ๆ ที่ผลักดัน #เอกชนหน้ามนขอเรียนร้องสิทธิมนุษยชนด้วยคนจ้า แต่กลายเป็น #BUกูไม่ใช่สลิ่ม ที่ติดเทรนโด่งดัง

จริง ๆ แล้วอาจไม่มีใครเกลียดสลิ่มที่เป็นคนจริง ๆ

คู่ขนานไปกับความเกรี้ยวกราด #saveพลังเงียบ และกระแสเรียกร้องให้ออกมาเลือกข้าง ผู้เขียนเห็นโพสต์ปรามกันเองของกลุ่ม “คนรุ่นใหม่อยู่เนือง ๆ”

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Par Piyapa Pongthanavaranon โพสต์แสดงความคิดเห็นพร้อมเปิดการเข้าถึงสาธารณะว่าการสื่อสารแบบใหม่เป็นสิ่งจำเป็นในการผสานรอยร้าวในสังคมไทย

“ต้องยอมรับว่า คนไทยถูกสอนแบบดั้งเดิมมานาน…เค้ายังไม่เข้าใจว่ามันมีอนาคตแบบอื่นได้ที่ไม่ใช่แบบนี้ (ก็เคยเห็นมาแต่แบบนี้อ่ะ)” เธออธิบาย “แต่พอยิ่งไปเราเรียกเค้าว่า ‘สลิ่ม’ ‘โง่’ ‘ควาย’หรืออะไรเทือกนี้คนที่ฟัง เค้าก็ยิ่งไม่เปิดใจรึเปล่าอ่ะ”

เธอเสนอว่าการสร้างความเข้าใจอาจเป็นทางหนึ่งของทางออกความขัดแย้งครั้งนี้ได้

ผู้เขียนตอบไม่ได้ว่าเธอคิดถูกหรือผิดในยุคที่ประเด็นเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย (Polarisation) ยังเป็นหัวข้อดีเบทระดับโลกที่ไม่มีข้อสรุป

แต่จากการพูดคุย กลุ่ม “เด็ก ๆ” ที่ออกมาประท้วงก็ไม่ได้ปิดความเป็นไปได้นี้เสียทีเดียว

เมื่อเราถามว่าอยากบอกอะไรกับคนที่เขาเรียกว่าสลิ่ม น้องวิศวะหนุ่มบอกเราว่า “อย่างให้เปิดใจกันบ้างครับ”

ปกป้อง หนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัยในการนัดรวมตัวครั้งนี้บอกเราว่า “ตอนแรกเราตั้งใจจะจัดคอมมูนิตี้เล็ก ๆ 10-20 คน ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่มันก็เกินคาดเหมือนกันที่คนออกมาเยอะขนาดนี้ เราประเมินความรักประชาธิปไตยของเขาต่ำเกินไป” โดยเฉพาะในมหาวิททยาลัยเอกชนที่ไม่เคยมีภาพจำเรื่องการเรียกร้องสิทธิมาก่อน

ขณะที่พัชรพลสารภาพกับเราว่าการออกมาประท้วงครั้งนี้ แม้จะอยู่ภายใต้ชื่อ #BUกูไม่ใช่สลิ่ม แต่เขาไม่ได้ต้องการโจมตีสลิ่มจริง ๆ “ผมโจมตีรัฐบาล เพราะมันไม่แฟร์เลยกับการดูถูกนักศึกษา ข่มขู่นักศึกษา”

ทันทีที่พัชรพลพูดอย่างนั้น ชนณภัทรเพื่อนของเขากระเซ้าทันที “แต่ สลิ่มทำให้เกิดรัฐบาลนะแก”

พัชรพลอธิบายต่อ “ผมอยากให้เขายอมรับความคิดเห็น ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้ยากพี่กับการยอมรับ การยอมรับจะทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ เราไม่ได้อยู่ในยุค ’90 เรายุคศตวรรษ 21 เทคโนโลยี เขาส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศแล้วเขาก็ด่าลูกหลานว่าชังชาติ เราไม่ได้ชังชาติ เราแค่ชังระบอบอำนาจที่มันเผด็จการเท่านั้นเอง”

เหมวัฒน์ที่อยู่ข้าง ๆ ตอบเป็นคนสุดท้ายว่าเขาอยากบอกสลิ่มว่า “ให้ยอมรับทัศนคติที่เห็นต่าง เราไม่ได้ต้องการเหยียบใครให้จมดิน เราอยากให้เขาปรับ นั่นแหละจะทำให้ประเทศชาติพัฒนา”

แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนตื่นตระหนก คือการตีตรา “สลิ่ม” จะนำไปสู่ความรุนแรงไหม?

พ่อหนุ่มคณะวิศวะหัวเราะ “เอาตรง ๆ เลยนะครับ นักศึกษาจะมีปัญญาที่ไหนไปซื้ออาวุธครับ”

“ผมว่าเด็กสมัยนี้มีวุฒิภาวะมากพอ เราจะเห็นได้ว่าเด็กเจ็ดขวบแปดขวบ เก้าขวบเขาจะเริ่มโต มีการเข้าถึงโซเชียลมากขึ้น เขาก็จะเห็นว่าถ้าเราทำกพฤติกรรมแบบไหนออกไปแล้วโซเชียลจะตอบรับมายังไง” แต่เขาเองก็เพิ่มเติมว่าขบวนการนักศึกษาก็ต้องดูแลคนที่มีแนวโน้มจะกระทำรุนแรงด้วย

สุดท้ายก่อนจากลา เหมวัฒน์บอกผู้เขียนว่า “การมีความคิดเห็นต่างเป็นสิ่งที่ดี แต่คุณต้องไม่ไปเหยียดความคิดคนอื่น จงเกลียดจงชังโจมตีแบบหลับหูหลับตา”

เราไม่แน่ใจว่าเขาใคร อาจจะบอกสลิ่ม บอกคนรุ่นใหม่ในกระแสธารการต่อต้านสลิ่ม หรือเตือนใจตัวเองในการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ให้กลายเป็น ‘สลิ่ม’ ที่เขารังเกียจเสียเองในห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ภายหน้า

บทความโดย วศินี พบูประภาพ

ผู้สื่อข่าว Workpoint News

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า