SHARE

คัดลอกแล้ว

‘อมรัตน์’ พรรคก้าวไกล ฟาดรัฐจัดงบแบบอยู่ไปวัน ๆ ชำเเหละงบกอ.รมน.-ศาล-ตำรวจ แจงงบตำรวจ 115,000 ล้านบาท เหลืองบเกี่ยวกับการบริการประชาชนและการบังคับใช้กฎหมายเพียง 10%  ชงหั่นงบศาลรัฐธรรมนูญ 100% 

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วันที่ 2 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เห็นด้วยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่บอกว่า งบประมาณรายจ่ายปี 66 เปรียบเหมือนช้างป่วย และนอกจากช้างจะป่วยแล้วควาญช้างยังโง่เขลาเบาปัญญา พาช้างไปใกล้ขอบเหวลึกมากยิ่งขึ้นทุกที ๆ

นางอมรัตน์ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายของเราย้อนหลังไปหลายๆ ปีแทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเลย งบประมาณรายจ่ายปี 66 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาทก็เช่นกัน เพิ่มจากปีก่อน 2.74% ในแต่ละปีกว่า 400 หน่วยรับงบประมาณฯ เพิ่มขึ้นลดลงเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่แบบนี้พอให้รู้สึกว่าทำขึ้นมาใหม่ไม่ได้ก๊อบปี้ของปีเก่ามา เรียกง่าย ๆ ได้ว่าเป็นการจัดงบฯ แบบอยู่ไปวัน ๆ หากเปิดเอกสารงบประมาณจำนวน 2 ลัง แล้วพบว่าส่วนไหนมีการปรับขึ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการจัดงบประมาณที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ซ้ำยังให้ความสำคัญกับงบความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สภาความมั่นคงก็ได้รับงบประมาณเพิ่ม แต่งบเพื่อประชาชนกลับถูกปรับลดลงถ้วนหน้า

“สิ่งที่ยืนยันได้ดีว่าภัยความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วอย่างสิ้นเชิง คือ การที่ 3 เหล่าทัพประกาศรบกับลาซาด้า วันที่พี่น้องร่วมชาติรู้สึกสิ้นหวังเหมือนยืนอยู่ก้นเหวลึก เพราะกฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระถูกครอบงำ ดิฉันเชื่อว่าเราจะไม่ยืนอยู่ก้นหลุมดำของความอยุติธรรมและอำนาจป่าเถื่อนแบบนี้ตลอดไป เพราะเวลาที่มืดมิดที่สุดก็คือเวลาใกล้จะรุ่งสาง ดิฉันมั่นใจว่าตราบที่โลกยังเคลื่อนที่ไปไม่หยุดประเทศเราจะดีกว่านี้ได้” นางอมรัตน์ กล่าว

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขออภิปรายงบประมาณแห่งความหวัง เป็นงบประมาณที่จะเอื้อต่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่งบประมาณตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ อันเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมไทย เริ่มที่งบตำรวจ ต้นน้ำแห่งความหวังของการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณจำนวน 115,000 ล้านบาท แต่พบว่า กว่า 70% หรือคิดเป็นกว่า 80,000 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรหรือเรียกง่ายๆว่างบเงินเดือนประจำ และต่อไปจะมากขึ้นกว่านี้ไปถึง 90% ในอนาคต

งบตำรวจที่อุ้ยอ้ายขึ้นทุกวันเกิดจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแบกรับภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจตำรวจ ถึงเวลาที่จะต้องถ่ายโอนภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจออกไป เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาตำรวจในส่วนที่สำคัญจำเป็นกว่าและเป็นงานที่เป็นหัวใจของงานตำรวจอย่างแท้จริง เช่น งานสอบสวน เรายังขาดงบประมาณในการพัฒนาตำรวจ สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับลดหรือตัดภารกิจที่ล้าสมัยที่ไม่ใช่งานตำรวจที่แท้จริงออกไปให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยถ่ายโอนงานกองทะเบียนออกไปให้กับกรมการขนส่ง

งบ กอ.รมน.ควรตัดเพราะไม่เห็นว่ามีความสำคัญอะไรนอกจากจะทำหน้าที่เป็นไอโอ ส่วนงบของตำรวจตระเวนชายแดนก็ต้องปรับ เพราะหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อหลอกตาองค์กรระหว่างประเทศในการเลี่ยงใช้คำว่าทหารมาใช้คำว่าตำรวจ คือตัวเป็นตำรวจแต่ปฎิบัติภารกิจทหาร ซึ่งขณะนี้แนวชายแดนมีบริบทที่ต่างออกไปจากยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นยุคของการสู้รบด้วยไอที ดังนั้น จะจัดงบแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อภารกิจที่ลดลงก็จำเป็นต้องจัดงบประมาณให้เหมาะสม ตชด.ได้รับงบประมาณปี 2566 จำนวน 2,782 ล้าน มากเทียบเท่ากับงบหน่วยงานตำรวจขนาดใหญ่รวมกันถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจนครบาลได้ 1,200 ล้านบาท ตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 800 ล้านบาท และภูธรภาค 2 จำนวน 800 ล้านบาท

นางอมรัตน์ กล่าวว่า เมื่อดูงบตำรวจส่วนที่เหลือจากงบบุคลากรราว 20 % ตอนแรกหวังว่าจะเป็นงบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเป็นงบสร้างและซื้อ มีงบเพื่อการก่อสร้างอย่างน้อย 6,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างสถานีตำรวจใหม่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างแฟลตตำรวจ สุดท้ายงบประมาณด้านการบังคับใช้กฎหมายและบริการประชาชนเหลือประมาณ 10% เท่านั้น

และในส่วนงบของอัยการและศาล ตนมีความเห็นเกี่ยวกับระเบียบบางอย่างที่สร้างความลำบากให้กับผู้ต้องคดีในชั้นอัยการ คือการมารายงานตัวกับอัยการ ที่บางครั้งต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมากรุงเทพ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อมาฟังคำว่า เลื่อนส่งฟ้องจากอัยการแค่ครึ่งนาที สำนักงานอัยการสูงสุดควรแก้ระเบียบในเรื่องนี้ เพื่อทำให้การรายงานตัวเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น เช่น อาจแก้ไขระเบียบให้สามารถรายงานตัวหรือแจ้งผลการพิจารณาทางออนไลน์ได้ หากอัยการมีความกังวลว่าผู้ต้องคดีจะหนี ก็ให้รายงานตัวทางออนไลน์ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ที่สถานีตำรวจหรือสำนักงานอัยการจังหวัดที่ผู้ต้องคดีสะดวก การอำนวยความสะดวกเพียงเท่านี้ก็จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องคดีมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากสำหรับอัยการคือ เมื่อเกิดคดีความกับเยาวชน กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ได้โปรดเดินทางไปพร้อมกัน อย่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปรับตัวเยาวชนจากราชทัณฑ์มาพบอัยการที่สำนักงานและต้องพากลับไปส่งที่ราชทัณฑ์อีก  สำหรับศาล งบประมาณในส่วนของการจัดทำหลักสูตรคอนเนคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) หรือหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รวมไปถึงการให้ผู้พิพากษาไปเข้าร่วมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ขอให้เลิก เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ

“สิ่งสำคัญคืองบศาลรัฐธรรมนูญที่ควรถูกตัดออกไปทั้งก้อน 100% เพราะงานที่ออกมานอกจากจะไม่สามารถสร้างข้อยุติความขัดแย้งการตีความกฎหมายแล้ว ยังมีคำวินิจฉัยมากมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับและสร้างความขัดแย้งให้สังคม ศาลที่ไม่เข้าใจว่า ‘ปฎิรูป’ กับ ‘ปฎิเสธ’ ว่ามีความต่างกันอย่างไร ไม่เข้าใจว่า ‘ปฎิรูป’ กับ ‘ล้มล้าง’ ต่างกันอย่างไร องค์กรเช่นนี้ไม่สมควรเรียกว่าศาล นอกจากนี้ เมื่อมีหน้าที่ตัดสินคดีการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ หากวิจารณ์ไม่ได้ก็ไม่สมควรดำรงอยู่ฉุดรั้งความเจริญของประชาธิปไตยไทยอีกต่อไป” อมรัตน์ กล่าว

ในส่วนของงบเรือนจำ จากจำนวนผู้ต้องขังที่ลดลงประมาณ 50,000 คน แต่กรมราชทัณฑ์กลับยังตั้งงบประมาณปีนี้ถึง 14,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มมาเป็นค่าก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ที่จังหวัดลำปาง ส่วนการจัดงบประมาณอีกกว่า 13,000 ล้านบาท เป็นค่าบุคลากร 5,000 ล้านบาท และเป็นค่าควบคุมผู้ต้องขัง 6,000 ล้านบาท ขณะที่ 4,400 ล้านจาก 6,000 ล้าน เป็นงบค่าอาหารผู้ต้องขังเฉลี่ยแล้วตกหัวละ 15 บาทต่อมื้อซึ่งน้อยกว่างบค่าอาหารกลางวันนักเรียนเสียอีก

สุดท้ายงบประมาณในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 66 ทั้งสิ้น 9,700 ล้านบาท แต่รัฐบาลโดยสำนักงบประมาณได้เสนอจัดสรรให้เพียง 1,707 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อไปดูงบประมาณสำหรับจัดการเลือกตั้งมีการขอไป 6,900 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรมาเพียง 244 ล้านบาทเท่านั้น

“การใช้ข้ออ้างว่า กกต.เตรียมงบไว้แล้วตั้งแต่ปีก่อน ก็ไม่ใช่จำนวนที่เพียงพอจะจัดเลือกตั้ง และหากหาข้ออ้างว่าจะใช้งบกลางมาจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องถามว่ารู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2566 แน่ แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่จัดสรรงบเตรียมการเลือกตั้งให้ กกต. โดยตรงเลย หรือพลเอกประยุทธ์ตั้งใจว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือติดใจจะใช้วิธีปล้นประชาธิปไตยที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 57” อมรัตน์ กล่าวและว่า

งบประมาณสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนให้ทำหน้าที่สังเกตการณ์เลือกตั้ง ซึ่งเดิมเคยมีแต่มาหายไปภายหลังการรัฐประหาร กกต.ควรมีหน้าที่จัดหางบประมาณมาสนับสนุนให้มีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งให้ครบถูกหน่วยเลือกตั้งที่มีประมาณ 92,000 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อรับประกันความบริสุทธิ์เที่ยงธรรมของผลการนับคะแนน มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของสังคม ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่อภิปรายมา จึงไม่สามารถยกมือโหวตรับหลักการงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวาระที่ 1 ได้

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า