3 ป.ไม่แตก พล.อ.ประวิตร ชี้ปรับ ครม. เป็นอำนาจนายกฯ ขณะที่ มท.1 บอกไม่ต้องเคลียร์ปม ส.ส.โหวตคว่ำ
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (26 ก.ค. 2565) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่ตอบคำถามกรณีที่มีการพูดกับชาวสมุทรปราการ หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีชาวสมุทรปราการ เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถึง 6 คน
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร จะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย หรือ มท.1) หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ และยังไม่ได้พูดคุยกับพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมระบุว่า การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวพล.อ.ประวิตร จะสลับมานั่งเก้าอี้ มท.1 เพื่อเตรียมการเลือกตั้งว่า หากจะมีการปรับ ครม. ก็อยู่ที่นายกรัฐมนตรี ส่วนกรณี ส.ส. สมุทรปราการโหวตคว่ำตนนั้นถือเป็นสิทธิอันชอบธรรม และคงไม่ต้องไปทำความเข้าใจกับ พล.อ. ประวิตร น้อมรับและชี้แจงไปแล้วว่างบประมาณมีจำกัดต้องพิจารณาตามขั้นตอน
พล.อ. อนุพงษ์ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะปรับอย่างไร 3 ป.ไม่มีแตก ตนไม่ได้ยึดติด 3 ป.อยู่กันมาค่อนชีวิตแล้วประมาณ 50 กว่าปี ก็รู้ดี ท่านเป็นทั้งเจ้านายเก่า ทั้งพี่เลี้ยงที่สอนตนมา ไม่มีปัญหา หากนายกฯ จะปรับอย่างไรก็ปรับได้เต็มที่ ไม่แตกแน่นอน
พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า การเมืองเราก็ต้องเข้าใจการเมือง เพราะ ส.ส. ต้องการโครงการไปดูแลประชาชน น้อมรับในส่วนนี้
เมื่อถามกล่าวถึงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าที่ ส.ส. สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ โหวตคว่ำ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ต้องเคารพคนโหวต ไม่ว่าจะโหวตอย่างไร ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรม ซึ่งต้องรับฟัง และที่มีกระแสกดดันตามมาว่าจะปรับครม.โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ก็อยู่ที่นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องคุยกับ ส.ส. สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐหรือไม่
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร และที่ส.ส. สมุทรปราการระบุว่า ที่การโหวตไม่ไว้วางใจ เพราะไม่มีการดูแลงบจังหวัดให้นั้น ต้องชี้แจงว่า การดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความซับซ้อน ซึ่งงบประมาณที่ขอผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นงบของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กับเทศบาลตำบลต่อปี ในกรอบแสนกว่าล้านบาท โดยงบประมาณปี 2566 ให้ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งถูกปรับลง 2 ใน 3 และเกณฑ์การตัดงบส่วนใหญ่จะเป็นโครงการใหญ่ๆ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณ 5,000แห่ง เฉลี่ยได้ที่ละไม่ถึง 10 ล้านบาท ซึ่งปี 2566 จ.สมุทรปราการของบฯ มา 40 ล้านบาทและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 สภาผู้แทนราษฎร และปกติ จะไม่ได้ขอเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีงบประมาณมากอยู่แล้ว