Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติวาระแรกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของภาคประชาชน ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรีโซลูชั่น (Re-Solution) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ

การโหวตของวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันที่ 17 พ.ย. 2564 ถูกจับตาเหมือนทุกๆ ครั้ง โดยปัจจุบัน ส.ว. มีอยู่ทั้งหมด 248 คน มี ส.ว. ที่ออกเสียง “รับหลักการ” 3 คน  ไม่เห็นชอบ 224 คน งดออกเสียง 3 คน

workpointTODAY สัมภาษณ์ ‘3 ส.ว.’ เปิดเหตุผลที่โหวตสวนทาง พร้อมประวัติโดยสังเขปทำความรู้จักให้มากขึ้น

‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ 

ด้วยเหตุผล 2 ข้อ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน เปิดโอกาสให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ นี่เป็นวาระแรก ถ้ารับหลักการ ยังมีวาระ 2 วาระ 3 อีก เพราะฉะนั้นหลักการวาระแรก ไม่เป็นไรก็รับไว้ก่อน ถ้าหากเข้ามาโดยชอบธรรม ชอบธรรมหมายความว่า มีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน นี่มาตั้งแสนคน เราก็สนับสนุนว่า สภานี้รับเข้ามาพิจารณาได้ ประการที่สองเพื่อยืนยันการเป็นรัฐสภาของประชาชนว่า นี่เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของภาคประชาชนทุกภาคส่วน ถ้าเข้ามาถูกต้อง เป็นเวทีได้ จะได้ไม่ต้องไปแสดงความคิดเห็น ขัดแย้งกันทางการเมืองข้างนอกสภา เพื่อยืนยันในหลักการนี้จึงรับ

“เป็นเชิงรัฐศาสตร์ ไม่ใช่นิติศาสตร์ ส่วนที่เขาอภิปรายกันไม่เห็นด้วยกัน เป็นแง่ของนิติศาสตร์ ความเป็นไปได้ในทางกฎหมาย อะไรต่างๆ ที่เขาได้วิพากษ์วิจารณ์กันไปวันหนึ่งเต็มๆ เป็นหลักการทางนิติศาสตร์ ผมยืนยันในหลักการเชิงรัฐศาสตร์เท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่โดยหลักการในร่างที่เสนอมา มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย”

เรื่องสภาเดียวไม่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยในการที่จะปรับปรุงที่มาของ ส.ว. กับการใช้อำนาจของ ส.ว. ไม่ต้องเลือกนายกฯ อีกแล้ว เห็นด้วย อาจจะไปแปร เปลี่ยนในกรรมาธิการชุดต่อไปก็ได้ ก็เลยรับไว้ก่อน

มองเหตุการณ์หลังร่างแก้รัฐธรรมนูญของภาคประชาชนไม่ผ่านรัฐสภา

เป็นไปตามสถานการณ์ สังคมจะยอมรับหรือไม่ ราชการหรือรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร ทางด้านรัฐสภาก็มีมาตรการอย่างนี้แล้ว สามารถจะมายื่นทางรัฐสภาอีกก็ได้ รัฐสภามีหน้าที่อย่างนี้ เปิดเป็นเวทีให้มาแสดงที่นี่ ไม่ต้องไปแสดงที่อื่น คาดไม่ได้หรอกว่า จะเกิดวิกฤติรุนแรงต่อไปอย่างไร เพราะว่า ต้องดูความเป็นไปได้ของสังคมกับรัฐบาล

ประวัติโดยสังเขป ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ 

ปัจจุบันอายุ 82 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2536 กวีรางวัลซีไรต์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ประธานคณะกรรมการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา 

จบการศึกษา ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วัฒนธรรมศึกษา) สหวิทยาลัยทวารวดี มหาวิทยาลัยกาญจนบุรี

– ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาและวรรณคดีไทย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

– ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

– ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

– ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

‘พิศาล มาณวพัฒน์’  

เช่นเดียวกับที่ปีที่แล้วที่ได้ลงคะแนนรับหลักการให้กับร่างแก้รัฐธรรมนูญของ iLaw ผมเห็นว่าเป็นความพยายามของภาคประชาชน ที่ให้สิทธิ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นความเห็นของประชาชนกว่าแสนคน ไม่ใช่เรื่องง่าย คิดว่า ผมจะแสดงความเคารพความเห็นเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่ ผมให้ความเคารพ ความเห็นของเพื่อน ส.ว. ที่อภิปรายคัดค้านร่างแก้รัฐธรรมนูญนี้ ถ้าเราเคารพ 16 ล้านที่เห็นชอบในประชามติ สำหรับผมแล้วเราก็ต้องเคารพเสียงอีก 10 ล้านที่แสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อผมฟังอภิปรายทั้งสองข้างแล้ว ก็คือว่า มีเพื่อน ส.ว. อภิปรายด้วยเหตุผลที่น่าฟัง และเห็นด้วยในหลายๆ เหตุผล ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับร่างของผู้เสนอในอีกหลายๆ ร่าง ในอีกหลายๆ มาตรา บวกลบคูณหารแล้ว ก็คิดว่าเปิดโอกาสให้มีการรับหลักการในวาระแรก เพื่อสนับสนุนให้มีการหารือในกรอบกติกา ในระบบของรัฐสภา ดีกว่าที่จะไป เรียกร้องกันตามท้องถนน ผมคิดว่าเป็นความสวยงามของประเทศ ถ้าเผื่อเราสามารถแก้ไขความเห็นต่าง ใช้เหตุใช้ผล เอานักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ในกรรมาธิการวาระ 2 มาช่วยกันพิจารณา ถ้ายังมีความเห็นแย้ง ทางสมาชิกรัฐสภา ก็สามารถไม่โหวตในวาระ 2 และ 3 ได้ การอภิปรายทั้งวัน (16 พ.ย. 2564) เป็นการให้ความรู้ ให้การศึกษาให้กับประชาชนเป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่ดี ที่เกิดขึ้น

อยากมีส่วนจะลดความขัดแย้ง-มองประเทศ “ติดหล่ม” หลายปี

แต่เหตุผลที่สำคัญที่สนับสนุนคิดว่าประเทศมีความแตกแยกในสังคมนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการปฏิวัติ มีการประท้วงของทั้งสองฝ่าย มีการยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนของสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเลิก ซึ่งนับว่าเป็นความสูญเสีย เป็นความอับอายของประเทศชาติ เพราะฉะนั้นสำหรับผมที่เคยทำงานด้านการต่างประเทศ ถ้าเผื่อภายในบ้านเรายังมีความขัดแย้งต่อเนื่อง มาเป็นเวลา 10 กว่าปี มันก็จะบั่นทอน พลังของการต่างประเทศ ที่เราจะมีบทบาทในภูมิภาค ก็จะบั่นทอนความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ ที่เราจะดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ เงินทุน และค้าขายกับมิตรประเทศ เพราะเขามองแล้ว เขาสรุปว่าเรามีปัญหา เขาก็รอให้เราแก้ปัญหา แล้วเขาก็หันไปสนใจประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบภายใน ถึงแม้ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างเวียดนาม เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเป็นเวลา 10 กว่าปี มันเห็นได้ชัดว่า เราติดหล่มอันนี้ ผมก็อยากจะมีส่วนที่จะลดความขัดแย้งในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการลงโหวตให้ความเห็นชอบ คิดว่ามันชอบด้วยหลักการที่จะให้มีการพูดคุยกัน เพื่อจะแก้ไข ลดความขัดแย้ง เพื่อจะให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

มีหลายเรื่องที่เห็นด้วย-ยังเป็นห่วง ในเนื้อหาร่างแก้รัฐธรรมนูญของภาคประชาชน

ส.ว. ได้มีการทดลองมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีจนมี มีแบบเลือกตั้ง มีแบบแต่งตั้ง มีแบบคัดเลือกกันเองผสม จนมาถึง ส.ว. ชุดปัจจุบัน สำหรับผม ผมเปิดกว้าง เพราะว่า จะไม่มี ผมก็สุดแท้แต่การหารือ แต่ถ้ามี ผมยังยืนยันว่า จะต้องมีในลักษณะที่ไม่มีอำนาจ เพียงผู้ใช้ความรู้ความสามารถประสบการณ์มาเสนอแนะกลั่นกรองร่างกฎหมาย ผมเห็นว่าอย่างนั้น ที่ผมมีความรู้สึกคล้อยตามความเป็นห่วง ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเผด็จการในสภาผู้แทนฯ ที่จะครอบงำ องค์กรอิสระ ครอบงำสถาบันตุลาการ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ จำเป็นที่ต้องมีการพูดคุยกัน มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนที่ผมเห็นด้วยว่าควรจะเลิกไป คือเรื่องของการมีแผนยุทธศาสตร์กับปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเรื่องยุทธศาสตร์กับแผนปฏิรูปเป้นเรื่องสำคัญมาก จำเป็นจะต้องทำอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่จำเป็นต้องบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราควรจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างน้อย 7 ปี ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้ไปไหน ขณะนี้ที่ดำเนินอยู่ เป็นการปฏิรูปแบบราชการในกระดาษ สำหรับผมอยากเห็นการปฏิรูปที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ได้รับความสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ว จำเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ

“ผมอยากเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดต่างกัน ได้เข้ามาพูดคุยกันภายใต้กรอบกติกา เวลาเราประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างกฎหมายอะไรก็ตาม มีการตั้งองค์คณะกรรมาธิการ มีกติกา ระเบียบบังคับการประชุม มีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้ ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะตั้งจากภายนอก ซึ่งผมคิดว่า กรอบกติกาแบบนี้ น่าจะเอื้อประโยชน์ที่ทำให้มีการพูดคุยกันได้เป็นอย่างดี มีเนื้อหา มีการสร้างสรรค์”

ประวัติโดยสังเขป ‘พิศาล มาณวพัฒน์’  

ปัจจุบันอายุ 65 ปี

– อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 2546-2549

– อดีตอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ ผู้รับผิดชอบสารัตถะทั้งหมดของการประชุมเอเปคในปีที่ไทยเป็นประธาน APEC 2003

– Congressional Fellow รัฐสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา 1 ปี สมัยประชุม 99th Congress 2529-2530

– เอกอัครราชทูตประจำประชาคมยุโรป เบลเยียม ลักเซมเบอร์ก อินเดีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา (2550-2560)

จบการศึกษาปริญญาตรี London School of Economics and Political Science และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ ผ่านหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 4616

‘มณเฑียร บุญตัน’

ให้เกียรติและสนับสนุนกระบวนการที่ประชาชนยื่นร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาสู่สภา ซึ่งคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่ดีกว่าไปใช้วิธีการอื่นที่มันสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง เป็นการรับหลักการเพื่อเป็นการขอบคุณและให้เกียรติ กลุ่มประชาชนที่เสนอร่าง สนับสนุนกระบวนการแบบนี้มากกว่ากระบวนการที่อยู่นอกสภา

ยิ่งร่างฯ เสนอให้ยกเลิก ส.ว. ยิ่งต้องรับหลักการ

คิดว่า ยิ่งเขาเสนอยกเลิก เรายิ่งต้องรับร่าง ต้องรับหลักการ เพื่อให้คนที่เห็นต่างกับเราได้มีโอกาสแสดงความเห็นจนถึงที่สุด แม้ว่า จะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม แต่คิดว่าสังคมควรจะต้องฝึกอดทนฟังคนอื่น ฟังคนที่เห็นต่างจากเราให้มากๆ ก็ยังเห็นว่าประเทศไทยในขณะนี้ สองสภาดีกว่าสภาเดียว แต่ก็เคยคิดว่าสภาเดียวก็ดี อย่างเกาหลีใต้ นอร์เวย์ แต่เมืองไทยมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น เรามีสถาบันทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมที่มันยากที่จะมองอะไรเป็น ขาวกับดำ เพราะฉะนั้นการที่เรามีวุฒิสภา เป็นกันชน (buffer)  ก็มีส่วนดีเหมือนกัน

เพราะว่าอย่าลืมว่า ส.ว. แต่งตั้ง ก็อยู่แค่ 2 ปี จากนั้นจะมี ส.ว. ที่มาจากกลุ่มประชากรหลากหลาย 20 กลุ่มมาเลือกกันเอง จะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจาก ส.ส. จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ LGBTQ+ เกษตรกร ซึ่งถ้าให้ไปลงเลือกตั้งเขาไม่มีทางสู้ ส.ส. ที่มีการจัดตั้งโดยกลุ่มได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ส.ว. จะเป็นอีก ส่วนหนึ่ง (body)  ที่แสดงความหลากหลายของคนในสังคม ทีนี้ก็ยอมรับว่า ประชาชนเขาคงไม่อยากรอถึง 2 ปีข้างหน้าหรืออย่างไร แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เมื่อเขาเสนอมา ก็ให้เกียรติเขา อยากให้เขาได้มีโอกาสต่อสู้ทางความคิด แต่เราพูดตรงๆ โอกาสที่เขาจะผ่านมันน้อยมาก เพราะฉะนั้นการรับหลักการของผมทำได้เพียงเป็นการให้เกียรติและขอบคุณ เพราะมันไม่มีโอกาสจะผ่านเลยอยู่แล้ว

เคยรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอโดย  iLaw 

สนับสนุนขั้นรับหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยในวาระ 3 เพราะคิดว่า มีปัญหาเยอะมาก

ไม่จำเป็นที่เสียงของ ส.ว. ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่เห็นด้วย คิดว่า ส.ว. ไม่จำเป็นต้องโหวตเหมือนกัน การโหวตเมื่อวานเป็นการแสดงว่า ส.ว. ไม่ได้เป็นระบบจัดตั้งเหมือนพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น คนอื่นเชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ และไม่มีใครมาบอกให้ผมโหวตอย่างไรด้วย

ประวัติโดยสังเขป ‘มณเฑียร บุญตัน’

ปัจจุบันอายุ 56 ปี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สมาชิกวุฒิสภา สรรหาภาคอื่น พ.ศ. 2551, กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2556, นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และกรรมการมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิกในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พ.ศ. 2545

จบการศึกษา ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

– Bachelor of Arts with honors in Music/Saint Olaf College USA

– Master of Arts  in Music Theory and Composition University of Minnesota USA

ขอบคุณภาพ : ประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า