SHARE

คัดลอกแล้ว

“องครักษ์พิทักษ์-สายปากน้ำ-โควต้าปชป.” ส่องประวัติ 3 รัฐมนตรีใหม่ ป้ายแดงในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตัดสินใจ “ปรับ ครม.” ส่งท้ายปี 2565

(ธนกร วังบุญคงชนะ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 30 พ.ย. 65 / แฟ้มภาพ ทำเนียบรัฐบาล)

‘ธนกร วังบุญคงชนะ’ วัย 49 ปี ปัจจุบันเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเลื่อนขึ้นมาแทน น.ส.วทันยา โอภาสี ที่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในเดือนสิงหาคมปีนี้  และย้ายจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ นายธนกร เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของประชาชนและสื่อมวลชน จากการทำหน้าที่ตำแหน่ง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ โฆษกรัฐบาล โดยได้รับแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทำหน้าที่นี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้ง นายอนุชา บูรพชัยศรี ไปทำหน้าที่ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

แต่เมื่อ นายธนกร ลาออกจากตำแหน่งโฆษกรัฐบาล เพื่อไปเป็น ส.ส. ซึ่งเจ้าตัวก็ได้นำพวงมาลัยเข้ากราบลา พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565  พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ให้ นายอนุชา กลับมาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลเช่นเดิมอีกตำแหน่ง

(ภาพจาก FB : ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ)

นายธนกร เป็นชาว อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

ปี 2550 เคยลงสมัคร ส.ก. ในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในปี 2554 นายธนกร มาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 38 ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาปี 2561 ได้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับ กลุ่มสามมิตร (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย) โดย นายธนกร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

ในตลอดการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลของนายธนกร มักตอบโต้ประเด็นทางการเมือง อย่างดุเดือด อาทิ การโพสต์โต้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่โพสต์เฟซบุ๊กประกาศ จะทวงคืนศักดิ์ศรีการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2564   ตอบนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่ถึงเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค เนื่องจากจำเป็นต้องยุบสภา โดยนายธนกร ระบุในการแถลงครั้งนั้นว่า “…ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องยุบสภาฯเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับประชาชน มีแต่จะเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งใหม่ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของพรรคการเมืองบางพรรค คนบางกลุ่มที่แอบหวังจะมีโอกาสได้เข้ามาบริหารประเทศบ้าง”

นอกจากภาพในสมัยเป็นโฆษกรัฐบาลที่มักเห็นนายธนกรเดินตามหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ อยู่เสมอแล้ว นายธนกรยังแสดงออก และยืนยันหลายครั้งว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ โดยจากกระแสข่าวล่าสุด ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย คือการจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ของพล.อ.ประยุทธ์ นายธนกรก็ได้โพสต์ภาพตนเองกับพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ไม่ต้องถามนะครับว่าอยู่กับใคร เพราะจริงๆ แล้วผมไม่เคยไปไหนเลย”

(สุนทร ปานแสงทอง ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 30 พ.ย. 65)

‘สุนทร ปานแสงทอง’ รัฐมนตรีหน้าใหม่ทางการเมืองระดับประเทศ ที่มาทำหน้าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในตำแหน่งเดิมของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย มีประสบการณ์ในการทำงานท้องถิ่น เนื่องจากเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นตัวแทนมาจาก ‘สายปากน้ำ’ หรือกลุ่ม ส.ส. สมุทรปราการ ในพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า นำโดย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565  ส.ส. 6 คน ในกลุ่มปากน้ำ ได้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทำให้เกิดปมขัดแย้ง เป็นภาพรอยร้าวที่เห็นชัดขึ้นของ “3 ป.” โดย วันที่ 25 ก.ค. 2565 ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการแก้ปัญหาน้ำแล้งและป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบางปะกง จ.สมุทรปราการ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนในกลุ่มปากน้ำ ก็มาต้อนรับพรึบ โดยมีภาพของนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.เขต 5 สมุทรปราการ ก้มกราบเท้า พล.อ.ประวิตร ซึ่งได้มีการรายงานข่าวว่า มีการปิดห้องเคลียร์ใจกัน พร้อมทั้งมีการรับปากคำว่า ในการปรับครม. จะมีคนของกลุ่มปากน้ำได้เป็นรัฐมนตรี

(นริศ ขำนุรักษ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 30 พ.ย. 65)

‘นริศ ขำนุรักษ์’ ส.ส. 5 สมัย จ.พัทลุง ได้รับการเลือกจากที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แทน นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ลาออกไปสู้คดีประมูลรถซ่อมบำรุงทางของอบจ.สงขลา ในสมัยนั่งเป็น นายกอบจ.

สำหรับ นายนริศ ปัจจุบัน อายุ 62 ปี จบปริญญาตรี สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และระดับปริญญาเอก Doctor of Public Administration (DPA) จาก Southwestern University ประเทศฟิลิปปินส์ เคยรับราชการในกรมป่าไม้ ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง ลงสมัคร ส.ส. สมัยแรก ในปี 2535 ในนามพรรคความหวังใหม่ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงกลับเข้ารับราชการต่อ จากนั้นในปี 2544 ได้เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส. พัทลุง อีกครั้ง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก จากนั้น ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีก 4 ครั้ง คือในการเลือกตั้งปี 2548, 2550, 2554 และ 2562

สำหรับรัฐมนตรีใหม่ ทั้ง 3 คนนี้ มีกำหนดการจะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 65) เวลา 17.30 น.

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า