สภาฯ ถกญัตติด่วนจาก 5 พรรคการเมือง แก้ปัญหา ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ ได้ข้อสรุป เสนอรัฐบาลทบทวนโครงการนิคมฯ จะนะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วน จำนวน 5 ญัตติ ของ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาชาติ, พรรคก้าวไกล, พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้สภาฯ ตั้ง กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 และให้ตรวจสอบโครงการจะนะ เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยมีข้อเสนอให้รื้อกระบวนการจัดสร้างนิคมฯ จะนะ ใหม่ เพื่อให้เกิดการรับฟังประชาชนอย่างรอบด้าน
ช่วงหนึ่งของการอภิปรายเสนอญัตติ ผู้เสนอญัตติเห็นตรงกันว่า การใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและไม่เคารพต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ เพราะพบการกระทำที่รุนแรง ใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และพบการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
ขณะที่การเดินหน้าโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น พบว่า มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนที่เตรียมจัดเวทีพิจารณ์ในพื้นที่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ ถือเป็นความไม่ชอบมาพากลและเป็นการจัดเวทีที่เชื่อว่าไม่รอบด้าน มีการจัดตั้งประชาชนเข้าร่วมดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ยุติ และทบทวน พร้อมกับศึกษาโครงการให้รอบด้านอีกครั้ง
หลังจากที่ผู้อภิปรายได้อภิปรายครบถ้วนแล้ว นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวปิดท้ายว่า เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบและหาตัวผู้สั่งการสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หากพบผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหรือการกระทำเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ขอให้ลงโทษทางอาญาและดำเนินการลงโทษทางวินัย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปพร้อมกับทบทวนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
“ในการปฏิบัติของกองร้อยน้ำหวานในคืนดังกล่าวนั้น การเข้าไปสลายผู้ชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งมีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้ที่มีอายุค่อนข้างที่จะสูง เขาเพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด ยังไม่ได้เคยได้นอนพักข้างแรมที่หน้าที่ชุมนุมเลยนะครับ ข้อเรียกร้องที่ชาวจะนะ โดยมีน้องไครียะห์ มาสัปดาห์หนึ่งไม่ได้รับการตอบสนอง ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จนพวกเขาต้องมาช่วย เรียกร้องให้ส่งสัญญาณที่ดังขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลหันมามองน้องไครียะห์ที่มาเรียกร้องฟังเสียงที่มาเฉพาะกลางวันกลางคืนกลับไปพักแต่ไม่ได้เป็นผลจึงจำเป็นที่เขาจะต้องเดินทางขึ้นมา”
“เราจะเห็นการชุมนุมของผู้ชุมนุมในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร ทั่วทุกภาคส่วนทั่วทุกภาคของประเทศที่มาชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐหรือได้รับความทุกข์ร้อนจากสถานการณ์ของวิกฤติของภูมิอากาศหรือความเสียหายใดๆ ก็แล้วแต่เราจะยังไม่เคยการจัดการ กระบวนการจัดการอย่างเช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกับพี่น้องจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเลย”
บางคณะอยู่เป็นเดือนหรือครึ่งปีเราก็เคยเห็น แต่ไม่เคยถูกดำเนินการอย่างนี้มาก่อนเลย นี่คือสิ่งที่กำลังจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ทำให้เราได้คิดได้ว่า เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติไหม เพราะเขาเป็นคนมลายูหรือเปล่า เราถึงไม่ได้สนใจเขา เราคิดว่าเขาไม่ใช่คนในภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทยเรา แม้ว่าท้ายสุดทุกคนจะได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักประกันแต่ทุกคนก็ต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกดำเนินคดี ถูกพิมพ์ลายมือ ประวัติเป็นบุคคลที่เป็นผู้ต้องหานี่คือความเจ็บปวดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น”
หลังจบการอภิปราย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวได้ว่า ในการเสนอญัตติดังกล่าวไม่มีผู้ที่คัดค้าน ดังนั้นจะขอใช้ข้อบังคับเพื่อส่งญัตติดังกล่าวให้รัฐบาลรับไปพิจารณา และได้ปิดประชุม ในเวลา 20.17 น.