ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ชี้ รัฐบาล “ตระบัดสัตย์” พลิกลิ้น มีมติ ครม. เมื่อ 21 มิ.ย. 2565 กลับมติ ครม. 14 ธ.ค. 2564 สั่งเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่รอ SEA เชื่อจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชน
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ให้เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แม้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้เคลื่อนไหวจนมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ระบุให้หน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการในโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 (นิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ไว้ก่อน โดยให้รอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA.) ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการใดๆ ต่อไป ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักที่จัดให้มีการศึกษา SEA. โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. 21 มิ.ย. 2565 ได้ระบุว่า ครม. เห็นชอบให้เพิ่มศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำงานร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ) เพื่อดำเนินการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และโครงการใดที่ต้องชะลอจากมติ ครม. 14 ธันวาคม 2564 ก็ให้ดำเนินการต่อไปได้พร้อมไปกับการศึกษา SEA. ทั้งนี้ให้นำ ‘การทำประชามติ’ มาเป็นแนวทางหลักเพื่อการตัดสินใจต่อไป
นายสมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เห็นว่า การมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 นั้น เป็นการสวนทางกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 โดยสิ้นเชิง เป็นการด้อยคุณค่ากระบวนการศึกษา SEA. และเป็นการไม่ยอมรับข้อเท็จจริงถึงความผิดพลาดในการผลักดันโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นของรัฐบาลเอง
ต่อมา 1 ก.ค. 2565 น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนบางกลุ่มต่อเรื่องแนวทางการพัฒนา อ.จะนะ จ.สงขลา ข้อเท็จจริงคือ มติ ครม. เมื่อ 14 ธ.ค. 2564 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) สอดรับที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบฯ ดังกล่าว ขณะนี้ การกำหนดขอบเขตในการรับฟังความคิดเห็นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจัดจ้างสถาบันการศึกษาเพื่อจัดทำ SEA ต่อไปโดยเร็ว ซึ่งจะไม่มีการดำเนินโครงการใดๆ ก่อนจะได้รับทราบผลการประเมินอย่างแน่นอน
ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมองว่าการแถลงเช่นนี้โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการ ‘เล่นแร่ แปรทาส’ และได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนจากมติ ครม. วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ดังนี้
มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ไม่มี ศอ.บต. มาทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ฯ เพราะที่ผ่านมา ศอ.บต. เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด และไร้ความชอบธรรมที่จะเข้ามาร่วมในกระบวรการทำ SEA
โครงการที่ต้องชะลอตามเจตนาของมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ได้เสนอไปคือ โครงการการเปลี่ยนสีผังเมือง และโครงการจัดทำ EIA. 4 ฉบับของบริษัท TPIPP. และรวมถึงโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น จะต้องรอผลการทำ SEA. ก่อน แต่มติ ครม. วันที่ 21 มิ.ย. 2565 กลับเปิดช่อง เพื่อให้กลุ่มทุนสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้
‘การทำประชามติ’ ตามมติ ครม. 21 มิ.ย. 2565 มาจากไหน ใครเสนอ แล้วทำไมต้องเป็นแนวทางหลัก ถามว่ารัฐบาลเข้าใจหลักการทำ SEA. หรือไม่ เพราะเครื่องมือนี้จะทำหน้าที่ตัดสินใจว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะควรไปต่อหรือไม่ โดยการใช้หลักวิชาการมาทำหน้าที่ ซึ่งมีกลไกรัฐ คือสภาพัฒน์ฯ เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับเรื่องนี้ด้วยแล้ว
“รัฐบาลไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งรวมถึงความผิดพลาดของ ศอ.บต. ที่ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. อย่างเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่ประสานงานกับสภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่ ครม. มอบหมายไว้ อันถือเป็นการดำเนินงานโดยภาระการ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ศอ.บต. ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จนทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความไม่เข้าใจและกลายเป็นความแตกแยกภายในที่ร้าวลึกมากขึ้น” สมบูรณ์กล่าว
นอกจากนั้นที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยังยืนยันว่า ข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 คือทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายถอยหลังแล้วมาใช้กระบวนการทางวิชาการ ด้วยการจัดทำ SEA. ภายใต้การกำกับของสภาพัฒน์ฯ ที่ต้องไม่นำคู่ขัดแย้ง (ศอ.บต.) มาเป็นฝ่ายดำเนินการ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญ และต้องทำให้กลไกการศึกษานี้ดำเนินไปอย่างถูกต้องชอบธรรม เป็นอิสระ ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์อื่นใด
“การตระบัดสัตย์ด้วยการกลับลำมติ ครม. 21 มิ.ย. 2565 ของรัฐบาล คือความไม่เข้าใจสถานการณ์ปัญหา หากแต่คำนึงถึงประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นที่ตั้ง ยิ่งสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสิ่งนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งอีกหยดที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเท่านั้น” ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นย้ำ