SHARE

คัดลอกแล้ว

ป.ป.ช. ตั้งโต๊ะแถลงเสนอแนะรัฐบาล ข้อ 8 โครงการแจกเงินหมื่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ใช้งบปกติ-ลดเสี่ยงขัดกฎหมาย

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาธิการ ป.ป.ช.) นำแถลงข้อเสนอแนะเรื่องป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) โดยสรุปดังนี้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เนื่องจากมีข่าวจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบาย และมีผู้ร้องเข้ามาให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ซึ่งป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในมาตรา 32 ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่จะใช้เงินงบประมาณค่อนข้างสูง และอาจจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ที่อาจสร้างภาวะการเงินการคลังในระยะยาวได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากเอกสารๆ รวมทั้ง ความฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายฯ จากส่วนราชการ หน่วยงานอื่น ตลอดจนนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา 4 ประเด็นหลัก คือ

1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ การทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการผิดไปจากกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับเงินจากโครงการ

2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กรณีการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ ที่อาจจะยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อาจเป็นทางเลือก ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเงินการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ย และสัดส่วนของหนี้สาธารณะ ได้มากกว่า

3. ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย การดำเนินโครงการภายใต้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลควรตระหนักและใช้ความระมัดระวัง อย่างเคร่งครัดและรอบคอบ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ที่ได้ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2551 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 67 พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรืออาจเกิดความเสียหายต่อ ผลประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะ จำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ควรเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 และ พรรคเพื่อไทย ได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วยมิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้

3. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้ เป็นระยะเวลา 4 – 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 53 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7. ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณการเงินการคลัง รวมถึงตัวบงชี้ภาวะวิกฤติที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูล จากงานศึกษาของธนาคารโลก และ ไอเอ็มเอฟ (IMF) มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษา อัตราความเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤติ ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบางที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปฯ เป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

นายนิวัติไชย กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ ประธาน คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบ การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต)

ทั้งนี้ นายนิวัติไชย ยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในหลายประเด็นว่า ในขณะนี้ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการฯ จะเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายหรือเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตได้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดที่รัฐบาลจะดำเนินการ

ส่วนข้อเสนอแนะทั้ง 8 ข้อ ในวันนี้ เป็นความเห็นเชิงทางวิชาการ ที่เกิดจากการศึกษาจากรายงาน 61 หน้าจากคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณีโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ที่ได้จัดทำขึ้น และข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ ตลอดจน ข้อมูลจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ในช่วงท้ายๆ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อกังวลอะไรหรือไม่จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายนิวัติไชย ตอบสั้นๆ ว่า “ผมกังวลว่าผมจะเป็นลูกหนี้ร่วม”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า