นายกฯ สั่งเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ วิกฤตพลังงานยืดเยื้อ ขณะที่ ครม. เคาะมาตรการเร่งด่วนช่วยลดค่าครองชีพ ผู้มีรายได้น้อย ขอความร่วมมือ ประชาชน-เอกชน-หน่วยงานราชการ ประหยัดพลังงาน
หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐนตรี (ครม.) วันนี้ (21 มิ.ย. 65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงว่า จากวิกฤตพลังงาน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อในขณะนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในยุโรป คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วง สะสมในหลายมิติ อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กว่า 100 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้บางประเทศงดส่งออก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานนั้นขาดแคลน ประกอบกับเงินเฟ้อสูงทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปสูงกว่าร้อยละ 8 ในรอบหลายสิบปี ทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง และเสี่ยงที่จะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ชะงักลงในปัจจุบัน
รัฐบาลได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง มีความกังวลใจไม่น้อยไปกว่าทุกคน ได้สั่งการให้มีการประชุมหารือกันตลอดเวลา เพื่อศึกษา และเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ ที่จะสามารถดำเนินการได้ ที่จะแก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อน
วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบ ประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่ และการขยายมาตรการเดิม ที่จะสิ้นสุดในเดือน มิถุนายนนี้ ดังต่อไปนี้
1. ขยายเวลาส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) ร้านค้า-หาบเร่-แผงลอย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อเดือน ในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 65
2. กำหนดกรอบราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ 1 ก.ค. – ก.ย. 65 โดยจะทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาท/ถัง
3. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน NGV ในโครงการลมหายใจเดียวกันที่ช่วยผู้ประกอบการ ขับรถแท็กซี่ ในกทม. และปริมณฑล อยู่ที่ราคา 13.62 บาท/กก.
ตั้งแต่ 16 มิ.ย. – 15 ก.ย. 65
4. อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ถึง ก.ย. 65
5. คงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
6. ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ ส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระ ราคาน้ำมันให้กับประชาชน ทั้งดีเซล และเบนซิน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. 65
7. ขอความร่วมมือประหยัดพลังงาน ขอความร่วมมือช่วยประหยัดพลังงาน ภาครัฐ เอกชน ทุกหน่วยงานออกนโยบายให้เหมาะสมตามศักยภาพ เช่น ภาครัฐ ให้ลดใช้พลังงานร้อยละ 20 โดยเป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ย้ำสถานการณ์เรื่องนี้คงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ ตนจะให้มีการประชุมร่วมกันหารือเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ ตามสมมุติฐานไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะพอกพูน และจะมีปัญหาเรื่องการงบประมาณ จึงต้องวางแผนระยะยาว
“รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาทางช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการ บนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลัง ที่มีความสมดุล ที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดภาระ ในอนาคตจนมากเกินไป อันนี้ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยนะครับ หลายอย่างเราก็ลดภาษี ลดอะไรลงไป รายได้เราก็ลดลงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่า และประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” นายกฯ กล่าว
ภาพจาก : ทำเนียบรัฐบาล