‘วราวุธ’ พรรคชาติไทยพัฒนา หนุน ‘สมรสเท่าเทียม’ ชี้ แก้ ปพพ. 1448 เร็วกว่าที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา มีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1448) ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเสนอ เนื่องจากเห็นว่าเจตนารมณ์มีความคล้ายคลึงกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการอยู่
วันที่ 1 เม.ย. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับ ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก TOP Varawut โดยระบุว่า
“สำหรับประเด็น #สมรสเท่าเทียม ผมเห็นว่า ทั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลและของฝ่ายค้าน ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วมากมายหลายฉบับ การเพิ่มกฎหมายมาอีก 1 ฉบับ เช่น พรบ.คู่ชีวิต เพื่อมารองรับสิทธิการสมรส จึงอาจเป็นภาระทางงบประมาณ และทำให้สิทธิที่พี่น้องประชาชนควรได้รับนั้นล่าช้าออกไป
ในนามของพรรคชาติไทยพัฒนา ผมเห็นว่า การผลักดัน #สมรสเท่าเทียม ผ่านการแก้ไข ปพพ.1448 เพียงแก้ไขคำว่า “ระหว่าง ชาย-หญิง” เป็น “ระหว่างบุคคล 2 คน” ในกฎหมายว่าด้วยสิทธิการสมรส จะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องคนไทยได้มากกว่า และทำได้รวดเร็วกว่าการตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้ครับ”
ด้าน นาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขอแสดงความผิดหวังต่อมติของรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะรัฐบาลคงปักธงไว้แล้วไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ยอมรับความรักความสัมพันธ์ของคู่รักเพศหลากหลาย แต่ตั้งข้อสังเกตว่า จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกทำไม เพราะร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านกระบวนการศึกษา ทบทวนหลักกฎหมาย และยกร่างมาแล้วหลายรอบนับตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลเพียงแค่ภายเรือวนอยู่ในอ่างยื้อเวลาให้ผ่านไปวัน ๆ ขนาดมีคู่รักเพศหลากหลายได้รับการกระทบกระเทือนสิทธิ มีคู่รักที่เสียชีวิตเพราะเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลไม่ได้เสียชีวิตไป รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เคยใยดี
ซ้ำร้ายเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยต้องไปรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า จะรับข้อเสนอเพิ่มเติมทั้งหมดจากกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แต่ก็ได้สร้างความผิดหวังครั้งใหญ่ ต่อหน้าประชาคมโลก ด้วยการปฏิเสธข้อเสนอแนะทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่ง 3 ใน 4 ข้อนั้นเป็นข้อเสนอสำหรับการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันในไทย โดยรัฐบาลอ้างว่าสมรสเท่าเทียมนี้ “ยังไม่สามารถทำได้” ในช่วง UPR รอบนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2026 ส่งผลให้เลขาธิการของสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน ( International Federation for Human Rights หรือ FIDH) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมชั้นนำของประเทศ แสดงความผิดหวังที่รัฐบาลไทยละทิ้งโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับการสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศผ่านแคมเปญโปรโมทการท่องเที่ยว Go Thai Be Free
ประเทศไทยกำลังขาดทุนจากการที่ไม่ให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ทั่วโลกต่างรับรู้นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อปลายปี 2564 ว่าการสมรสและการเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสเป็นสิทธิของมหาชนคนตรงเพศ แถมยังเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันกับสัตว์โลก ปัจจุบันมี 31 ประเทศที่รับรองให้ประชาชนทุกเพศสมรสกันได้อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และอีกหลายสิบประเทศที่ให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบอื่น ดังเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาจดทะเบียนไปแล้วมากกว่า 293,000 คู่ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในธรุกิจการแต่งงานกว่า 3,766,800,000 เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลกลางสร้างรายได้ในระบบภาษีได้กว่า 244,100,000 เหรียญสหรัฐในตลอดระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ศาลสูงของสหรัฐได้มีคำวินิจฉัยให้การสมรสได้แต่เฉพาะคู่รักต่างเพศนั้นเป็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่ในฐานะ Duty Bearer หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนผู้ทรงสิทธิตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรักษาไว้ซึ่งความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายด้วยการยุติการพิจารณา พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยต้องผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเร่งด่วน” นาดา กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ : สมรสเท่าเทียม