SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ไอลอว์’ เผยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เหตุงบประมาณ-บุคลากร ยังไม่พร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ iLAW ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผ่าน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) เรื่อง ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนาม 

ประเด็นสำคัญของหนังสือฉบับนี้ คือ ขอเสนอความเห็นให้ “ขยายเวลา” การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ บางส่วน เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน เท่ากับว่าเฉพาะหมวดนี้เท่านั้นที่จะถูกขยายเวลาออกไป ส่วนหมวดอื่นๆ ยังมีผลบังคับใช้ตามวันที่กำหนดไว้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังยกตัวอย่างการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายขึ้นมาเป็นแนวทางด้วย คือกรณีของพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแก้ไข พ.ร.บ. และกำหนดแก้ไขวันบังคับใช้กฎหมาย เปิดช่องให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายได้

โดยบทบัญญัติในหมวด 3 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยากขอขยายเวลาบังคับใช้ออกไปนั้น สาระสำคัญคือ กำหนดกลไกการป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีที่มีการอ้างว่าบุคคลถูกกระทำทรมาน 

พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายหรือญาติสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำนั้นได้ และหากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการอุ้มหาย ก็สามารถไปแจ้งพนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้

โดยเหตุผลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกขึ้นมา เพื่อขอเสนอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น มีสามข้อหลักๆ ด้วยกัน

1.ด้านงบประมาณ กล้องสำหรับรองรับการปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ยังไม่เพียงพอ โดยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่จะต้องจัดซื้ออีก 1.7 แสนตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับอีก 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 3,473, ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567

2. ด้านการเตรียมความพร้อมบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เนื่องจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันพัฒนาก้าวล้ำไปมาก ผลิตภัณฑ์มีหลายยี่ห้อ วิธีใช้งานแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง

3. ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมยึดถือปฏิบัติ

ข้อเสนอขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเป็นเพียง “ข้อเสนอ” เท่านั้น ยังไม่มีผลให้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปในทันที แต่ต้องมีการตัดสินใจจากฝ่ายบริหาร และมีการตรากฎหมาย เช่น พระราชกำหนด เพื่อมาแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ มาตรา 2 ที่กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ของกฎหมายด้วย

ซึ่งผลสุดท้าย พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 จะถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรหลายเดือนแล้ว และกฎหมายฉบับนี้เมื่อผ่านสภาฯ ไปก็ยังไม่ได้บังคับใช้ทันที เนื่องจากต้องรอประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้เพื่อให้หน่วยงานราชการได้เตรียมตัว แต่ข้อกังวลหลักของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ที่เกรงว่าจะดำเนินการไม่ได้ คือกระบวนการควบคุมตัวผู้ต้องหา ที่บังคับให้ติดกล้องบันทึกภาพไว้ เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหลายๆ ประเทศ หากกลับมาดูที่ประเทศของเราที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการซ้อมทรมาน หรือเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของสากล

“เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเจตนารมณ์ที่ดี ซึ่งเราได้ให้เวลากับ สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเพียงพอแต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ ผบ.ตร. กลับบอกว่า ถ้าจะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องมีการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพและเสียงจำนวนมาก แล้วต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐนับ2 แสนนาย บอกว่าระยะเวลาเท่านี้ไม่เพียงพอ จึงต้องการให้มีการชะลอออกไปก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าการเลื่อนครั้งนี้ ผบ.ตร.คงหมายถึงให้ใช้พระราชกฤษฎีกา ในการเลื่อนบังคับใช้ตัวพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไป ซึ่งในความเห็นผมไม่สามารถทำได้” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อนุกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทน สตช. โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาชี้แจง และได้ย้ำว่า สตช. มีความพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ความไม่พร้อมของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำตามกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ตอบชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติตามได้ หากมีข้อขัดข้องใดก็ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพแก้ปัญหาไปก่อน หรือหากจำเป็นต้องซื้อกล้องจริงก็สามารถเบิกงบกลางมาใช้ก่อนได้

“ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ อย่าใช้วิชามาร ออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนกฎหมายฉบับนี้ออกไป ซึ่งประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก การกระทำเช่นนี้จึงถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเปรียบเหมือนไร้กระดูกสันหลังต่อสายตาต่างประเทศ ที่ออกกฎหมายที่ดีมาแต่ไม่บังคับใช้ เท่าที่ตนได้สำรวจใน สน.หลายแห่ง ก็เริ่มมีความพร้อมสำหรับการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว แต่คนแรกที่บอกว่าไม่พร้อมก็คือ ผบ.ตร. เอง ตนเห็นว่าถ้าไม่พร้อมก็ควรออกไป เพราะมีคนอื่นที่พร้อมกว่า” นายรังสิมันต์ กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า