ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ประเด็นที่ สว.ยื่นให้วินิจฉัย
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมกรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2)
สำหรับประเด็นยื่นตีความ อาทิ กรณีที่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง แก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก โดยลดค่าบำรุงพรรครายปีจาก 200 บาท เป็น 20 บาท และแบบตลอดชีพจาก 2,000 บาท เป็น 200 บาท อาจเปิดโอกาสที่มีผู้ออกเงินแทนและทำให้เกิดการครอบงำได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง
กรณีลดคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้แก้ไขให้บุคคลที่มีมลทินสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ จากเดิมห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ถือว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันผู้ที่มีมลทินเข้าสู่การเมือง