SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ปานปรีย์’ เผย ทหารเมียนมา ยังไม่มีการประสานขอเข้าไทย พร้อมย้ำแผนดำเนินการด้วยหลักมนุษยธรรม ต้องปลดอาวุธ-ละทิ้งสถานะก่อน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วันนี้ (12 เม.ย. 67) ว่า ทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์ที่มีความไม่สงบในเมียนมา เมื่อวานได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดูแลการบริหารสถานการณ์ที่ไม่สงบในเมียนมาโดยตรง มีตนเป็นประธาน มีคณะทำงานจากหน่วยงาน และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

นายปานปรีย์ ระบุว่า วันนี้ตนได้เดินทางมาดูพื้นที่คาดว่าจะมีเรื่องความไม่สงบชายแดนของไทย ซึ่งมีการประชุมในช่วงเช้ามีการคุยหลายประเด็น หลายเรื่องตนคิดว่ามีความซับซ้อนในส่วนของเมียนมาอยู่มาก เมียนมาเราต้องยอมรับว่าประเทศเพื่อนบ้านเรา และยังมีการเดินทางของประชาชนทั้งของคนไทยกับชาวเมียนมาไปมาหาสู่กันแทบทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีการค้าขายระหว่างกัน โดยเฉพาะที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ 2 จุด คือ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ที่ประชาชน 2 ประเทศใช้เดินทาง จะมีด่านตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากร และสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เป็นส่วนส่งสินค้าปริมาณมาก ตนได้ไปดูทั้ง 2 จุด และยังได้ไปดูด่านธรรมชาติ ที่เรียกว่าด่านศาลเจ้าที่ 14 ด้วย วันนี้ตามที่ได้รับรายงานยังไม่มีสถานการณ์ใดๆ การเดินทางและการขนส่งยังเป็นไปตามปกติ

นายปานปรีย์ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหากมีสถานการณ์รุนแรงขึ้นโดยสรุปว่า มีการเตรียมความพร้อม 4 ประเด็น คือ 1. กรณีคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยบริเวณติดชายแดน ซึ่งอาจจะได้ผลกระทบ ได้มีการเตรียมพร้อมจัดสถานที่ไว้แล้ว 2. กรณีบุคคลสัญชาติเมียนมาที่จะเข้ามาในประเทศไทย มีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว เพราะใน จ.ตาก มี 13 จุด ที่สามารถจะมาพักพิงได้ 3. กรณีทหารเมียนมา ตอนนี้ยังเป็นข่าวอยู่ รับทราบว่ามีจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณสะพานฯ แห่งที่ 2 ตรงนี้ยังไม่ปรากฏว่า จะมีความประสงค์ข้ามมายังฝั่งไทยหรือไม่

“อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร ประเทศไทยเนี่ยเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมานะครับ แล้วก็เราก็พร้อมที่จะดูแลในเรื่องของมนุษยธรรม เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น” รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ระบุ

4. กรณีคนจีนที่จะข้ามมาแล้วเราอาจจะเป็นห่วงในเรื่องของความไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นบุคคลที่ไปดำเนินการอะไรที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ของเมียนมาตรงนี้ก็จะมีระบบการคัดกรองชัดเจนอยู่แล้ว ทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราได้พูดคุยกันและได้มีการเตรียมความพร้อมครบถ้วน

นายปานปรีย์ กล่าวต่อถึงการบริหารจัดการว่า ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ขึ้นมา จะมีศูนย์สั่งการชายแดน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นประธานของศูนย์ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหารเข้ามาดูแล ตลอดแนวชายแดนจะเห็นทหารเต็มไปหมด เวลานี้เราก็เฝ้าระวังไม่ให้มีการรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทย

ผู้สื่อข่าวซักถามถึงประเด็นทหารเมียนมามีการร้องขอจะเข้ามาฝั่งไทยหรือยัง และถ้าประสานมาทางการไทยจะดำเนินการอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า ยังไม่มีการร้องขอ และว่า หลักการปฏิบัติกรณีที่ทหารขอข้ามแดนมาเนื่องจากภยันตราย ก็จะมีขั้นตอนซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว ต้องปลดอาวุธ แต่งตัวเป็นพลเรือน เราถึงจะอนุญาตให้ข้ามมาในฐานะมนุษยธรรม

“อันนี้ยังไม่มีการร้องขอ แต่ในกรณีที่เขาจะต้องข้ามมาจริง แล้วเราจะต้องดูแลเขาโดยหลักมนุษยธรรมเนี่ย เราก็คงจะต้องไม่ส่งเขากลับไปในที่ที่เป็นอันตราย” นายปานปรีย์ ระบุ

เมื่อถามว่า จำนวนทหารเมียนมาดังกล่าวข้างต้นมีมากน้อยเพียงใด นายปานปรีย์ ระบุว่า ที่ตนอ่านตามข่าวเห็นว่ามีประมาณ 200 นาย แต่จากที่ไปส่องดู ดูเหมือนจะไม่ถึง ดูเหมือนจะมีจำนวนน้อยมาก และดูเหมือนกับว่าเขาก็อยู่กันปกติ คือวันนี้ถ้าคิดดูว่ากองกำลังที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเขาจะเข้ายึดพื้นที่ก็น่าจะยึดพื้นที่ตรงนั้นแล้ว ตนคิดว่าน่าจะมีการเจรจาเพื่อที่จะผ่อนปรนหรือยุติปัญหาตรงนี้ไปให้เร็วที่สุด

นายปานปรีย์ ย้ำว่า เราไม่มีนโยบายส่งคนกลับไปสู่ภัยอันตราย เพราะฉะนั้นตรงไหนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือความปลอดภัยเราจะไม่ส่งกลับ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีเกิดขึ้น

“วันนี้ผมคิดว่ายังไม่มีใครที่จะทราบได้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา โดยเฉพาะในรอบเมียวดี เพราะว่าดูเหมือนกลุ่มที่เคยเป็นพรรคพวกกันเองก็แยกกลุ่มกันแล้วก็เวลานี้ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นพวกใคร เพราะฉะนั้นเนี่ยมันอาจจะต้องรอความชัดเจนอีกนิดนึง ในการที่ประเทศจะเข้ามามีบทบาทให้เขาเกิดการเจรจา” นายปานปรีย์ตอบคำถามกรณีบทบาทการเป็นคนกลาง

นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้สิ่งที่เราเป็นกังวลมากที่สุด ก็คืออยากจะเห็นความสงบเกิดขึ้นในเมียวดี ไม่ใช่เพราะว่าเรามีการค้าขายอย่างเดียว แต่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ไม่ประสงค์ที่จะอยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แล้วก็ถ้าสามารถที่จะพูดคุยกันได้ในกลุ่มของเขากันเอง เราก็จะมีความยินดีมาก แล้วจะให้เราเป็นคนกลางเราก็พร้อมที่จะประสานงานให้ แต่ในเวลานี้สิ่งที่เราได้รับผลกระทบคือการค้าขายระหว่างกัน ซึ่งเดิมมีการค้าขายกันในปริมาณมาก ตอนนี้ก็ลดลงไปหลายเปอร์เซนต์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการค้าขายมันก็ลดลงมาตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดแล้ว แต่วันนี้ก็อาจจะเป็นช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ตนเชื่อว่าถ้าความสงบในเมียวดีเกิดขึ้นได้ เชื่อว่าการค้าก็จะกลับมา

รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เราได้ส่งข้อความไปสู่ ACC แล้วว่าไม่ประสงค์ที่จะเห็นความรุนแรง และล่าสุดตนได้มีการพูดกับฝ่ายอาเซียนแล้วในการที่จะมีคำแถลงออกไป เพื่อที่จะให้ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา และหันมาพูดคุยกันตามแนวทางที่อาเซียนเคยวางไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้เรื่องการทำพื้นที่ปลอดภัยทางมนุษยธรรม นายปานปรีย์ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยในประเด็นนี้ แต่อย่างที่เรียนไปแล้วว่า เมียวดีวันนี้จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าใครเข้าไปควบคุม แล้วก็มีข่าวลือกันออกมาว่า จะมีการย้อนกลับมาต่อสู้กันอีกครั้ง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงเมียวดีก็ยังไม่มีความสงบต้องรอให้มีความสงบก่อนจึงจะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องภายใน ประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็ไม่มีใครสบายใจ ประเทศไทยได้ส่งข้อความไปบอกทางรัฐบาลเมียนมาหลายครั้งแล้ว ในขณะเดียวกันอาเซียนก็ได้มีข้อความไปแล้ว” นายปานปรีย์ ระบุ

รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวถึงการปกป้องรุกล้ำน่านฟ้าไทยจากการสู้รบภายในเมียนมาว่า จะมีขั้นตอน “ไม่ใช่เขาแล่บเข้ามาแล้วเราฆ่าเขาทิ้งเลยคงไม่ใช่แบบนั้น แต่เวลานี้รัฐบาลมีความชัดเจนไม่ว่าใครก็ตามที่ละเมิดเขามาในแผ่นดินไทยเรายอมไม่ได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศชายแดน ไทย-เมียนมา ‘ปานปรีย์’ รมว.ต่างประเทศ ลงพื้นที่แม่สอดวันนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า