SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ไพบูลย์’ ซัดฝ่ายค้านไม่ร่วมโหวต ทำสภาฯล่ม ระบุกินภาษีประชาชน แต่ไม่ทำหน้าที่ ขอให้ลาออกไปแต่อย่ามาเรียกร้องให้ยุบสภา เปิดชื่อ 7 ส.ส. ไม่เคยมาโหวตเดือน ธ.ค. 64

วันที่ 4 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า จากโปรแกรมรายงานผลการติดตามการโหวต ส.ส.จากกรณีที่การประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ…. ที่ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดไป 4 เสียง ทำให้การประชุมล่มไป เป็นการโหวตครั้งที่ 143 พบว่า พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 97 คน ส.ส.มาโหวต 83 คน เมื่อรวมแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนทั้งหมด 267 คน มาโหวตทั้งสิ้น 175 คน พรรคเพื่อไทย มีส.ส. 131 คน มาโหวตเพียง 14 คน พรรคก้าวไกล เจ้าของร่างกฎหมาย มี ส.ส. 52 คน มาโหวต 42 คน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 208 คน มาโหวตเพียง 59 คน ผลจึงทำให้องค์ประชุม ขาดไป 4 เสียง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเปรียบเทียบในวันเดียวกันการประชุมสภาฯ ช่วงเช้า 4 ก.พ. พรรคพลังประชารัฐ มาโหวต 84 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ปกติมาโหวตจำนวนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถูกกักตัวจาก 59 คน จึงมาโหวต 35 คน รวมทั้งหมดรัฐบาลมาโหวตช่วงเช้า 204 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มาโหวตเพียง 6 คน ขณะที่พรรคก้าวไกล โหวต 31 คน รวมฝ่ายค้านทั้งหมด โหวตเพียง 40 คน นอกจากนี้ยังพบว่า การโหวตเดือน ธ.ค. ซึ่งมีจำนวนการโหวต 70 ครั้ง สิ่งที่สรุปได้ คือมีส.ส.จำนวน 7 คนที่ไม่เคยมาโหวตเลยทั้งเดือน และยังมีส.ส.จำนวน 50 คนมาโหวต 100 % และทุกการโหวตของส.ส.ทุกคนจะมีการบันทึกไว้หมดในระบบโปรแกรมต่างๆ

“ส.ส.ทุกคน ได้รับเงินเดือนภาษีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่และมาประชุมสภาฯ เพื่อที่จะโหวตเป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ส. ถ้า ส.ส. คนใดบอกว่า ไม่ต้องมาโหวต มาทำงานก็ได้ ผมคิดว่าตอบคำถามไม่ได้ เพราะท่านก็มีเงินเดือนและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี อยากให้สังคมติดตามด้วยว่าหลักคิดที่ว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมาโหวตทำได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของสภาฯอยู่แล้ว และหวังว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนที่ออกมาพูดว่า ไม่มาประชุมทำให้สภาล่มและเรียกร้องให้ยุบสภา ผมคิดว่าท่านเข้าใจผิด ถ้าท่านไม่มาประชุมและคิดว่าไม่อยากมาประชุม มีทางออกคือ แสดงว่าท่านไม่อยากเป็น ส.ส.ก็ควรลาออกไปดีกว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภาฯ” นายไพบูลย์ กล่าว

เมื่อถามถึง กรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุว่าอย่าโทษคนอื่นทำสภาล่ม นายไพบูลย์ กล่าวว่า กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนหรือไม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเงินเดือนแสนกว่าบาท มีสวัสดิการมากมาย แล้วไม่มาประชุม ไม่มาโหวต การโหวตไม่ได้บังคับว่าต้องให้โหวตเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เห็นด้วยได้ โดยมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสียงในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาชนที่เลือกเข้ามา ถ้าเห็นอะไรไม่ดีก็โหวตไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ใช้วิธีข้างๆคูๆแล้วหลบหนีออกข้างนอกหรือไม่ทำงาน แต่กินเงินเดือนเหมือนเดิม แล้วเลี่ยงว่าเป็นเรื่องของการเมืองที่มาใช้กดดันให้ยุบสภา มันคนละเรื่องกัน เป็นเรื่องระหว่าง ส.ส.ทำหน้าที่หรือหาเรื่องโดดล่ม

“ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับนักเรียน เพราะต่อไปนักเรียนมาเซ็นชื่อตอนเช้าแล้วกลับบ้านไม่ต้องเรียนได้หรือไม่ ส.ส.ก็เหมือนกันมาเซ็นชื่อร่วมประชุมตอนเช้าแล้วอยู่หน้าห้องไม่มาโหวตมาทำงานเลย ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ผมพูดในนามเป็นส.ส.ไม่ได้พูดในนามพรรคไหนทั้งนั้น แต่ถ้าท่านเห็นว่าท่านทำถูกก็ทำไป ผมมีหน้าที่เอาข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่า ส.ส.ท่านใดทำงานแบบใด” นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับส.ส.จำนวน 7 คนที่ไม่เคยโหวตเลยทั้งเดือนธ.ค.ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรมว.สาธารณสุข 3.นายชูศักดิ์ แอกทอง ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 4.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย 5.นายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา 6.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 7.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

ส่วน ส.ส.ที่มาโหวต 1 ครั้งในเดือนธ.ค. 2564 มี 6 คน ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ และรมว.แรงงาน 2.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรมว.คมนาคม 3.นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ 4. นายกิตติ สมทรัพย์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย 5.นายพัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และ 6.นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย

ส่วนการประชุมสภาวันนี้ (4 ก.พ.) นายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ระหว่างพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาค้างมาจากการประชุมสภาฯสมัยประชุมครั้งที่ 1

หลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว เวลา 14.05 น. นายชวน ประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว แต่เนื่องจากมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตาอาจไม่ครบองค์ประชุมได้ นายชวนจึงรอนานกว่า 20 นาที แต่สมาชิกในห้องดูเหมือนจะยังไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ประธานพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที เพื่อรอสมาชิก ด้านนายชวนอนุญาตให้พักเพียง 15 นาที แต่สุดท้ายไม่ได้พักการประชุม เนื่องจากนายชวน กังวลว่าสมาชิกจะลดลงจากเดิมไปอีก โดยได้กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน และประกาศผลองค์ประชุม ปรากฎว่ามีสมาชิกเพียง 195 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 14.50 น. ถือว่าสภาฯ ล่มเป็นครั้งที่ 16 ของรัฐบาลชุดนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า จากการตรวจสอบการแสดงตนเป็นองค์ประชุมสภาในวันที่ 4 ก.พ. ที่มี ส.ส.แสดงตนจำนวน 195 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมจำนวน 237 คน พบว่าพรรคเพื่อไทยแสดงตน 2 คนคือ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ไม่แสดงตน 129 คน ส่วนพรรคก้าวไกล แสดงตน 43 คน ไม่แสดงตน 8 คน, พรรคเสรีรวมไทย แสดงตน 1 คน ได้แก่ น.ส.ธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 9 คน, พรรคประชาชาติ แสดงตน 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่แสดงตน 6 คน, พรรคเพื่อชาติ ไม่แสดงตนทั้ง 6 คน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน 54 คน ไม่แสดงตน 43 คน ส่วน ส.ส.ที่ย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 19 คน แสดงตนเพียง 1 คน คือนายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น ที่เหลืออีก 18 คนไม่แสดงตน ด้านพรรคภูมิใจไทย แสดงตน 33 คน ไม่แสดงตน 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้กักตัวโควิด 7 คน สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 35 คน ไม่แสดงตน 15 คน

พรรคชาติพัฒนา แสดงตนครบทั้ง 4 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 6 คน ด้านพรรคเศรษฐกิจใหม่ แสดงตน 4 คน ไม่แสดงตน 2 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท แสดงตน 4 คน มีเพียง น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เท่านั้นที่ไม่แสดงตน ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย แสดงตน 3 คน ไม่แสดงตน 2 คนคือ นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่แสดงตนทั้ง 2 คน สำหรับพรรคเล็กที่มี ส.ส.เพียงคนเดียวที่ไม่แสดงตน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติไทย อย่างไรก็ตาม พรรคเล็กที่มี ส.ส.หนึ่งคน และแสดงตนคือพรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม และพรรคพลเมืองไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม รวมถึงนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ไม่แสดงตนทั้งที่นั่งอยู่ข้างนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ที่แสดงเป็นองค์ประชุม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า