SHARE

คัดลอกแล้ว

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิต รับเลี้ยงลูกบุญธรรม และจัดการมรดก ด้าน รมว.ยุติธรรมระบุเรื่องนี้จะมอบเป็นของขวัญให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ พรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) สภาฯ โหวตร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

วันนี้ (7 มิ.ย. 2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ แล้วถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครอง ตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน กระทบต่อกฎหมายเดิมในหลายฉบับ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคต่อกัน เพราะความเป็นครอบครัวส่งผลผูกพันในหลายเรื่อง เช่น มรดกทรัพย์สินความเป็นทายาท รวมไปถึงบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ ตลอดจนมิติของสังคม

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องนี้ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง จึงเกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรีแล้ว และจะนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เปิดทางจดทะเบียนคู่ชีวิต รับเลี้ยงลูกบุญธรรม และจัดการมรดก

ส่วนรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่มในทุกมิติเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการกฎหมายที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ไม่ขัดข้องต่อกฎหมายดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ฉบับนี้ ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น 1. หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน 2. อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา 3. สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 4. สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม 5. สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ 6. สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย และ 7. สิทธิจัดการศพ

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. อาทิ
1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
11. กำหนดให้นำบทบัญญัติในป.พ.พ.ว่าด้วยคู่สมรสครอบครัวและบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
2.กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
3.ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้

รมว.ยุติธรรม เผยร่าง พ.ร.บ.คู่สมรส ถือเป็นของขวัญมอบให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ 

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. ในวาระจรของ ครม. ให้พิจารณา ก่อนที่จะส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตราเป็นกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้จะมอบเป็นของขวัญให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยขอส่งสัญญาณไปยังกลุ่ม LGBT ที่รอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เชื่อว่าหลักการและหลักเกณฑ์ในสาระของกฎหมายจะครบถ้วนหลังจากที่ได้สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง

พรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (8 มิ.ย. 2565 ) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันว่า ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก ขั้นรับหลักการ หลังจาก ครม. ขอรับร่างกฎหมายฉบับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดย ครม. พิจารณาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา และได้ส่งคืนกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า