SHARE

คัดลอกแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ย้อน ‘รัฐประหาร’ ต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ระบุในรัฐบาลคสช. ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิด ในกรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด

วันที่ 19 พ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ระบุว่า ผมได้คิดย้อนถึงวันที่ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศก่อนว่า เมื่อ 7 ปีก่อน ทุกท่านคงจำได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศของเรา คนไทยไม่มีความสุข บ้านเมืองไม่สงบ เดินหน้าต่อไปไม่ได้ หลายคนก็อาจจะอายุยังน้อยอยู่ ยังโตไม่ทัน หลายคนยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมการตรงนี้ไว้ล่วงหน้าเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านั้น และเตรียมการไว้เพื่ออนาคต สถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นเวลาหลาย 10 ปีก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อผมตัดสินใจเข้ามาแล้ว ผมก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แม้จะมีปัญหาอุปสรรคอยู่มากมายที่จะต้องแก้ไข

ย้อนไปเมื่อเรา มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผมเข้าใจดีว่า เราต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในเวลานั้น คสช. ก็ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า ทุกคนสามารถที่จะมีเสรีภาพทางความคิด ภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด ถึงแม้ว่าในช่วงที่เป็นรัฐบาล คสช. จะมีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ผมก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม การตรวจสอบต่างๆ องค์กรอิสระ ยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยผมจะไม่เข้าไปก้าวล่วง การทำหน้าที่ใดๆ ของท่าน

วัตถุประสงค์การเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่า ในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศของเราก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน

ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลก็ได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การที่เราจะสร้างบ้าน สร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้ เราจำเป็นที่จะต้อง Master Plan ซึ่งก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 ประกอบไปด้วย 1. ด้านความมั่นคง 2. ด้านความสามารถในการแข่งขัน 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6. ด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น จะเป็นแผนภาพรวมใหญ่ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้าใจและเห็นภาพบ้านของเราในอนาคตเดียวกัน เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน โดยจะเป็นกรอบเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง มีทั้งแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง ได้แก่ แผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์

เมื่อผมเข้ามาสู่รัฐบาลใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง ในปี 2562 ผมก็ได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมและคณะรัฐมนตรีทุกคน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เป็นกรอบเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศให้กับหน่วยงานของรัฐ และทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตาม โดยจะมีการวัดผล ประเมินผล และทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอตามสถานการณ์ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามความจำเป็นของประเทศในช่วงเวลานั้น แม้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ประเทศไทยก็ยังคงเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง ในระหว่างนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเดิม พร้อมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถโดยสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

“มองโควิดแม้เป็นวิกฤตโลก แต่เป็นโอกาสของไทยหลายด้าน”

ในตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่า จากการเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ของโลก ที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยของเศรษฐกิจทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย เราถูกประเมินว่า จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในระดับต้นๆ ของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยนั้น เราพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดการเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เหมือนเมื่อก่อน

เมื่อเรามองย้อนกลับไป เมื่อ 2 ปี วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นี้ นับเป็นโจทย์ที่ยากเพราะเรากำลังต่อสู้กับศัตรูที่เรามองไม่เห็น และยังไม่มีอาวุธใดจะปราบได้ โดยในช่วงเริ่มการระบาด ทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยเราต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน เพื่อจะตั้งหลักประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ การต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ไม่มีอะไรที่แน่นอน จึงได้สร้างมาตรฐานการต่อสู้ใหม่ในหลายระลอก มีวัคซีนก็ต้องแบ่งปัน กระจายการฉีดอย่างทั่วถึง และรวดเร็วเพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ นโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด

รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ประเทศไทยก็ได้นำร่องเปิดประเทศ ในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และได้เปิดประเทศจริงจัง ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้กลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ นำไปปฏิบัติ ทั้งนี้แม้เราจะเปิดประเทศแล้วก็ตาม เราก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง ยังต้องตระเตรียมพร้อมทั้งวัคซีน และยารักษาไว้อย่างเพียงพอ เพราะวิกฤตการณ์แพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับและชื่นชมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อมองให้แง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยในหลายๆ ด้าน เช่น 1. ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยทั้งการรักษา การให้บริการ การรับมือโลกอุบัติใหม่ และภาวะฉุกเฉิน 2. ยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ตั้งแต่บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ที่หมอครอบครัว อสม. รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิดซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงได้เองหลายชนิดในประเทศ และ 3. ส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของโลก โดยไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการ ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งจะเปิดทำการในเดือน ส.ค.นี้     

เข้าใจความขุ่นเคือง-ไม่พอใจ ขอประชาชนเห็นใจในวิกฤตอาจทำงานไม่ทันใจ

ในช่วงท้ายของการปาฐกถาพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อน เข้าใจถึงความขุ่นเคือง ไม่พอใจหลายอย่าง กับวิกฤตที่ยืดเยื้อมาถึง 2 ปี และมีวิกฤตซ้อนวิกฤตเกิดขึ้น”

“รัฐบาลมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องคนไทยให้ได้โดยเร็ว แต่เหล่านี้บางอย่างเราควบคุมมิได้ เราจะทำอย่างไรให้เราอยู่รอดปลอดภัย พอเพียงและยั่งยืน”

“สิ่งที่รัฐบาลให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ก็คือ ประเทศไทยในวันนี้ยังเรามีเสถียรภาพทางการเงิน และการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤตที่ยื้อเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับคนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงการสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงติดต่ออาเซียนทุกประเทศในทุกด้าน”

“ขออย่างเดียวขอให้ประชาชนได้เชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤตไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ รัฐบาลไหนก็ตาม รัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจ ก็ขอให้เข้าใจ เห็นใจความจริงใจ ทุกคนมุ่งมั่นจะแก้ปัญหา ตั้งใจทำงานขอเพียงให้พวกเราได้ร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือการบ่อนทำลายสิ่งต่างๆ ที่เราดีอยู่แล้ว เพราะที่นี่คือประเทศไทยของเรา แผ่นนี้ยังมีสิ่งที่งดงาม มีอนาคตดีๆ ที่รอพวกเราอยู่ และเราก็มีสถาบันสำคัญ ก็คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนไทยทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ให้เกิดความรักความสามัคคี สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือความร่วมมือความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจและไม่เคยท้อแท้พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไปอีกนานเท่านานเพื่อลูกหลานของเรา ขอบคุณครับ สวัสดีครับ”

ปาฐกถาฉบับเต็ม

ภาพจาก : ทำเนียบรัฐบาล

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า