Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ก้าวไกล’ เปิดเบื้องหลัง กมธ. งบฯ 67 ถกจริงจังแค่ 41% สภาฯ มีอำนาจน้อย งบฯ ถูกใช้ไปก่อนแล้ว เกือบ 2 ล้านล้านบาท หวังแก้ช่องโหว่โยกอำนาจจาก ผอ.สำนักงบฯ ไปที่นายกฯ ‘ศิริกัญญา’ ย้ำ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ไม่เกิดแน่ภายในงบฯ ปีนี้

ที่อาคารอนาคตใหม่ วันนี้ (15 มี.ค. 67) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สัดส่วนพรรคก้าวไกล นำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และนายชยพล สท้อนดี สส.กทม. ได้แถลงข่าว ในหัวข้อ “ก้าวไกล Policy Watch รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ. จับตาการอภิปรายงบฯ วาระ 2-3 สัปดาห์หน้า”

โดยสรุป น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปีนี้ กมธ. ทำงานกันค่อนข้างกระชับจากปีที่ผ่านมาใช้เวลา 70-90 วัน เนื่องจากปีนี้งบประมาณล่าช้า เกินกว่า 6 เดือน ทำให้ต้องมีการใช้งบไปพลางก่อน โดยส่งของบฯ 3.185 ล้านล้านบาท แต่เป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักงบประมาณอนุมัติไป 58.8% หน่วยงานก็ใช้จ่ายไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อสภาฯ พิจารณาเงินก้อน 3.48 ล้านล้านบาท ก็พบว่ามีเกือบ 2 ล้านล้านบาทที่ถูกอนุมัติใช้ไปแล้ว เท่ากับว่าสภาฯ มีอำนาจในการพิจารณาจริงจังและปรับลดได้เพียง 41% เท่านั้น ทำให้พิจารณาได้เร็ว แต่ก็พบช่องโหว่ว่า คือตอนที่มีการอนุมัติหลักเกณฑ์ว่า ใช้อะไรได้หรือใช้อะไรไม่ได้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เป็นผู้รับผิดรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่เมื่อหน่วยงานส่งแผนงบประมาณเข้ามา คนที่อนุมัติก็คือ ผอ.สำนักงบฯ คนเดียว ทั้งๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง

ดังนั้น เราจึงคิดว่านี่เป็นช่องโหว่ ซึ่งความจริงแล้วแผนงานต่างๆ ที่สภาฯ ไม่มีโอกาสเข้าไปตัดเข้าไปยุ่งอะไรแล้วควรจะได้รับการอนุมัติ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือนายกฯ เพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบในตัวงบฯ ที่สภาฯ ไม่สามารถเข้าไปพิจารณาหรือไม่สามารถเข้าไปปรับลดได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในการพิจารณาของอนุกรรมาธิการงบฯ ต่างๆ ที่มีการตัดงบฯ ไปแล้ว ต้องคืนให้ภายหลัง เพราะหน่วยงานนั้นมีการใช้งบไปพลางก่อนแล้ว ดังนั้น นี่คือความพิเศษของปีงบประมาณนี้ แล้วอนาคตมีโอกาสที่จะตั้งรัฐบาลช้า จึงขอให้เป็นบทเรียนว่า ในการอนุมัติแผนงานการใช้งบไปพลางก่อนควรเป็นครม.

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตามปกติ กมธ.งบประมาณ ซึ่งมีประมาณ 70 กว่าคน จะแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาทำงานแทน ลงรายละเอียดในรายโครงการ ทำให้มีคำพูดว่าแบ่งตามผู้รับเหมาเฝ้าห้องแต่ละห้องงบฯ ซึ่งปีนี้เราพยายามผลักดันให้แบ่งอนุฯ ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ ซึ่งจะล้อกับยุทธศาสตร์ชาติแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้มีการแบ่งตามกระทรวงฯ ทำให้อนุฯ มีความเป็น “เจ้าข้าวเจ้าของ” ของรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงนั้นๆ ทำให้มีข้อห่วงใยว่า จะมีการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐมนตรีหรือไม่

ซึ่งจากการสังเกตการณ์จะเห็นว่า บางอนุฯ มีผู้ที่อยู่ในครม. ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐมนตรีเองหรือรัฐมนตรีช่วย แม้กระทั่งเลขานุการรัฐมนตรี ก็จะมานั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย อาจจะเป็นในฐานะอนุฯ บ้างหรือผู้สังเกตการณ์ที่เป็น สส. ก็มี ซึ่งเราไม่เห็นด้วย และเป็นบทเรียนในปีหน้าว่า จะไม่มีการจัดอนุฯ เช่นนี้อีก

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ในการจัดงบฯ จะทำในช่วงสัปดาห์สุดท้ายหรือวันสุดท้าย เช่น รายการใหญ่อย่างเรือฟริเกตก็ตัดวันสุดท้าย การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือก็ถูกตัดวันสุดท้าย แต่มีการอุทธรณ์และคืนงบฯ ไป ยังมีอีกหลายรายการที่ตัดในห้อง กมธ.ใหญ่ ในส่วนแผนบูรณาการถูกตัดงบฯ มากที่สุด กว่า 3 พันล้านบาท เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพ แต่สุดท้ายก็มีการอุทธรณ์และคืนงบฯ ให้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า โดยสรุปแล้วทั้ง 8 อนุกรรมาธิการตัดงบฯ ได้ 9,204 ล้านบาท ตามประเพณีปฏิบัติทั่วไป ก็จะส่งต่องบฯ ส่วนที่ตัดได้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาของบเพิ่ม โดยจะไปลงงบกลาง ซึ่งกระทรวงที่ได้เพิ่มคือ กระทรวงแรงงาน 500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการใช้หนี้ที่รัฐค้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพราะไม่เคยจ่ายเลย แถมยังไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย ทั้งที่ผู้ประกันตนต้องถูกบังคับจ่ายทุกเดือน โดยตัดจากเงินเดือน ส่วนกระทรวงที่ถูกตัดงบฯ เยอะสุดคือกระทรวงกลาโหม ตัดโครงการซื้อเรือฟริเกต รองลงมาคือกระทรวงมหาดไทย ตัดโครงการฝายซีเมนต์

ทั้งนี้ การที่อยากให้งบกลางในตอนอภิปรายวาระ 1 ซึ่งจะพบว่า งบฯ ที่ตั้งไว้เกือบ 300,000 ล้านบาท ใช้ไม่ได้จริงทั้งหมด เพราะต้องชดใช้เงินคงคลังกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากปัญหาการตั้งงบฯ ไม่เพียงพอในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้ต้องไปดึงเงินตรงนั้นมาใช้ เช่น ตั้งงบบำเหน็จบำนาญ ขาดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ค่ารักษาข้าราชการ ขาดไป 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงบฯ กลับเสนอมาเพียงอย่างละ 1 หมื่นกว่าล้านบาท จึงแบ่งให้ได้น้อยและต้องส่งไปสำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉินกว่า 1 พันล้านบาท

ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการตัดงบฯ โครงการฝายดินซีเมนต์กว่า 1.2 พันล้านบาท เพราะเห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ส่อแววทุจริตคอร์รัปชั่น โดย มี 8 เหตุผล คือ

1. เป็นโครงการแจกเสื้อโหล แบ่งเป็นโครงการขนาด 1 เมตร 1.5 เมตร และ 2 เมตร เป็นฝายกลางน้ำ หลายแห่ง

2. มีความเร่งรีบอย่างผิดสังเกต โดยให้เวลาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 วัน ในการเลือกสถานที่ทำแบบก่อสร้าง ประมาณราคา ใช้คอมมอนเซนส์ได้ไม่ยาก หากไม่พื้นที่หรือรู้กันมาก่อนใครจะทำได้ทัน

3. มีการแทรกแซงกระบวนการพิจารณางบฯ ชัดเจน โดยสำนักงบฯ ถูกผู้มีอิทธิพลครอบงำทำให้ไม่ได้ตรวจสอบอย่างครบถ้วนบนมาตรฐานเดียวกันกับโครงการอื่น มีการลัดขั้นตอน ไม่ตรวจเอกสาร เหมือนเปิดไฟเขียวตามใบสั่ง

4. หลายโครงการที่ต่ำกว่า 5 แสนบาทเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน สามารถจิ้มเลือกผู้รับเหมาได้

5. มีความจงใจหลีกเลี่ยงการประกันผลงาน 2 ปี

6. ไม่มีใบอนุญาตมาแสดง

7. อ้างว่าเป็นฝายชั่วคราว แต่มีราคาแพง และหากพังจะเป็นการทิ้งผลพิษกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ

8. หน่วยงานจำนนต่อเหตุผล และไม่มีการอุทธรณ์ขึ้นมา

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสังเกต 4 ข้อ คือ

1. มี สว. และ สส. ของพรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่งอยู่เบื้องหลังการตั้งงบฯ ทำฝายดังกล่าว ทำให้มีคนดิ้นกันมาก และโจมตีเรา

2. มีการโฆษณาเกินจริง ว่าทำฝายแล้วจะดี เพราะเก็บน้ำได้ แต่ที่จริงเก็บได้น้อย กระทบคนปลายน้ำมีน้ำไม่พออุปโภคบริโภค

3. การใช้ดินผสมซีเมนต์ทำได้ยากในทางปฏิบัติ ถ้าจะทำชั่วคราวจะนิยมทำด้วยวัสดุที่ย่อยสลาย อีกทั้งยังมีปัญหาทางเทคนิด คือการเซ็นแบบการควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ก็ไม่ได้รับความชัดเจนจากหน่วยงานว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร มีแต่การบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบโดยอ้างความเป็นฝายชั่วคราว

4. ฝายดินซีเมนต์จะเปลี่ยนสภาพลำน้ำเป็นขั้นบันไดที่สามารถพังทลายได้ทุกเมื่อโดยเฉพาะหน้าฝน ส่วนหน้าแล้งเก็บน้ำได้ไม่พอทำเกษตร อีกทั้งทำให้พื้นที่ท้ายน้ำขาดแคลน

“ขอยืนยันว่า ควรกระจายงบให้ท้องถิ่นไปจัดการเอง ฝายสร้างได้ แต่ต้องเลือกตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด เลือกวัสดุ วิธีการเพื่อทำให้ดี ไม่ใช่แจกเสื้อโหล 5 แสนบาทแล้วไปหากินกันเหมือนโครงการนี้” นายสุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ขอยืนยันว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่เข้มแข็งตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลต่อไป ไม่ให้ใช้ในทางมิชอบ หากพรรคก้าวไกลไม่ถูกยุบไปก่อน ซึ่งเข้าใจดีว่าทำไมมีคนบางกลุ่มอยากยุบก้าวไกล

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าการโยกงบฯ ไปอยู่ที่งบกลางนั้น เพราะจะนำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เงินที่โยกไปแค่ 1 พันล้านบาท เพื่อเทียบกับดิจิทัลวอลเล็ตที่ต้องการกว่า 5 แสนล้านบาท จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ น่าจะเอาไปทำอย่างอื่นมากกว่า นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เกิดขึ้นภายในงบฯ 67 แน่นอน เพราะยังไม่มีแหล่งที่มาของเงินที่ชัดเจน และจนถึงวันนี้ครบ 30 วัน หลังมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่และไม่มีการนัดประชุมอีก ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง บอกว่า คณะอนุกรรมการยังทำงานไม่แล้วเสร็จ ซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ไม่แล้วเสร็จ เพราะไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจากการไปรับฟังภาคส่วนต่างๆ ใช่หรือไม่

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นการหาทางลงของรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรายืนยันมาตั้งแต่ต้นว่ารัฐบาลเลือกเส้นทางที่ลุยไฟมากที่สุด วันนี้เห็นได้ชัดแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปต่อแล้ว และน่าจะกำลังหาทางลงอยู่ตามที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ และคิดว่าแม้จะไม่ได้ทำโครงการนี้ แต่รัฐบาลคงไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะจากที่ทำโพลออกมาประชาชนอาจจะเสียใจแต่ก็ไม่โกรธรัฐบาล

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า