SHARE

คัดลอกแล้ว

 เริ่มแล้วอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น ‘ธนาธร’ บอก ‘ไม่ชอบผมไม่เป็นไร ให้ดูประชาชนเป็นหลัก’ ย้ำแต่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ‘แก้ปัญหา-พัฒนาพื้นที่’  ด้าน ‘ปิยบุตร’ ย้ำไม่มีประเด็นแบ่งแยกดินแดน -ไม่ยุ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วอนรัฐสภาโหวตรับหลักการ

 ที่รัฐสภา  มีการประชุมรัฐสภา  โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ

 ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาสาระ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หารือต่อที่ประชุมถึงการใช้เวลาอภิปราย โดยกำหนดเวลาให้ฝ่ายละ 2 ชั่วโมง คือ ตัวแทนประชาชนที่นำเสนอร่าง 2 ชั่วโมง  ฝ่ายรัฐบาล 2 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง และฝ่ายวุฒิสภา 2 ชั่วโมง รวม 8 ชั่วโมง จากนั้นจะใช้เวลาในการลงมติอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อ จำนวน 2 ชั่วโมง ซึ่งปรากฏว่าในการเสนอดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้คัดค้านเนื่องจากเป็นการปิดกั้นการอภิปรายของสมาชิก พร้อมเสนอให้เปิดกว้างกับการอภิปราย และหากลงมติไม่แล้วเสร็จในวันที่ 30 พ.ย.ได้ ก็สามารถเลื่อนการลงมติในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือเรื่องเวลาดังกล่าวไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนในที่ประชุม ทำให้วิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาล ขอหารือนอกรอบอีกครั้ง จากนั้นได้เข้าสู่การนำเสนอสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้นนายธนาธร นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปลดล็อคท้องถิ่น เพื่อทำให้อำนาจและอิสระต่อการบริหาร งบประมาณ รวมถึงประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ โดยยังยึดหลักการพื้นฐานอำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทน ทั้งนี้จะมีความชัดเจนในอำนาจของการให้บริการสาธารณะออกแบบพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อพัฒนาจังหวัดไปข้างหน้าตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชน ขณะที่งบประมาณกำหนดให้จัดสรรงบประมาณเป็นธรรม เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ท้องถิ่นได้รับงบร้อยละ 30  ไปเป็นร้อยละ 50

นายธนาธร เชื่อว่า การแบ่งสรรอำนาจ จัดสรรงบที่เป็นธรรมตามร่างปลดล็อคท้องถิ่นจะทำให้เป็นจริงได้ ภายใน 10 – 15 ปี ทั้งนี้ร่างนี้เสนอให้ทำประชามติภายใน 5 ปี ต่อการยกเลิก ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้ากับส่วนท้องถิ่น ซึ่งระยะเวลา 5 ปีจะเป็นช่วงที่สังคมไทยถกเถียงในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีมีตัวอย่างจากรัฐรวมศูนย์ที่ชัดเจน คือ การหารือของส.ส.ที่หารือในสภาถึงปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา ข้อมูลพบว่า ร้อยละ 65 ข้อหารือเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ที่แก้ได้ด้วยท้องถิ่นหากได้รับงบประมาณที่เพียงพอและได้รับอำนาจเพื่อแก้ปัญหา ตอบสนองปัญหาให้ประชาชนได้ ดังนั้นหากท้องถิ่นและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ งบประมาณ และประเทศร่วมกันจะแก้ไขปัญหาได้

 “ท่านอาจไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ร่างปลดล็อคท้องถิ่น ผมไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ หากเห็นด้วยในทิศทางและหลักการในการกระจายอำนาจ หากไม่เห็นด้วยรายละเอียดบางประเด็นขอให้รับหลักการ เพื่อหาทางประนีประนอม ข้อสรุปที่ยอมรับได้ในวาระต่อไปเพื่อให้เราเท่าทันปัญหาของประเทศ” นายธนาธร กล่าว

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนผู้ชี้แจง อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยย้ำถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น  ว่า รับรองหลักการกระจายอำนาจ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อยืนยันการกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และรัฐเดียว และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร หรือเข้าใจกลุ่มตนผิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน  นอกจากนั้นยังมีหลักการสำคัญ คือ  ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น

 “ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ท้องถิ่นและส่วนกลางต้องมีการเกาะเกี่ยว ผ่านการกำกับดูแล ดังนั้นร่างปลดล็อคท้องถิ่นได้กำหนดให้มีการกำกับดูแลภายหลังจากที่ท้องถิ่นดำเนินการไปแล้ว และพบการทำผิดกฎหมาย ขณะที่การมีส่วนร่วมของพลเมือง กำหนดให้เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น, ถอดถอน และเติมให้ทำประชามติในระดับท้องถิ่นในการทำโครงการ เพื่อต้องการสร้างสภาพลเมืองให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลนายกท้องถิ่น ฐานะฝ่ายบริหารท้องถิ่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการกำหนดให้มีการเปิดเผยการประชุมสภาท้องถิ่น สัญญา จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนั้นประชาชนจะมีสิทธิในการกำหนดงบประมาณในการทำโครงการที่ประชาชนต้องการ” นายปิยบุตร กล่าว

 นายปิยบุตร อภิปรายถึงการโอนถ่ายส่วนราชการภูมิภาคที่จะกำหนดกรอบการถ่ายโอนที่ชัดเจน ขณะที่การออกเสียงประชามติในการถ่ายโอน ยุบราชการภูมิภาค  ที่กำหนดโรดแม็พฟังความเห็นในระยะ 5 ปี หากประชาชนเห็นด้วย ส่วนราชการไม่ได้ถูกยุบ แต่จะย้ายไปสังกัดท้องถิ่นเท่านั้น และที่สำคัญร่างปลดล็อคท้องถิ่นไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยตนคาดหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่นจะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง และวุฒิสภา ซึ่งพบว่ามีความคิดสนับสนุนกระจายอำนาจ

 “ร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวุฒิสภา แต่ร่างนี้จะเป็นสิ่งที่แสดงให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์กับประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว  จากนั้นได้ให้สมาชิกรัฐสภา  ส.ส. ส.ว. ได้เริ่มอภิปรายอย่างกว้างขวาง

ส.ว.จเด็จ ชี้ปลดล็อคท้องถิ่นสุดโต่งโหนกระแสหาเสียง  

นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการลอกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในร่างแก้ไขที่เสนอโดยเพิ่มเติมมาคือ  มาตรา4 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งหมายถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ดังนั้นที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้นำเสนอระบุว่าไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นั้นไม่จริง แต่พูดเพื่อไม่ให้เสียเสียงสนับสนุน  ต่อมากำหนดให้ทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดีตนทราบว่ามาตรา 4 ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

นายจเด็จ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ปลดล็อค แต่ลอกมาเขียนให้สวยหรู โดยตนมองว่านัยยะของการเสนอเพื่อโหนกระแสสร้างกระแส หาเสียง เหมือนอย่างที่ส.ว. บางคนบอกว่าเป็นความคิดแบบสุดโต่ง ทะลุดิน ทะลุแก๊ส ทะลุวัง ไม่เป็นประโยชน์ประชาชน ซึ่งสิ่งที่ลอกมา 6 มาตรา หากขยายทำให้รัฐบาลทำเต็มที่จริงจังสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติได้จริง รู้กาลเทศะ วุฒิภาวะและสอดคล้องกับกาลเวลา

นายจเด็จ อภิปรายตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการปกครองท้องถิ่นจะสนับสนุนให้คนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าหากเป็นรัฐบาลจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จัดเลือกตั้งนายกจังหวัด และสมาชิกพรรคก้าวไกลเสนอทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และในวันนี้ นายธนาธร และนายปิยบุตร เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตนแปลกใจว่ามีความสอดคล้องแบบมีลับลมคมนัย

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ เพราะมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา คือ  มาตรา1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ ลามถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือการรับฟังความเห็นประชาชนที่ผมบอกแล้วว่าประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้รับฟังความเห็นและมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ทำนี้คือการสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายจเด็จ กล่าว

‘พิธา’ ชูกระจายอำนาจปลดปล่อยศักยภาพทั่วประเทศ

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จากวิกฤติโควิด วิกฤติค่าครองชีพ วิกฤติราคาพลังงานที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าศักยภาพของโครงสร้างรัฐรวมศูนย์แบบปัจจุบันไม่สามารถพาประเทศไปข้างหน้าได้ ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างบิ๊กแบง (Big Bang) รัฐราชการรวมศูนย์แบบที่เรามีอยู่ในขณะนี้ พาประเทศต่อไปข้างหน้าไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

นายพิธา กล่าวว่า เกือบทุกคนคงเห็นตรงกัน ว่าประเทศต้องกระจายอำนาจ บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระจายแบบ Big Bang โดยมองว่าปฏิบัติได้ยาก แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปในเรื่องที่ยาก ผ่าตัดประเทศเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง ประเทศของเราก็จะเป็นกบต้มไปเรื่อยๆ จนพังพินาศไปอย่างไม่ทันรู้ตัว บางท่านอาจมองว่าร่างนี้สุดโต่ง แต่คำว่า “สุดโต่ง” เป็นเรื่องสัมพัทธ์ ไม่ใช่สัมบูรณ์ เทียบกับในอดีตร่างนี้อาจถูกมองว่าสุดโต่ง แต่เทียบกับสถานการณ์โลกในตอนนี้ ร่างนี้อาจไม่ทันกินด้วยซ้ำไป

นายพิธากล่าวต่อว่า หากรัฐสภาแห่งนี้ปฏิเสธที่จะรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ประเทศไทยของเราจะสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาลที่จะผ่าตัดพลิกโฉมประเทศไทยใน 3 เรื่อง โอกาสแรกคือการระเบิดศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากที่ประเทศไทยเคยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ก็จะกลายเป็น 7,852 เครื่องยนต์ ทุกตำบล ทุกเมือง ทุกจังหวัดที่ถูกปลดล็อกจะสามารถกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย

นายพิธากล่าวว่า โอกาสที่ 2 ที่อาจสูญเสีย คือการเพิ่มศักยภาพให้การบริหารงานภาครัฐอย่างมหาศาล ดังที่แสดงในการศึกษาของ OECD ยิ่งประเทศมีระดับการกระจายอำนาจสูงขึ้น ระดับประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐก็สูงขึ้น ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือส่วนกลาง และโอกาสที่ 3 ที่จะสูญเสียไปมหาศาล คือการแก้ปัญหาสำหรับอนาคตในเรื่องภาคเกษตร เพราะใน 20-30 ปีข้างหน้า ผลผลิตการเกษตร ข้าว อ้อย มัน จะลดลง 20-30% เกิดวิกฤติราคาอาหารอย่างแน่นอน 

จากสภาพภูมิอากาศ ตามข้อตกลง Paris Agreement ประเทศพัฒนาแล้วต้องส่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยประเทศกำลังพัฒนารวม 3.5 ล้านล้านบาท เฉพาะในปี 2564 สภาพยุโรปส่งเงินไปช่วยทั่วโลกมากกว่า 8 แสนล้านบาท และให้ลงมาที่ท้องถิ่นเพราะเขาเชื่อว่าภาวะโลกรวนต้องใช้ความยืดหยุ่น รวดเร็ว ของท้องถิ่น รอรัฐบาลกลางไม่ได้ แต่ในเงิน 8 แสนล้านเหล่านี้มาช่วยท้องถิ่นไทยได้ 0 บาท เพราะท้องถิ่นไทยไม่สามารถกู้เงินได้

“นี่คือสาเหตุที่เราต้องปลดล็อกท้องถิ่นในวันนี้ เพื่อปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของทุกจังหวัด ทุกเมือง ทุกตำบล ให้ความเจริญกระจายไปทุกหย่อมหญ้า สร้างเครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยฝ่ามรสุมความเสี่ยงของโลกในอนาคตได้ ถ้าประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนไปอย่าง Big Bang จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระจายอำนาจในวันนี้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเอาประเทศไทยออกจากสภาวะกบต้มและขับเคลื่อนให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้” นายพิธา กล่าว

ร่างแก้ไข รธน. ปลดล็อคกม.ท้องถิ่น – กระจายอำนาจ ยังไม่จบ ยกยอดไปโหวตครั้งหน้า

 รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ตามที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ได้พิจารณากันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกรัฐสภามีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้าน และยังคงมีการเพิ่มชื่อผู้อภิปรายมาเรื่อยๆ ทำให้วิป 3 ฝ่าย วิปรัฐบาล  วิปฝ่ายค้าน  วิปวุฒิสภา ได้หารือและเห็นพ้องร่วมกันว่า จะให้การผู้อภิปรายสิ้นสุดลงประมาณเวลา 21.00น. ให้ผู้นำเสนอร่างฯชี้แจงสรุป

 จากนั้นจะปิดการประชุม แล้วไปนัดลงมติในวาระที่ 1 ว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ โดยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล ในการประชุมร่วมสภาฯครั้งหน้า คาดว่าน่าจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 หรือ 21 ธ.ค.นี้

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า