SHARE

คัดลอกแล้ว

‘พล.อ.ประยุทธ์’ บอก ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จต้องมีความอดทนและเข้าใจ พร้อมเผยสไตล์การทำงาน ยอมรับความแข็งกร้าว ทำให้ต้องเสียเพื่อน แต่ยอมแลกเพื่อประเทศ

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนาประจำปี “Bangkok Post Forum 2022” ในหัวข้อ “Accelerating Thailand (เร่งเครื่องประเทศไทย)” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยตอนหนึ่งในกล่าวถึงการเป็นผู้นำและสไตล์การทำงานของตัวเอง ดังนี้

“การที่เราจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องมีความอดทนและเข้าใจ เมื่อผลที่ได้อาจจะไม่เพอร์เฟค ไม่สมบูรณ์นะครับ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เพื่อจะให้ชิ้นงานต่างๆ เกิดขึ้นมาได้ ผมรู้ว่าถ้าเรามองสไตล์แบบนี้นั้น หลายท่านอาจจะมองเห็นว่าแหมเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจจริงๆ  กว่าจะทำได้สักที แต่มันก็เป็นวิธีการบริหารที่ผมเชื่อว่า สังคมเราจะได้เดินหน้าไปได้โดยไม่ทิ้งรอยแตกร้าวอย่างถาวรระหว่างคนกลุ่มต่างๆ”

“ผมก็ต้องทำงานสไตล์นี้นะครับ ท่านอาจสงสัยว่าเอ๊ะบางทีทำไมผมใจร้อนเกินไป บางทีผมก็ใจเย็นเกินไป ก็เพราะผมพยายามจะผสมผสานความแข็งกร้าวของผมเพื่อจะให้งานเดินหน้ากับความยืดหยุ่น เพื่อให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายเดินไปด้วยกันได้”

“แน่นอนครับ ผมอาจไม่ได้ทุกอย่างตามที่ผมต้องการผมก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญ ว่าอะไรที่ผมต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนและอะไรที่ผมควรจะปล่อยผ่านไปก่อน ไม่งั้นจะไม่ได้สักอย่างเลย”

“ผมตระหนักดีว่าบางครั้งความแข็งกร้าวของผมนั้น ทำให้ผมต้องเสียเพื่อน เสียมิตร แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ผมต้องแลก เพื่อจะทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้”

สำหรับวิสัยทัศน์ต่อแนวทางในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า หลักการสำคัญ สรุปได้ใน 3 คำ คือ “ทำให้สำเร็จ” (GET THINGS DONE) คือการทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ และเตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับอนาคต เพื่อลูกหลาน ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนเป็นเส้นทางที่คนไทยจะต้องจับมือไปด้วยกัน รวมทั้งจับมือกับเพื่อนบ้านและสังคมโลกด้วย

หลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลหลายสมัยมีความยากลำบากในการเดินหน้าประเทศ ผลที่ตามมาคือ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย บนเวทีระดับโลกค่อยๆ ลดลง และคนไทยกว่า 70 ล้านคนสูญเสียโอกาสมากมาย

ขยายความกลยุทธ์ 3 แกนสำคัญ

แกนที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การมีระบบคมนาคมทางราง ทางถนน สนามบิน  ท่าเรือทางทะเล และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ทุกคนซื้อข้าวของต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง ทำสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น ค้าขายและบริการ ได้มากขึ้น ตลอดจนนำพานักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้มากขึ้น

แกนที่ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการเกษตรสมัยใหม่  อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต ประเทศไทยจะต้องรีบเตรียมความพร้อมและก้าวเข้าสู่เทรนด์โลกนี้ให้ได้  เพราะคือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของโลกในการสร้างความมั่งคั่ง สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างความกินดีอยู่ดีให้คนเป็นล้านๆ และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย เน้นย้ำว่า เราต้องเดินหน้าให้เร็วกว่าประเทศอื่น ในการดึงเอาฐานการผลิตยานยนต์มาในประเทศไทย ให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ที่สำคัญของโลกมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย และรักษาผู้ผลิตยานยนต์ปัจจุบันให้ยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป

แกนที่ 3 ภาคการธนาคาร โดยขอให้ธนาคารเร่งหาวิธีการใหม่ๆ ใช้ในการประเมินความสามารถของผู้กู้ ที่เป็นคนตัวเล็ก ธุรกิจค้าขายเล็กๆ และคนที่ทำมาหาเลี้ยงตัวเอง โดยพิจารณาบนพื้นฐานความสามารถ และความตั้งใจที่จะชำระคืนเงินกู้ เพื่อเปิดโอกาส ให้คนจำนวนหนึ่ง จาก 30 ล้านคน ที่ไม่เคยกู้เงินธนาคารได้ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง การเร่งเครื่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และภาคการธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี รัฐบาลกำลังเปิด 3 เส้นทางเชื่อมต่อกัน เรียกว่า “เชื่อมไทยเดินหน้า”

“ถึงแม้ว่าจะต้องเจอกับโรคระบาดร้ายแรง แต่เรายังคงสู้อยู่บนเส้นทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมายของเรา ผมต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาล ความใจสู้ของข้าราชการไทย ความไม่ยอมแพ้ของภาคเกษตรกรและภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือ สปิริตของคนไทย ที่พร้อมร่วมมือกัน และเต็มใจที่จะเสียสละบางอย่าง เพื่อประโยชน์ของประเทศในวงกว้าง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมทั้งยกตัวอย่างความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่ ภาคส่วนการธนาคาร โดยจะผลักดันให้ภาคการเงินของประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ภาคยานยนต์ไฟฟ้า ได้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง FOXCONN หนึ่งในผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุด ได้ยืนยันแล้วว่า จะตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ยืนยันแล้วเช่นกันว่า จะตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย จึงถือเป็นความสำเร็จที่ได้ปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงดูดผู้ผลิตรายใหม่ๆ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยนอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว ก็ยังมี MG, GWM, Volt และผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมายาวนาน อย่าง เบนซ์ และ TOYOTA ยืนยันจะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งจะทำสิ่งต่างๆ นี้ให้สำเร็จเรียบร้อย ภายในไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อทำสำเร็จประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ ในที่สุด

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและด้านดิจิทัล เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นจุดเชื่อมต่อทางทะเลทางหลักที่เชื่อมประเทศไทยกับโลก เป็นจุดที่รองรับมากกว่า 50% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทยและรองรับการส่งออกยานยนต์ และผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าให้ได้อย่างรวดเร็ว ขยายส่วนสำคัญของโครงการ โดยภายในเวลา 2 ปีข้างหน้า ท่าเรือแหลมฉบังจะมีขีดความสามารถในการให้บริการเพิ่มเติมอีกประมาณ 30% นอกจากนั้น ได้เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของท่าเรือขึ้นอีก 50% เพื่อรองรับการส่งออกยานยนต์ จากปัจจุบันรองรับการส่งออกได้ราว ๆ 2 ล้านคันต่อปี เพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อปี และจะสร้างท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นหนึ่งในห้า Gateway Port ที่ใหญ่ที่สุดของโลก รองรับเรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เป็นระยะทางที่มากกว่าระยะทางทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง และพลิกโฉมการเชื่อมต่อกับภูมิภาค ขนส่งได้เร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายถูกลง เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น กระจายความรุ่งเรืองไปทั่วประเทศ ตลอดจนขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง และกำลังสร้างเพิ่มอีกเท่าตัว ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกทั้ง จะทำให้ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับเดียวกับที่โตเกียว และใกล้เคียงกับที่ลอนดอน ในเรื่องของระยะทางและจำนวนสถานี

ส่วนในภาคพลังงาน รัฐบาลมุ่งหวังให้มีพลังงานเพียงพอ โดยจะสร้างขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณมากกว่า 80,000 เมกกะวัตต์ มีพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 16,000 เมกกะวัตต์  และให้กระทรวงพลังงานให้พิจารณาศักยภาพของในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม

ภาพจาก : ทำเนียบรัฐบาล

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า