Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ประเทศไทยเคยต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้นำสูงสุดของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เมื่อครั้ง สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เยือนประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 10-11 พ.ค. 1984 ( พ.ศ.2527)

ผ่านไป 35 ปี กำลังจะได้ต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ซึ่งจะเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่จะเยือนประเทศไทย ระหว่าง 20-23 พ.ย. นี้

พระสันตะปาปาทั้ง 2 ท่าน มีภาพลักษณ์ที่คล้ายกันอย่างมาก คือ มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เต็มไปด้วยความอบอุ่น ไม่ดูเคร่งขรึมจนเข้าถึงยาก ซึ่งความเหมือนนี้มีการวิเคราะห์กันว่า ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่อาจจะเป็นความจงใจในการคัดเลือกผู้นำของเหล่าพระคาร์ดินัล จากทั่วโลก (ตำแหน่งที่รองจากพระสันตะปาปา จะเป็นผู้คัดเลือกกันเองในกลุ่มพระคาร์ดินัลเพื่อเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป) เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของศาสนาคริสต์นิกายโรมัน คาทอลิก เดิมจะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม มีพิธีกรรม มีจารีต ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ดูจะมีปัญหาในการเข้าถึง (ถ้าเป็นกรณีของประเทศไทย ศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสแตนท์ เช่น คริสตจักรต่างๆ ดูจะเข้าถึงง่ายกว่า นิกายโรมันคาทอลิก คือ โบสถ์ต่างๆ ที่คนจะรู้สึกเกรงๆ กล้าๆ กลัวๆ ในการจะเข้าไป)

ภาพ catholicworldreport.com

การปรับตัวครั้งสำคัญร่วมสมัยของ นิกายโรมัน คาทอลิก คือ การที่ ช่วงปี 1962 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ให้ระดมเหล่าบิชอป (บาทหลวงระดับสูง) กว่า 2,500 คน มาคุยกันเรื่องปรับเปลี่ยนแนวทาง และมาเสร็จสิ้นในปี 1965 ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ซึ่งเรียกว่า สังคายนาวาติกันที่ 2 การเปลี่ยนแปลงส่วนสำคัญ คือ การลดช่องว่าง ระหว่างพระศาสนจักรกับโลกให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การประกอบพิธีกรรมจากภาษาลาติน กลายมาเป็นภาษาท้องถิ่น บทบาทของผู้ที่ไม่ใช่นักบวชที่เข้ามามีส่วนต่างๆ และข้อปฏิบัติต่างๆ อีกมากมาย

ผู้ที่เข้าร่วมในการสังคายนาวาติกันที่ 2 หลายท่าน ได้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบมา รวมทั้ง สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1978-2005 รวมกว่า 26 ปี นับเป็นพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดลำดับที่ 2 และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาลี ในรอบกว่า 450 ปี โดยท่านเป็นชาวโปแลนด์

คนร่วมสมัยจะจดจำภาพรอยยิ้ม ในลักษณะบิดาที่ใจดี การทำงานกับเยาวชน การทำงานเพื่อให้ศาสนาเข้าถึงคนกลุ่มต่างๆ การสถาปนาบุคคลจากประเทศต่างๆ ขึ้นเป็นนักบุญเพื่อให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวของชาวคริสต์ในประเทศนั้นๆ (กรณีของไทยคือ บุญราศีทั้ง 7 แห่งสองคอน และ บุญราศีบาทหลวงนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง ซึ่งบุญราศี ถือเป็นขั้นแรกของการเป็นนักบุญ)

รวมทั้งการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ 129 ประเทศตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่ง รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

วันที่ 10 พ.ค. 1984 (พ.ศ.2527) เครื่องบินของสมเด็จพระสันตะปาปา ลงจอด ณ ท่าอากาศยานทหารกองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง จากนั้นได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก่อนจะประกอบพิธีมหาบูชามิสซาสำหรับคริสตศาสนิกชนชาวไทย ที่สนามศุภชลาศัย

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

วันที่ 11 พ.ค. 1984 ไปยังศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ณ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี, ไปยังสามเณราลัย นักบุญยอแซฟ สามพราน จ.นครปฐม เพื่อประกอบพิธีมหาบูชามิสซา และเป็นประธานในพิธีบวชบาทหลวงใหม่จำนวน 23 องค์ ก่อนจะไปในงานสโมสรสันนิบาตที่รัฐบาลจัดถวายพระเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และเยี่ยมโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และกลับกรุงโรมในค่ำคืนนั้น

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

คำกล่าวตอนหนึ่ง ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีความว่า

“ข้าพเจ้าทราบดีว่า การพำนักในประเทศไทยครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นแต่ก็จะเป็นการให้โอกาสได้ประสบด้วยตนเองถึงคุณค่าอันหยั่งลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของชีวิตทางสังคมและทางวัฒนธรรม อีกทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย การได้อาคันตุกะของประเทศซึ่งยึดถือว่า เสรีภาพเป็นคุณลักษณะอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของประชากรนั้น คือเกียรติอันยิ่งใหญ่โดยแน่แท้ในโลกปัจจุบันของเรานี้ ประวัติความเป็นไทของประเทศไทย และจิตตารมณ์โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอันเลื่องชื่อของประเทศไทยเป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างลึกซึ้งของครอบครัวมนุษยชาติในอันที่จะเจริญชีวิตอยู่ในสันติสุข ในความสามัคคีกลมเกลียว และในความเป็นพี่น้อง โดยเฉพาะการที่สมเด็จบรมพิตรทรงเคารพสิทธิของมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางศาสนานั้น นำเกียรติอย่างไพศาลมาสู่ประเทศของสมเด็จบรมพิตร”  (http://www.catholic.or.th/popejohnpaulII/visit/page3.html)

หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ในปี 2005 เหล่าพระคาร์ดินัล ได้เลือกให้ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ชาวเยอรมัน ทำหน้าที่ต่อ ซึ่งภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างเคร่งขรึม และขึ้นดำรงตำแหน่งตอนอายุมากแล้ว (78 ปี) ทำให้เกิดภาพตัดกับช่วงเวลาก่อนหน้าพอสมควร หลังดำรงตำแหน่งได้ 7 ปีกว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงสละตำแหน่ง ในปี 2013 ด้วยปัญหาสุขภาพ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี เพราะตามธรรมเนียม สมเด็จพระสันตะปาปาจะอยู่ในตำแหน่งจนสิ้นพระชนม์

By Edgar Jiménez from Porto, Portugal – Papa rock star, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=26680499

ผู้ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อมาก็คือ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ซึ่งเป็นชาวอาร์เจนติน่า จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งมาจากทวีปอเมริกา แต่สิ่งที่หลายพูดตรงกันก็คือ ภาพลักษณ์ที่อบอุ่นและเป็นกันเองของท่าน ที่เหมือนกับ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งอยู่ในใจของใครหลายๆ คน (ชั้นตอนในการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ใช้การลงคะแนน 5 รอบ คลิกอ่านได้ ที่นี่)

บาทหลวงยอแซฟ อนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า บทบาทของพระสันตะปาปาแต่ละองค์คือความเหมาะสมแต่ละช่วงเวลาตามพระประสงค์ของพระเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ทรงโอบรัดคนทั้งโลก สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 สานงานต่อและเน้นไปที่เรื่องข้อคำสอนและหลักเทวศาสตร์ เพื่อจะได้ส่งต่อให้ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ได้นำกฎเกณฑ์เหล่านั้นไปปรับใช้กับยุคปัจจุบัน

“สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ท่านไม่ได้ล้มเลิกกฎต่างๆ แต่ได้ทำให้สิ่งเหล่านี้ยืนอยู่บนโลกของความจริงได้ จากแต่ก่อนที่มองที่ความผิด ความบาปแล้วกันออกไป มาเป็นการเปิดประตูให้เข้ามาอยู่รวมกัน แล้วค่อยๆ แก้ไขกันไป พระศาสนาจักรเป็นบ้านแห่งความรักความเมตตาของคนทุกคนที่อยู่รวมกัน”

ในช่วงเวลานี้เองที่ผู้ที่รักเพศเดียวกัน แม้พระศาสนจักรยังยืนยันไม่อนุญาตให้แต่งงานกันได้ แต่ก็เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษญ์โดยไม่กีดกัน รวมถึงคู่สมรสที่หย่าร้างไปแต่งงานใหม่ ซึ่งเดิมไม่ได้รับการยอมรับ ก็ได้พยายามให้อยู่ร่วมมากกว่าจะผลักไสออกไป

ความร่วมสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ยังอยู่ที่การเทศน์สอนและการให้สัมภาษณ์ ที่เข้าถึงคนปัจจุบัน เช่น การบอกว่า ความทรงจำของพระเจ้าไม่มีฮาร์ดดิสก์ไว้บันทึกเก็บข้อมูลของเรา มีแต่ความเมตตากรุณาที่มอบให้เรา

https://www.popereport.com/

อีกหนึ่งความประทับใจ คือ เมื่อ 15 เม.ย. 2018 สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ไปที่โบสถ์ซาน เปาโล เดลล่า โครเช ในกรุงโรม ก่อนเริ่มมิสซา พระสันตะปาปาทรงพบและพูดคุยกับทุกคน หนึ่งในนั้นคือ “มานูเอล” เด็กน้อยผู้น่าสงสารคนนี้ ที่ยกมือขึ้นถามคำถามพระสันตะปาปา แต่เอาเข้าจริง มานูเอลเกิดอาการพูดไม่ออกและเริ่มน้ำตาไหล

พระสันตะปาปาจึงตรัสกับเขาว่า ‘พูดมาเลย’
มานูเอล ‘ไม่ครับ ผมพูดไม่ออก’
พระสันตะปาปา ‘งั้นเดินมานี่ มากระซิบข้างหูพ่อ’
มานูเอลเดินขึ้นไปกระซิบ และกอดพระสันตะปาปา
จากนั้น พระสันตะปาปาตรัสแบ่งปันทุกคนว่า ‘เมื่อกี้ พ่อขออนุญาต มานูเอล แล้วว่า ขอแบ่งปันคำถามที่เขาถามให้ทุกคนรู้ได้ไหม มานูเอลบอกว่าได้ พ่อจะขอเล่าให้ทุกคนฟังเหมือนกันนะ

‘มานูเอลบอกว่า พ่อของเขาเสียชีวิตแล้ว แต่เขาอยากรู้ว่า พ่อของเขาอยู่บนสวรรค์ไหม เพราะพ่อของมานูเอลไม่ได้รับศีลล้างบาป แต่เป็นคนดี … พ่อ(พระสันตะปาปา) จึงตอบเขาไปว่า พ่อของเธออาจไม่มีพระพรแห่งความเชื่อ แต่เขามีลูกที่ได้รับศีลล้างบาปนะ หัวใจของพระเจ้าจะเป็นแบบไหนล่ะสำหรับพ่อที่มีลูกแบบนี้’

https://www.popereport.com/2018/04/blog-post_66.html

วันที่ 20-23 พ.ย. นี้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับชาวคาทอลิกและผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ในการได้ต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 2 ที่มาเยือนประเทศไทย ไม่ว่าจะในฐานะอาคันตุกะของประเทศ หรือบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลก

กำหนดการเยือนประเทศไทย

20 พ.ย.

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เดินทางจากกรุงโรม ประเทศอิตาลีถึงกองทัพอากาศ ดอนเมือง ในเวลา 12.30 น. และมีพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ

21 พ.ย.
– สมเด็จพระสันตะปาปา พบกับนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
– เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
– พบปะบุคลากรทางการแพทย์ในเครือคาทอลิกที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ – เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
– พิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อประชาสัตบุรุษ ที่สนามศุภชลาศัย

22 พ.ย.
– พบกับคณะบาทหลวงนักบวชชายหญิง ที่โบสถ์นักบุญเปโตร อ.สามพราน จ.นครปฐม
-พบกับบิชอปของไทยและของสหพันธ์บรรดาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) ณ สักการะสถานบุญราศีนิโคลัสบุญเกิด กฤษบำรุง
– พบกับคณะนักบวชเยซุอิตที่ทำงานในเมืองไทย
– พบผู้นำคริตชนต่างนิกายและผู้แทนนับถือศาสนาอื่นๆในประเทศไทยพร้อมกับบรรดาผู้นำสถาบันอุดมศึกษาคณาจารย์นิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– พบเยาวชนและจัดพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญบางรัก

23 พ.ย.เดินทางจากกรุงเทพสู่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น

สำหรับการเยือนประเทศในเอเชียครั้งนี้ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เป็นครั้งที่ 4 หลังจากเยือนเกาหลีใต้ (2014) ศรีลังกาและฟิลิปปินส์ (2015) เมียนมาและบังคลาเทศ (2017) และเป็นครั้งที่ 32 ที่เดินทางไปเยี่ยมอภิบาลนอกประเทศอิตาลี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า