SHARE

คัดลอกแล้ว

“มิสซังสยามสามร้อยห้าสิบปี จากดินแดนที่มิชชันนารีเพียงผ่าน”

เนื้อร้องท่อนแรกของเพลง “มิสซังสยามสามร้อยห้าสิบปี” ซึ่งแต่งขึ้นในวาระพิเศษของการฉลองการที่คริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก เริ่มเผยแผ่คำสอนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ค.ศ.1669 และครบ 350 ปีในปี ค.ศ.2019 นี้

ภาพ สังฆมณฑลอุบลราชธานี

เหตุการณ์ในครั้งนั้นคือ ปี 1662 มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา ตั้งใจเดินทางผ่านสยาม ไปยังประเทศจีน โคจินจีน (เวียดนามใต้) และตังเกี๋ย (เวียดนามเหนือ) แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เพราะปลายทางเกิดการเบียดเบียนศาสนา จึงต้องหยุดพักรอที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อพบว่าที่นี่ คือ ดินแดนที่สงบสุขและเปิดกว้างทางศาสนา จึงได้ตัดสินที่เริ่มต้นประกาศคำสอนยัง “ดินแดนที่เพียงตั้งใจจะผ่าน” ตั้งแต่นั้น

หลังจากขออนุญาตไปที่กรุงโรม เพื่อลงหลักปักฐานภารกิจในสยาม พระสันตะปาปาเคลเมนส์ที่ 9 ก็ได้มีเอกสารทางการเมื่อปี 1669 ให้มี “มิสซังสยาม” (มิสซัง – Mission คือการส่งผู้แทนออกไปทำงานในนามพระสันตะปาปา) ขึ้นและแต่งตั้ง ให้ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา (ตำแหน่งพระสังฆราช คือคำเรียกเดิม ปัจจุบันใช้ว่า มุขนายก หรืออาจทับศัพท์ว่า บิชอป)

ศาสนาคริสต์เจริญก้าวหน้าขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการขยายไปตามเขตแดนต่างๆ ของอาณาจักร มีการเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงโรมและประเทศฝรั่งเศส

(อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ศาสนาคริสต์เข้ามาในสยามก่อนแล้วจาก มิชชันนารีชาวโปรตุเกส ในปี 1567 ช่วงก่อนจะเสียกรุงครั้งแรกเพียง 2 ปี และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย หลังจากนั้นก็มีมิชชันนารี เข้ามาเป็นระยะ ความเหมือนและความต่างของมิชชันนารีกลุ่มนี้กับกลุ่มที่เข้ามาในปี 1662 คือ เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาเช่นเดียวกัน แต่กลุ่มปี 1662 มาในฐานะผู้รับมอบอำนาจโดยตรงจากพระสันตะปาปา จึงมีผลให้การนับหนึ่งของมิสซังสยามคือ ปี 1669 ที่มีเอกสารแต่งตั้งทางการ)

แต่ปัจจัยทางการเมืองและการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องแต่ละช่วงเวลาก็ส่งผลต่อการขึ้นและลง ของเส้นทางความสัมพันธ์ทางศาสนา เช่น การรัฐประหารของพระเพทราชา ที่มีการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากอาณาจักรก่อนจะให้กลับเข้ามาใหม่

โบสถ์ซางตาครู้ส

รวมไปถึงผลกระทบจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่โบสถ์ถูกเผาทำลาย พระสังฆราชปิแอร์ บีโกต์ และชาวคริสต์ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย จนมาฟื้นตัวใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานที่ดินสร้างโบสถ์ซางตาครู้ส (ก่อนจะมีเหตุพิพาทขับไล่มิชชันนารีออกนอกประเทศอีกครั้ง)

จนมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ งานด้านคริสตศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก ก็กลับมาฟื้นฟูอีกครั้งและขยายตัวขึ้น บุคคลสำคัญคนหนึ่ง คือ พระสังฆราชยัง บัปติสต์ ปัลเลอกัว ที่เข้ามาเป็นผู้ดูแลมิสซังสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และได้เป็นพระสหาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ด้วยการที่โบสถ์คอนเซ็ปชันที่พักอยู่และวัดราชาธิวาส ที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏผนวชอยู่ อยู่ใกล้กันและด้วยการที่ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้มีความรู้สนใจศาสตร์ด้านต่างๆ จึงแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างต่อเนื่อง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุญาตให้ชาวสยามมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และให้มิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเสรี และต่อเนื่องมายังสมัยต่อมา ก่อนจะสะดุดในช่วง เหตุการณ์ ร.ศ.112 ที่สยามมีปัญหากับฝรั่งเศส คริสตศาสนาจึงกลายเป็นศาสนาของศัตรูไปด้วย

เหตุลักษณะเดียวกันอีกครั้งในช่วงสงครามอินโดจีน มิชชันนารีฝรั่งเศสต้องเดินทางออกนอกประเทศ มีบาทหลวงถูกจำคุก มีชาวบ้านคาทอลิกที่หมู่บ้านสองคอน ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา แต่ไม่ยินยอมและถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ต่อมาได้รับประกาศจากสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ให้เป็นบุญราศี (ขั้นต้นของผู้ที่จะได้รับการประกาศเป็นนักบุญ หรือเซนต์)

และมีกรณีของบาทหลวงนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ที่ถูกจำคุก 15 ปี ที่บางขวางในข้อหากบฏเป็นแนวร่วมของฝรั่งเศสและถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรค และได้รับการประกาศให้เป็นบุญราศีเช่นกัน

หลังผ่านวิกฤตใหญ่งานด้านศาสนาได้รับการสานต่อ มีการแต่งตั้งบาทหลวงชาวไทยเป็นผู้ดูแลศาสนจักรในประเทศไทย และมีการแต่งตั้งพระคาร์ดินับองค์แรกที่เป็นคนไทย คือ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (พระคาร์ดินัลคือตำแหน่งระดับสูงผู้มีมีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งและเป็นผู้ร่วมกันลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปา) และท่านที่ 2 คือ พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ซึ่งเป็นผู้นำของชาวคาทอลิกไทย คนปัจจุบัน

 

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ภาพ หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

เหตุการณ์สำคัญร่วมสมัย คือ การที่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 เยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. 1984 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของประเทศไทย ที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมัน คาทอลิก ประมาณ 3 แสนคน ที่ได้รับโอกาสในการต้อนรับอย่างใกล้ชิด

ในโอกาสครบ 350 ปีมิสซังสยาม และ 50 ปี แห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะเป็นผู้นำสูงสุดของชาวคาทอลิก องค์ที่ 2 ที่จะมาเยือนประเทศไทย ระหว่าง 20-23 พ.ย. นี้

กำหนดการเยือนประเทศไทย

20 พ.ย.

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เดินทางจากกรุงโรม ประเทศอิตาลีถึงกองทัพอากาศ ดอนเมือง ในเวลา 12.30 น. และมีพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ

21 พ.ย.
– สมเด็จพระสันตะปาปา พบกับนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
– เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
– พบปะบุคลากรทางการแพทย์ในเครือคาทอลิกที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ – เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
– พิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อประชาสัตบุรุษ ที่สนามศุภชลาศัย

22 พ.ย.
– พบกับคณะบาทหลวงนักบวชชายหญิง ที่โบสถ์นักบุญเปโตร อ.สามพราน จ.นครปฐม
-พบกับบิชอปของไทยและของสหพันธ์บรรดาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) ณ สักการะสถานบุญราศีนิโคลัสบุญเกิด กฤษบำรุง
– พบกับคณะนักบวชเยซุอิตที่ทำงานในเมืองไทย
– พบผู้นำคริตชนต่างนิกายและผู้แทนนับถือศาสนาอื่นๆในประเทศไทยพร้อมกับบรรดาผู้นำสถาบันอุดมศึกษาคณาจารย์นิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– พบเยาวชนและจัดพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญบางรัก

23 พ.ย.เดินทางจากกรุงเทพสู่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น

สำหรับการเยือนประเทศในเอเชียครั้งนี้ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เป็นครั้งที่ 4 หลังจากเยือนเกาหลีใต้ (2014) ศรีลังกาและฟิลิปปินส์ (2015) เมียนมาและบังคลาเทศ (2017) และเป็นครั้งที่ 32 ที่เดินทางไปเยี่ยมอภิบาลนอกประเทศอิตาลี

ข้อมูลอ้างอิง หนังสือ 350 ปี สถาปนามิสซังสยาม ค.ศ1669-2009

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า