เคาะมาตรการเยียวยาลดผลกระทบทางเศรษฐกิจช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครม.เศรษฐกิจ เตรียมแจกเงินผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ฟรีแลนซ์ คนละ 2 บาท เป็นเวลา 2 เดือน พร้อมมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี
วันที่ 6 มีนาคม คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานให้ความเห็นชอบ มาตรการชุดที่ 1 ลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ (โควิด-19)
โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การให้เงินแก่ 1.ผู้มีรายได้น้อย, 2.เกษตรกร และ 3.ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ คนละ 2,000 บาท โดยจะให้เป็นเวลา 2 เดือน เดือนละ 1,000 บาท
ส่วนตัวเลขจำนวนผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจะสรุปอีกครั้ง โดยจะนำผลประชุมวันนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ในวันอังคารที่ 10 มีนาคม คาดเริ่มแจกได้ในเดือนเมษายน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้แยกแยะให้ออก ถ้าโจมตีทุกเรื่องมันก็ไปกันไม่ได้ ขอให้เข้าใจมาตรการระยะสั้นแค่ 2 เดือนเอง ไม่ใช่แจกไปเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย และไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ดีแต่แจกเงิน ช่วงนี้เราต้องเห็นใจผู้มีรายได้น้อยด้วย เพราะเขาไม่มีรายได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้างล่างผู้ค้าขาย ร้านเล็กๆ ที่ขายอาหารต่างๆ กลุ่มพวกนี้ เราต้องดูอีกส่วนนอกเหนือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มีคลิป)
ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจ ยังใช้ความเห็นชอบมาตรการอื่นๆ ดังนี้
มาตรการทางเงิน
-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ธนาคารออมสินปล่อยกู้ธ.พาณิชย์ ดอกเบี้ย 0.01 % ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2 %
-แบงก์ชาติปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดเวลาชำระหนี้สูงสุด 12 เดือน ครอบคลุมผู้ประกอบการขนาดใหญ่, เอสเอ็มอี, บุคคลทั่วไป หนี้บัตรเครดิตลดการจ่ายชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ของหนี้
มาตรการภาษี
– ปรับลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายลง
– ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำดอกเบี้ยเงินกู้หักลดหย่อนภาษีได้
– ให้นายจ้างเอสเอ็มอี นำค่าใช้จ่ายเงินเดือนที่จ่ายให้กับลูกจ้าง หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า (ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 1 ก.ค. 2563)
– เร่งคืนภาษีให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ หากยื่นแบบทางออนไลน์ ได้คืนภายใน 15 วัน, ยื่นแบบปกติกับสรรพากร ได้คืนภายใน 45 วัน