SHARE

คัดลอกแล้ว

ปรีชา ปัดภัย นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ไฟแรง จากแดนอีสาน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการเพลงอีสานอินดี้  เล่าถึงเส้นทางของการเป็นนักแต่งเพลง ที่ประสบความสำเร็จจากเพลงดังมากมาย ด้วยความโดดเด่น สวยงามของการถ่ายทอดภาษาอีสานผ่านบทเพลง ได้อย่างลึกซึ้ง เป้าหมายของการเดินบนเส้นทางนักแต่งเพลงของ ปรีชา ปัดภัย คือการทำเพลงดี ให้เพลงดัง แต่ที่สำคัญต้องรับผิดชอบสังคมด้วย         

ติ๊ก ปรีชา ปัดภัย (นักแต่งเพลง)

                  “นอกจากคำว่าเขียนอย่างไรให้ดัง ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

เพลงอีสานอินดี้ กลายเป็นคำที่หลายคนคุ้นหูไปแล้ว เพราะปัจจุบันถือว่าเป็นยุคที่เพลงแนวนี้เฟื่องฟูมากในตลาดเพลงอีสาน แต่เมื่อคนอีสานกระจายตัวเข้าไปอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เพลงเหล่านี้ โด่งดังและได้ยินไปทั่วประเทศเช่นกัน บางเพลงที่ติดอยู่ในกระแส สามารถสร้างยอดวิวในยูปทูบหลายร้อยล้านเลยทีเดียว

ติ๊ก ปรีชา ปัดภัย  นักแต่งเพลงน้ำดีจากแดนอีสาน  ที่หลายคนในวงการเพลงยกให้เป็นเจ้าพ่อแห่งเพลงอีสานอินดี้ จากผลงานที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง มีเอกลัษณ์ในเรื่องของการเลือกใช้คำ ใช้ภาษาอีสานที่สละสลวย รวมไปถึงท่วงทำนองผสมผสาน ที่ตอบโจทย์ตลาดเพลงอีสานอินดี้ ได้อย่างลงตัว แต่คำว่าเพลงอีสานอินดี้นั้น อาจจะยังไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวชัดเจน อย่างเพลงร็อก เพลงป๊อป เพลงลูกทุ่ง หรือเพลงหมอลำ

เพลงอีสานอินดี้ ในมุมมองของ ปรีชา ปัดภัย 

เพลงอีสานอินดี้ คือการไม่จำกัดกรอบเรื่อง ไม่จำกัดแนวคิด และดนตรี มันเป็นแนวเพลงที่กลายพันธุ์มาจากเพลงลูกทุ่งอีสาน แปลงออกมาเป็นได้หลากหลายแนวอย่างเช่น อีสานอินดี้ อีสานเรกเก้ ก็ได้ ซึ่งมีการผสมผสานใส่ดนตรีแนวอื่นๆลงไปด้วย แต่มีกลิ่นไอ มีเสน่ห์ของความเป็นอีสานด้วยเนื้อร้อง และการผสมผสานเรียบเรียง จะคล้ายกับเพลงสตริง หรือลูกทุ่งอีสาน สามารถทำได้หลากหลายมาก อยู่ที่ลายดนตรีที่เรานำมาประดิษฐ์ใช้

 เพลงระเบิดเวลา ผลงานสร้างชื่อ ทะยานสู่ 300 ล้านวิว

เพลงระเบิดเวลา เป็นเพลงที่ถ่ายทอดจากความรู้สึก และชีวิตจริงของ ปรีชา ปัดภัย ร้อยเปอร์เซ็น ปรีชาเล่าว่า ตอนนั้นชีวิตอยู่ในช่วงที่กำลังจะเลิกกับแฟน เป็นความรู้สึกเจ็บปวดกับความเฉยชาที่เขาปฏิบัติต่อเรา เราพยายามยามที่จะยื้อเวลา แต่เหมือนเวลามันไม่เดินต่อไปข้างหน้า เหมือนเป็นการนับถอยหลัง รอวันระเบิด ในท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “อ้ายวิ่งไขว่คว้าตามใจเจ้าคืน น้องกะบืนหนีใส่เกียร์ถอย ได้แต่มองฮักที่หลุดลอย รอถึงวันเลิกรา”  คล้ายกับการพยายามวิ่งตามบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ของเรา เมื่อเราถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับเรา แต่การถ่ายทอดออกไปเป็นเพลงนั้น มันต้องทำให้คนทั่วไปเชื่อในสิ่งที่เราเล่า ในมุมมองของคนทั่วไป ที่เขาเคยเป็นหรือกำลังเป็นด้วย หากเรารู้สึกเจ็บ จะถ่ายทอดอย่างไรให้คนรู้สึกว่า เจ็บจริงๆ  ฟังทีไรให้เขาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะสื่อสาร  เพราะยังมีเพลงอื่นๆเกิดขึ้นมากมายที่กำลังเล่าถึงสถานการณ์ที่คล้ายกัน หรือเหมือนๆกันกับเรา  ทำอย่างไรให้เกิดความแตกต่างกับเพลงอื่นๆ   เนื้อหาส่วนใหญ่แล้ว ถ้าพูดถึงความรัก มันขายได้  ประสบการณ์มีส่วนสำคัญในการเขียนเพลงให้เข้าถึงคน ทำให้เพลงนี้โด่งดัง เป็นผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับ ปรีชา ปัดภัย ยอดวิวในยูทูปทะยานสู่ 300 ล้านวิวแล้ว อีกทั้งยังมีนักร้อง ยูทูปเบอร์นำไปคัฟเวอร์มากมาย ปรีชา ปัดภัยมองว่า เมื่อเพลงที่เราทำโด่งดังได้ในระดับนี้ มันก็เป็นเหมือนขั้นบันไดหนึ่งขั้น ที่ทำให้เราก้าวต่อไปในเส้นทางนี้

ติ๊ก ปรีชา ปัดภัย (นักแต่งเพลง)

ใครก็เป็นนักแต่งเพลงได้ ถ้าพยายามมากพอ

12 ปี กับการพาตัวเองเข้ามาคลุกคลีอยู่ในวงการเพลง  ปรีชา ปัดภัย อยู่เบื้องหลังเพลงฮิตของศิลปินดัง อย่าง ศาล ศาลศิลป์ , บอย พนมไพร , กวาง จิรพรรณ , ลำเพลิน วงศกร , ออย แสงศิลป์ พร้อมทั้งยังเป็นศิลปินที่แต่งเพลงเอง ร้องเองอีกด้วย โดย ปรีชา ปัดภัย เล่าว่าต้นทุนของการเป็นนักแต่งเพลงของตน คือการที่ได้เข้าไปเป็นนักร้องในผับ อยู่กับเพลงดังๆมาเยอะ ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง เพลงไหนดีมันจะอยู่ในหัวตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะหยิบจับ มองเห็นอะไรจากเพลงดังนั้น มาปรับใช้ในงานของเรา เพราะอีกสิ่งที่สำคัญของการจะเป็นนักแต่งเพลง คือต้องฟังเพลงเยอะๆ มีเวลาฟังเพลงให้มาก หากเพลงที่มีอยู่มีทำนองแบบนี้ และไปคล้ายกับที่เพลงอื่นมีอยู่แล้ว มันจะเป็นข้อด้อยของเพลงทันที ความยากของการแต่งเพลงคือการหามุมมองใหม่ๆเสมอ ใส่คำที่ทำให้คนจำได้เยอะที่สุดลงไปในนั้น เพื่อให้แตกต่างจากเพลงตลาดอื่นๆ ทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้คนฟัง ฟังแล้วอยากฟังซ้ำ

สไตล์การแต่งเพลงของ ปรีชา ปัดภัย คือการเริ่มหามุมมองก่อน พอได้มุมมอง ได้ชื่อเพลง ให้คิดต่อว่าเรื่องนั้นมันจะเดินทางต่อไปอย่างไร เมื่อได้แล้วก็จะแต่งเนื้อร้องไปพร้อมๆกับทำนอง พยายามสะสมคำ สะสมแค็ปชั่น ที่เราชอบ ที่ฟังดูแล้วมันโดนใจ คนใช้น้อย รวมถึงการหาเมโลดี้ที่มันเพราะๆไว้มาเป็นทุน ในแต่ละเพลงสแกนหาแก่นแท้ของมันให้ได้ แล้วใช้คำที่เราสะสมไว้มาร้อยเรียง

ใครก็เป็นนักแต่งเพลงได้ ส่วนตัวของ ปรีชา ปัดภัย เห็นด้วยกับคำนี้ แต่เราต้องให้เวลากับมันมากๆ ต้องใช้เวลาขัดเกลาตัวเอง หาอะไรมาต้องคม ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ ให้เจอจุดบกพร่องของตัวเอง ความพยายามจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การเป็นนักแต่งเพลง มันคือเส้นทางวัดใจ บางคนอยากเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบแล้วก็ไปไม่รอด เราต้องเห็นเป้าหมายของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ถ้าจะทำต้องทำให้ถึงที่สุด อย่าทำเพียงเพราะว่าทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น และถ้าเราไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเอง มันก็จบ ทุกอย่างจะคัดกรองคนที่จะเข้ามาเป็นนักแต่งเพลงเอง

นอกจากคำว่าเขียนอย่างไรให้ดัง ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ในตลาดเพลงอีสาน บ่อยครั้งที่หลายคนจะได้ยินเพลงประเภท สองแง่ สามง่าม ที่กลายเป็นเพลงฮิตติดปาก ไปในทุกเพศทุกวัย ด้วยการใส่คำที่จำได้ง่ายๆ กับดนตรีจังหวะสนุกๆลงไป บางเพลงถึงขั้นมีเนื้อหาล่อแหลมเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือมีคำหยาบ  แม้ว่าจะตั้งใจสื่อสารออกไปแบบนั้น หรือไม่ได้ตั้งใจ แต่คนฟังได้ตีความออกไปแบบนั้นแล้ว จนเกิดข้อถกเถียงในสังคม ว่าเพลงเหล่านี้จะสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับเด็กและเยาวชน มองว่าเป็นเรื่องเสียหาย แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มคนที่มองว่า การฟังเพลงฟังประเภทนี้ ฟังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เพลงหนึ่งเพลงไม่สามารถสร้างความเสื่อมเสียให้สังคม หรือทำให้เด็กและเยาวชนฟังแล้วไปทำเรื่องเสียหายได้

ปรีชา ปัดภัย มองเรื่องนี้ว่า ความใส่ใจในเรื่องของภาษา และพวกคำล่อแหลม คำหยาบคาย เป็นสิ่งที่นักแต่งเพลงต้องคำนึงถึง  เพราะบางครั้งภาษามันเป็นอันตรายต่อเด็ก ในยุคสมัยที่เด็กสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่ายมาก จากสื่อที่มีอยู่ในมือ “นอกจากคำว่าเขียนอย่างไรให้ดัง ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” จริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้แต่ง ในยุคเก่าๆ ก็มีเพลงในลักษณะ สองแง่ สามง่าม เหมือนกัน แต่มันจะมีความสละสลวยของภาษาที่ใช้ ไม่โจ่งแจ้งเหมือนสมัยนี้ มันอาจจะขาดการวิเคราห์ นี่คือจรรยาบรรณที่นักแต่งเพลงต้องมี ต้องมีความพอดีในการใส่ลูกเล่นพวกนี้ลงไป เอาแค่พองาม ให้เกิดความสนุกสนาน หากเพลงที่มีคำหยาบอยู่ในนั้น คำบางคำที่เอาไปใช้ออกสื่อ พอออกสื่อได้แล้ว จะถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันมีผลมาก ที่คำหยาบพวกนี้จะกลายเป็นคำธรรมดา ที่พูดออกสังคมได้อย่างธรรมดา หากเกิดผลเสียมาแล้ว มาปกป้องทีหลัง มันจะกลายเป็นตราบาปของสังคม หากเพลงไหนที่ผ่านการคิดวิเคราห์ออกมาแล้ว เพลงนั้นจะกลายเป็นน้ำดี  อย่าให้มีอะไรที่แฝงอยู่ในเพลงมันทำลายสังคม เราไม่จำเป็นต้องขายมุมแบบนั้นก็ได้ แล้วเพลงเราจะดูมีคุณค่า ตั้งใจทำเพลงที่มีพลังด้านบวก คิดผสมผสานกับความเป็นเพลงตลาดลงไปด้วย  เราทำเพลงดี ให้เพลงดัง ที่สำคัญต้องรับผิดชอบสังคมด้วย

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า