SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพจาก หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม

พล.อ.เปรม ติณสูลานท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 8 ปี 5 เดือน ในช่วงที่การเมืองไทยยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ยังต้องพึ่งพานายกรัฐมนตรีคนนอก

ก่อนการยุบสภาครั้งสุดท้าย 29 เม.ย.2531 รัฐบาลได้รับความกดดันหนัก ด้านหนึ่งคือฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกด้านมาจากปัญหาภายในของหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดความขัดแย้งภายในอย่างหนัก ระหว่างกลุ่มของหัวหน้าพรรค พิชัย รัตตกุล กับอดีตเลขาธิการพรรค วีระ มุสิกพงศ์ ทั้งเรื่องของการตัดสินใจใช้เงินพรรคและโควต้ารัฐมนตรี จนเกิด “กลุ่ม 10 มกรา” ซึ่งเป็นตำนานความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในพรรค

ชื่อกลุ่มมาจากการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ระหว่าง พิชัย รัตตกุล กับ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 ม.ค. 2530 ซึ่ง พิชัย ยังคงชนะ ส่วนฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ยังอยู่ร่วมพรรคต่อไปด้วยความอึดอัด

ในขณะนั้นรัฐบาลกำลังผลักดันกฎหมายสำคัญ คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ แต่มีสัญญาณจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า “กลุ่ม 10 มกรา” จะโหวตสวนมติของรัฐบาล

พล.อ.เปรม และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ภาพจาก หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม

พล.อ.เปรม ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการตั้งวิปรัฐบาลเพิ่มเพื่อให้มีการประสานงานให้ราบรื่น ใน 4 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร

ที่สุดแล้วในวันพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ในที่ประชุมสภาที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการอภิปรายสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 2 กลุ่ม พูดเสียดสีกัน และหัวเราเยาะกันเอง

สุดท้ายในการลงมติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ “กลุ่ม 10 มกรา” รวม 32 คนก็ยกมือค้านร่วมกับฝ่ายค้านจริงๆ

แม้ผลการลงมติกฎหมายจะยังผ่านด้วยคะแนน 183-134 เสียง แต่รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ 16 คนรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออกต่อ พล.อ.เปรม เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2531

ภาพจาก หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม

ส่วน พล.อ.เปรม ก็ตัดสินใจยุบสภาในวันเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ระบุในพระราชกฤษฎีกา ตอนหนึ่งว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก”

วีระ มุกสิกพงษ์ แกนนำกลุ่ม 10 มกรา ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ทางกลุ่มค้านเพราะเข้าใจเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นอย่างดี เห็นว่าเร็วเกินไป เมืองไทยยังเตรียมตัวไม่พร้อม แต่รัฐบาลพยายามทำตามสหรัฐอเมริกาที่กดดันให้ออกกฎหมายให้เร็ว จึงต้องโหวตคัดค้าน ซึ่ง พล.อ.เปรมก็เคยเรียกไปถาม ก็ได้ชี้แจงไปก่อนแล้วว่าจะไม่โหวตให้ ซึ่งท่านก็รู้

หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป 24 ก.ค.2531 พรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคเดิมรวมเสียงได้ 210 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 357 เสียง ต่อมารวมกับพรรคสหประชาธิปไตยอีก 1 พรรค เป็น 5 พรรค

พล.อ.เปรม กับ พล.ต.ชาติชาย ซึ่งจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภาพจาก หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม

หัวหน้าพรรคทั้งหมดเดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ในวันที่ 27 ก.ค. พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวเชิญ พล.อ.เปรม ให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

“พูดในนามพรรคชาติไทยหรือ” พล.อ.เปรมถามกลับ

พล.ต.ชาติชาย ชี้แจงว่าพูดในนามพรรคร่วมทุกพรรคที่มาวันนี้เพื่อเชิญท่านเป็นนนายกรัฐมนตรี

คำตอบกลับจาก พล.อ.เปรม คือ “ขอขอบคุณ” “ผมขอพอ” “ขอให้ช่วยประคับคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย”

เป็นคำตอบที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะได้รับ แม้จะได้รับการอ้อนวอน แต่ พล.อ.เปรม ก็ปฏิเสธด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

พล.อ.เปรม เตรียมตัวก่อนบันทึกเทปอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภาพจาก หนังสือ รัฐบุรุษชื่อเปรม

ค่ำวันที่ 5 ส.ค. 2531 พล.อ.เปรม กล่าวคำอำลาประชาชนผ่านทางโทรทัศน์ มีถ้อยความตอนหนึ่งว่า

“โดยส่วนตัวผมเองแล้ว ผมเจียมตัวและเจียมใจเสมอ ไม่เคยมีความทะเยอทะยานทางการเมือง และไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”

“การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สนุกและเหนื่อย แต่เมื่อต้องเข้ามารับหน้าที่แล้ว ผมก็พร้อมที่จะเหนื่อยและทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ทุกอย่างด้วยความกล้าหาญและอดทน”

“การทำงานของรัฐบาลหรือของใครก็ตามย่อมมีสิ่งที่สำคัญสองสิ่งเกิดขึ้นเสมอ คือคำชมเชยกับตำหนิ”

“ผมบอกกับเพื่อนร่วมงานเสมอว่า เราจะต้องไม่ถือเอาคำตำหนินั้นๆ มาทำให้เราเกิดความท้อถอย เหนื่อยหน่าย ไม่อยากทำงาน เพราะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

“เราทำทุกวันนี้ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเราเอง แต่เราทำเพื่อแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่และอาศัยเกิดมาเป็นคน เราเป็นหนี้แผ่นดินนี้อยู่”

พล.อ.เปรม ยังได้เล่าถึงวันที่ได้รับการทาบทามให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า

“ผมได้เรียนหัวหน้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไปว่า ผมพอแล้ว เพราะได้ทำงานมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ได้มีโอกาสช่วยดูแลดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ได้มีส่วนช่วยพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ยืนยาว สืบเนื่องมาตลอดระยะเวลาที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหน้าที่”

“จึงขอพอ และขอให้ช่วยกันดูแลและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเราให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงต่อไป”

 

 

ข้อมูลจาก

  • รัฐบุรุษชื่อเปรม พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์มติชน
  • ฉะแฉฉาว นักการเมืองไทย พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์มติชน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า