SHARE

คัดลอกแล้ว

นโยบายรัฐ ‘ส่งเสริม’ หรือ ‘ขัดขวาง’ การปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ? คำถามใหญ่ ถูกสะท้อนผ่านผู้ประกอบการไทย ที่พร้อมปรับตัวด้วยรู้ดีว่า ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้แล้ว

 

“พวกเขาถูกรังแกจากนายจ้างมา 2 ปี ถูกบีบบังคับทำงานล่วงเวลาทุกวัน ทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน สุดท้ายโดนไล่ออก เพราะขอหยุดงาน แต่พอออกมาพวกเขาก็ไม่กล้าต่อสู้” ช่วงบ่าย ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วีระ แสงทอง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานเมียนมา ได้นัดเจอกับแรงงานหญิงชาวเมียนมา 2 คน ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากโดนนายจ้างค้างค่าจ้าง หลังจากที่พวกเธอถูกไล่ออก

“พวกเขาแค่อยากได้เงินที่นายจ้างค้างจ่าย ส่วนสิทธิต่างๆ ที่นายจ้างเคยละเมิด เขาไม่ขอสู้เพราะความหวาดกลัว”

วีระ แสดงท่าทีผิดหวัง หลังจากที่อธิบายขั้นตอนการร้องเรียน ที่ต้องเดินทางไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน พร้อมเล่าว่า ราว 7 ใน 10 ของแรงงานข้ามชาติที่ร้องเรียนเขามา ในลักษณะคล้ายกันนี้ ส่วนใหญ่เลือกที่จะยอม เพราะสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติบีบบังคับ ทำให้พวกเขาไม่อยากมีปัญหากับใคร

ด้วยการเรียกร้องความยุติธรรม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ล้วนมีต้นทุนและเวลาที่ต้องจ่าย ภาคธุรกิจบางแห่งถึงยังคงใช้ช่องว่างเหล่านี้ ในการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ นายจ้างอีกหลายคน ที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจและปกป้องสิทธิแรงงานในสถานประกอบการตนเองไปพร้อมๆ กัน

[นโยบายรัฐกำลัง ‘ส่งเสริมหรือขัดขวาง’ การปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ?]

“เรามีประกันสังคมและประกันกลุ่มให้ลูกจ้างทุกคน เวลาพวกเขามีปัญหาเรื่องการต่อใบอนุญาตทำงาน เราจะเป็นที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือ”

แม้ว่า กิจการร้านอาหาร ของ พัชรนันท์  ชูวงษ์อุไรพัชร จะไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต แต่ก็มีลูกจ้างภายในร้าน ประมาณ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมา และสปป.ลาว โดยมีการจัดสรรหน้าที่ตามความถนัด 

อย่าง แรงงานชาวลาว รับหน้าที่ให้บริการลูกค้า เพราะส่วนใหญ่สามารถสื่อสารและทำงานบริการได้ดี ในขณะที่ แรงงานเมียนมาจะรับผิดชอบงานในครัว และงานอื่นๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่พัชรนันท์ไม่สามารถหาคนไทยมาทำงานได้เลย จึงเลือกที่จะใช้แรงงานข้ามชาติมาทดแทน

“นโยบายของภาครัฐส่งผลต่อการดูแลลูกจ้าง ของนายจ้างเป็นอย่างมาก หลายคนเลือกใช้แรงงานนอกระบบ เพราะนโยบายของรัฐที่ไม่ชัดเจน”

ในฐานะผู้ประกอบการ พัชรนันท์ เชื่อว่านายจ้างส่วนใหญ่อยากปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และดูแลลูกจ้างของตนเองตามสิทธิที่พวกเขาสมควรได้รับ ทั้งนี้ การที่นายจ้างจะสามารถดูแลแรงงานของตนเองได้ดี ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ ว่าจะควบคุมและบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างไร

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมทูน่า ซึ่งมีข้อมูลว่า สมาชิกในสมาคม มีการใช้แรงงานข้ามชาติ จำนวน 46,000 คน โดยประมาณ ซึ่งคิดเป็น 66% ของจำนวนแรงงาน นั่นเท่ากับ แรงงานข้ามชาติถือเป็นกำลังผลิตหลักของอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่าลำดับหนึ่งของโลก โดยในแต่ละปี มีมูลค่าส่งออกทูน่าและอาหารทะเล อยู่ราว 73,500 ล้านบาท

“การพึ่งพาแรงงานข้ามชาติยังคงมีความต้องการ เนื่องจากในอุตสาหกรรมทูน่าเป็นงานประเภท 3ส (สกปรก, เสี่ยงอันตราย, และแสนลำบาก) ซึ่งอาจไม่ได้รับความนิยมจากแรงงานในประเทศ เนื่องจากได้รับค่าจ้างเพียงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด”

ในแง่ของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติของภาครัฐ ทางสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลกับทาง สำนักข่าว TODAY ว่า ส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา คือฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน

“ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานออนไลน์ ต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดระยะเวลาการดำเนินการให้กับนายจ้าง รวมทั้งการพัฒนาระบบ One Stop Service ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากขึ้นกว่านี้” ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมทูน่ากล่าว

สำหรับการดูแลแรงงาน ทางสมาคมฯ ได้กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติข้อกำหนดด้านจริยธรรมแรงงาน 10 ข้อ ผ่านการตรวจสอบกิจกรรม GLP (Good Labour Practice) ซึ่งครอบคลุมด้านการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรม และเป็นไปตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานของสมาชิกสามารถปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีจริยธรรม และเป็นไปตามข้อกําหนดของผู้ซื้อ

ไม่เท่านั้น ยังมีความร่วมมือในระดับสากล ผ่านโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Ship to Shore Rights South East Asia Programme) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งความร่วมมือกับ NGOs ในการอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับแรงงาน ในเรื่องของกฎหมายด้านแรงงานเบื้องต้น

“จริงๆ แล้วผู้ประกอบการอยากปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่พวกเขากลับมีการทำงานที่ยากขึ้น เนื่องจากว่านโยบายของภาครัฐ ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

ปัญญรักษ์ โรเก้ จากองค์กร Dignity in Work for All อ้างอิงถึงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ สำหรับการขึ้นทะเบียนแรงงานแบบใหม่ หรือ Pre-MOU ในปัจจุบันที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสภาวะแรงงานขัดหนี้ (debt bondage) หรือ การที่แรงงานข้ามชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานที่สูงเกินไป ส่งผลให้พวกเขายอมทำงานที่ถูกละเมิดสิทธิ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว

ปัญญรักษ์ โรเก้ จากองค์กร Dignity in Work for All

โดย Dignity in Work for All เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีเป้าหมายส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงงานที่มีคุณค่า (Decent Work) รวมทั้งปกป้องสิทธิแรงงาน ผ่านการให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ในการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Social Assessment) และการให้ความรู้และสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ แก่สถานประกอบการ เพื่อปลายทางของการคุ้มครองสิทธิแรงงานได้ดีขึ้น รวมทั้งยังมีการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอพยพแรงงานจากเมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาในประเทศไทย

[ทำไมผู้ประกอบการไทย ต้องสนใจสิทธิมนุษยชน]

“ตอนนี้ทางสหภาพยุโรป เริ่มมีการผลักดันข้อกำหนด CSDDD มาใช้กับผู้ประกอบการ จึงเป็นที่มาว่า หากผู้ประกอบการในประเทศ ยังอยากทำการค้าขายกับยุโรป ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามทิศทางกฎหมายเหล่านี้”

สำหรับ CSDDD ย่อมาจาก Corporate Social Sustainability Due Diligence Directive เป็นกฎหมายที่ทางสหภาพยุโรปออกมาในปี 2566 ซึ่งประเทศสมาชิกมีการให้พันธสัญญากันว่าจะนำกฎหมายฉบับนี้ไปปรับใช้เป็นกฎหมายเพื่อกำกับดูแลภาคเอกชนในประเทศของตนเอง

ใจความสำคัญของ CSDDD เป็นการนำระบบการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเข้ามาใช้เป็นแนวปฏิบัติทางภาคธุรกิจ กล่าวคือ บริษัทที่อยู่ในสหภาพยุโรป จะมีข้อกำหนดในการประเมินสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งรวมถึงสินค้าทุกประเภทที่จัดจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งไม่เว้นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

“นอกจากการบังคับใช้กับรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว อีกสักพักจะมีกฎหมายลักษณะนี้ในอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอังกฤษ” ปัญญรักษ์ให้ความคิดเห็น 

“ถึงเวลานั้นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน จะกลายเป็นเรื่องของการรักษาตลาดของผู้ประกอบการในไทย ที่สนใจทำการค้าขายส่งออกสินค้าไปยังตลาดในประเทศเหล่านี้”

ปัญญรักษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งแรกที่ภาคธุรกิจไทยต้องทำความเข้าใจ คือกรอบการทำงานในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือที่เรียกว่า Human Rights Due Diligence ประกอบด้วยการระบุปัจจัยความเสี่ยงด้านสิทธิ การระบุมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงขึ้นมา การตรวจสอบและสื่อสารกับภาคีทางธุรกิจเพื่อให้เกิดการทบทวน และการสร้างระบบตรวจสอบภายในสถานประกอบการ และภายในห่วงโซ่อุปทาน ให้แรงงานผู้ถือสิทธิ์สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้

“ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวอาจจะเสียโอกาสทางการค้า เพราะเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเป็นกระแสที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้”

สำหรับข้อได้เปรียบหากผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นได้เร็ว ปัญญรักษ์มองว่า การมีระบบการคุ้มครองและปกป้องการละเมิดสิทธิที่ดี  เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจไทยได้ ยิ่งถ้าเราเริ่มเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจไทยก็จะมีโอกาสในการค้าขายในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเริ่มต้นปรับระบบเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน ย่อมมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นในระยะสั้น เช่น การนำหลักการนายจ้างจ่ายมาใช้ในการจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการสรรหาแรงงาน รวมไปถึงหลักการสรรหาแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบ

“สิ่งที่เราพบจากการทำงานกับภาคธุรกิจคือ พอทางบริษัทเริ่มมีความเข้าใจเรื่องการสรรหาที่ดีขึ้น ต้นทุนที่จ่ายไปต่อหัวให้กับแรงงานข้ามชาติจะน้อยลง เนื่องจากวิธีการสรรหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัญญรักษ์ ยกตัวอย่าง หากนำระบบการสรรหาอย่างมีความรับผิดชอบมาปรับใช้ นายจ้างจะต้องมีการทำงานร่วมกับนายหน้าที่สรรหาแรงงานข้ามชาติ โดยจะต้องมีการจัดการระบบการสรรหาแรงงาน อย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ และเพื่อให้แน่ใจว่าภายใต้กระบวนการดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดสภาวะแรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ รวมทั้งการที่แรงงานต้องจ่ายเงินเป็นทอดๆ ให้กับเหล่านายหน้าเถื่อน ซึ่งเมื่อตัดเหล่านายหน้าออกไปจากกระบวนการสรรหา ต้นทุนการรับแรงงานข้ามชาติต่อคนย่อมลดน้อยลง

“เรากำลังหาวิธีที่จะสามารถคุ้มครองแรงงาน และปกป้องพวกเขาให้ได้มากขึ้น โดยมีคำถามสุดท้าย คือภาระที่เกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้มีการร่วมกันรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน”

สิ่งที่ ปัญญรักษ์ ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ การที่สถานประกอบการไทย ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น จึงเริ่มมีการพูดคุยกันแล้วว่า ฝั่งผู้ซื้อในยุโรปต้องช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเคารพสิทธิที่เป็นข้อเรียกร้องจากฝั่งเขา อย่างไรได้บ้าง

“ผู้ประกอบการไทยไม่ควรต้องแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ฝ่ายเดียว เพราะนี่คือข้อกำหนดที่ทางยุโรปต้องการ”

ปัญญรักษ์ กล่าวในตอนท้าย ก่อนที่จะมองในภาพนโยบายว่า ประเทศไทยมีการพูดคุยเรื่องความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับสหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ เราสามารถผลักดันเรื่องการคุ้มครองสิทธิ นำมาใช้เป็นข้อได้เปรียบทางการค้าให้กับภาคธุรกิจไทยได้ รวมทั้งประเทศไทย ยังเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ออก ‘แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน’ (National Action Plan on Business and Human. Rights: NAP)

[ความก้าวหน้าของประเทศไทย แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน] 

“เราได้ให้สัญญาและประกาศกับประชาคมโลกแล้วว่า จะยกระดับแผนนี้ให้กลายเป็นกฎหมายที่ใช้กับภาคธุรกิจ”

หากสามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่างที่ นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงวัฒนธรรมกล่าว จะถือเป็นความก้าวหน้าทางนโยบายของประเทศไทยที่สามารถผลักดันหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ให้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย

แต่ในวันนี้แผนปฏิบัติการแห่งชาติ ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ยังเป็นเพียงกรอบนโยบายของภาครัฐ ที่กำหนดทิศทางให้ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ ทำธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน “ตอนนี้ยังคงเป็นกรอบนโยบายที่ยังไม่ใช่กฎหมาย เป็นมาตรการสมัครใจที่ระบุความคาดหวังขั้นต่ำของภาครัฐที่มีต่อภาคธุรกิจ” นรีลักษณ์กล่าว

โดยหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP)) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ย. 2554 โดยสหประชาชาติ เพื่อที่จะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ

ในการนำมาตรฐานตัวนี้ไปปฏิบัติ สหประชาชาติ แนะนำให้แต่ละประเทศ ออกแผนปฏิบัติการระดับชาติ National Action Plan โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญา ว่าจะนำหลักการดังกล่าวนี้มาปรับใช้ภายในประเทศ จนกระทั่งในปี 2562 มีการเห็นชอบร่างดังกล่าวผ่านคณะรัฐมนตรี จึงทำให้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นประเทศแรกของเอเชีย

“ถ้าคุณเป็นนายจ้างที่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน จะมีแต้มต่อในการค้าขายกับต่างประเทศ”

นอกจากนี้ นรีลักษณ์ ระบุว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ยังเป็นการยกระดับภาพลักษณ์องค์กร และดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เลือกใช้สินค้าและบริการมากกว่าเพียงแค่เรื่องรูปลักษณ์และความสวยงาม แต่ยังคำนึงถึงสินค้าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น

“ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน อยากจะบริโภคสินค้าที่ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

อย่างไรก็ดี จากการทำงาน นรีลักษณ์ พบว่า องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากว่าสถานประกอบการเหล่านี้ต้องทำการค้าขายกับต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กที่ทำธุรกิจภายในประเทศ ยังไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน และแผนดังกล่าวยังเป็นมาตรการแบบสมัครใจ

“เราพยายามจูงใจ ด้วยการให้รางวัลองค์กรต้นแบบสิทธิมนุษยชน (Human Rights Award)  และสนับสนุนภาคธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในรายชื่อผู้ขายในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐในลำดับต้นๆ”

นรีลักษณ์ ไม่ปฏิเสธว่า เธอต้องหามาตรการจูงใจธุรกิจขนาดเล็กให้ได้มากกว่านี้ โดยกล่าวว่า ตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กำลังร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และคาดหวังว่าร่างกฎหมายฉบับแรก จะเสร็จสิ้นออกมาภายในปี 2569

โดยในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ นรีลักษณ์ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาในประเทศไทย เธอพบว่า ในอดีตภาคธุรกิจไทย ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แรงงานประมง ปศุสัตว์ การค้าบริการทางเพศ เป็นต้น

แรงกดดันที่ถูกตรวจสอบและจับตาจากนานาชาติ เป็นแรงจูงใจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงตนเอง และหันกลับมาใส่ใจกับเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  รวมทั้งค่านิยมของผู้ประกอบการและภาครัฐที่มีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เปลี่ยนไป วันนี้ทุกฝ่ายต่างยอมรับแล้วว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเราจึงต้องดูแลพวกเขาในฐานะแรงงานและมนุษย์คนหนึ่ง ที่สมควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ในประเทศนี้อย่างสมศักดิ์ศรี

ผลงานชิ้นนี้ถูกผลิตภายใต้โครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า