Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

วิกฤติไวรัสโคโรน่า เป็นวิกฤติที่เกิดกับทั่วโลก และส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เป็นสถานการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้หมด

การระบาดของโรคที่รุนแรงขนาดนี้ เป็นสิ่งใหม่ของคนทั้งโลก ซึ่งที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็พยายามเรียนรู้ และพยายามร่วมกันพาประเทศออกจากวิกฤตินี้ แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ยังปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้

ทีมข่าว Workpoint News รวบรวมข้อเสนอ ผ่านบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อหวังให้การทำงานของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่เส้นทางที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน

จากการระบาดเพิ่มเติมทางซีกโลกตะวันตก แสดงให้เห็นว่าวิกฤติไวรัสครั้งนี้น่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาอีกสักระยะ ดังนั้นจึงยังไม่สายสำหรับประเทศไทยที่จะเริ่มแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป

1- มีศูนย์กลางการสื่อสารที่ชัดเจน

ในสถานการณ์วิกฤติ ภาครัฐควรการสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจน ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะทำการแถลงทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะมีความคืบหน้าให้ติดตามได้ตลอด

แต่นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็มีการสื่อสารจากภาครัฐอีกหลายช่องทาง เช่น โฆษกรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ตามปัญหาแต่ละด้านที่เกิดขึ้น และล่าสุดมีการเปิดศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ที่มีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ

การมีช่องทางการสื่อสารของภาครัฐที่หลากหลายไม่ใช่ปัญหา หากทุกส่วนสามารถสื่อสารได้ชัดเจนและข้อมูลตรงกัน

บทเรียนจากเหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำที่เชียงราย ทั้งสื่อมวลชนและคนไทยทั้งประเทศรู้ว่า ถ้ามีอะไรก็ให้รอ ผู้ว่าณรงศักดิ์ เพียงคนเดียวได้เลย ซึ่งทำให้มีความชัดเจนในข้อมูลที่ภาครัฐต้องการจะสื่อสารออกมา

ในวิกฤติไวรัสโคโรน่า รัฐบาลควรกำหนดการสื่อสารให้ชัดเจน ว่าสื่อมวลชนและประชาชนควรฟังข้อมูลเรื่องใดจากหน่วยงานไหนหรือใคร แต่ละปัญหาอาจแยกกันสื่อสารตามความรับผิดชอบของหน่วยงานก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือข้อมูลของแต่ละจุดที่สื่อสารออกมานั้นจะต้องชัดเจน เป็นข้อมูลเดียวกัน ทำหน้าที่ตอบปัญหากับสังคมอย่างเท่าทันกับความสงสัย

2- ความโปร่งใสของข้อมูล

นับถึงวันที่ 7 มีนาคม 2563 ประเทศไทยตรวจเจอเชื้อ 50 คน รักษาหายแล้ว 31 เสียชีวิต 1 คน

และแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะแถลงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทยทุกวัน แต่สิ่งที่คนไทยไม่เคยได้รับรู้เลยก็คือ ผู้ติดเชื้อเหล่านี้เคยเดินทางไปที่ไหนบ้าง และพื้นที่ไหนจังหวัดไหนของไทยที่อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อบ้าง

ที่ญี่ปุ่นมีการทำเว็บไซต์แบบลงข้อมูล Real-Time คนไข้มีการระบุหมายเลขชัดเจน ว่าติดเชื้อคนที่เท่าไหร่ อยู่เมืองไหน อาการล่าสุดเป็นอย่างไร ขณะที่ในสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันมีคนไข้ 112 เคส ในเว็บก็บอกดีเทลละเอียดมากทั้งอายุ เพศ เชื้อชาติ บ้านพักอยู่ละแวกไหน และสามารถเข้าเยี่ยมได้ที่โรงพยาบาลอะไร ซึ่งคนที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อจะได้เพิ่มความระวัง ส่วนคนที่ไม่ใกล้ จะได้ไม่ต้องวิตกเกินพอดี

การได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ได้ถูก ไม่เกิดความหวาดวิตกไปหมด ไม่รู้ว่าควรจะระวังอะไรบ้าง ถ้าเราอาศัยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี เราก็ไม่รู้เลยว่าควรต้องตื่นตระหนกกับโคโรน่าไวรัสหรือไม่ และต้องป้องกันตัวแค่ไหน เท่ากับที่กรุงเทพฯ หรือเปล่า

ความชัดเจนตรงนี้ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดผลกระทบเกินไปกว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจริงอีกด้วย

3- ลดการนำเสนอข้อมูลที่ไม่จำเป็น

ในภาวะวิกฤติแบบนี้ สังคมอ่อนไหวต่อข้อมูล พร้อมจะเชื่อทุกสิ่งที่ได้อ่าน โดยเฉพาะจากคนในระดับบังคับบัญชา

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างความสับสนให้ประชาชนหลายครั้ง ตั้งแต่การใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้กับประชาชนอย่างไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ จนถึงคราวล่าสุด วันที่ 3 มีนาคม ที่มีการโพสต์เอกสารราชการ เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่า กำหนดให้ 9 ประเทศ เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย ใครมาจาก 9 ประเทศนี้ ต้องกักตัว 14 วัน ไม่มีข้อยกเว้น

แต่โพสต์ได้แค่ไม่นานนัก นายอนุทิน ลบโพสต์ดังกล่าว และปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวทิ้งไปเลย โดยให้สาเหตุว่าไม่ได้โพสต์เองแต่มีทีมงานโพสต์ให้

ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ภาครัฐต้องตระหนักว่าความเคลื่อนไหวของคนในระดับบังคับบัญชาเป็นเรื่องสำคัญ คำพูดหนึ่งคำส่งผลต่อประชาชนอย่างมาก การให้ข้อมูลเดี๋ยวผิด เดี๋ยวถูก เดี๋ยวโพสต์ เดี๋ยวลบ จะสร้างความสับสนกับประชาชนได้

ยิ่งมีอำนาจในมือ ต้องยิ่งระวังในการสื่อสาร ยิ่งสถานการณ์วิกฤติ ยิ่งต้องลดสิ่งที่สร้างความสับสนกับสังคม

4- ทำงานให้รวดเร็วขึ้น เช่นเรื่องหน้ากาก

เรื่องหน้ากาก กรมการค้าภายในประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภท ทุกจำนวน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดแล้ว ก็ยังมีการส่งออกไปขายต่างประเทศนับล้านชิ้น รวมถึงภาพที่เราเห็นชาวต่างชาติมากว้านซื้อหน้ากากในไทย ทั้งๆ ที่ความต้องการของคนไทยยังสูงถึง 35 ล้านชิ้นต่อเดือน

เทียบกับรัฐบาลของไต้หวัน ที่งดการส่งออกตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม คือทันทีที่เห็นทิศทางของการติดเชื้อ ไต้หวันระงับการส่งออกทันที แม้จะโดนตำหนิอย่างหนักในช่วงแรกเกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรม แต่สุดท้ายรัฐบาลไต้หวันก็พิสูจน์ว่าตัดสินใจถูกต้อง แล้วคนที่ตำหนิไปในตอนแรกก็ต่างออกมาขอโทษ ซึ่งการ Take Action อย่างเฉียบขาด ทำให้ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อปัจจุบันแค่ 45 คนเท่านั้น

5- ให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนอย่างชัดเจนขึ้น

เรื่องหน้ากากอนามัย จริงๆ แล้วต้องใส่หรือไม่ องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าคนร่างกายปกติ ไม่ใส่หน้ากากอนามัยมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า แต่ก็มีคำแนะนำออกมาบอกว่าการใส่ย่อมดีกว่าไม่ใส่ ทำให้เกิดความสับสนในข้อมูลความรู้เรื่องนี้

ที่ผ่านมาประชาชนได้ความชัดเจนจากสื่อมวลชน หรือประชาชนด้วยกันเองผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้กันเอง ทั้งๆ ที่ภาครัฐควรมีหน้าที่ให้ความรู้ไปในทิศทางเดียวกัน

6- ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางแพทย์

สืบเนื่องจากข้อ 5 อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก จะพบว่าถ้าหน้ากากมีจำนวนจำกัด กลุ่มบุคคลแรกที่ควรได้รับหน้ากากอนามัยก่อน คือสถานพยาบาล เนื่องจากต้องรับมือกับผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากแพทย์และพยาบาลมีอุปกรณ์ไม่พอใช้จนติดโรคกันไป ใครจะมารักษาประชาชน

วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา 13 โรงพยาบาลใหญ่ เช่น ศิริราช, จุฬาลงกรณ์, สภากาชาดไทย, รามาธิบดี, มหาราชนครเชียงใหม่ เป็นต้น ขอความอนุเคราะห์ไปยังกรมการค้าภายใน ให้แบ่งหน้ากากขายให้โรงพยาบาลก่อน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

หนำซ้ำกรมการค้าภายในยังนำหน้ากากอนามัยมาวางขายเองให้ประชาชนทั่วไปอีกต่างหาก แสดงให้เห็นถึงการลำดับความสำคัญที่ผิดพลาด

ล่าสุด รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า ตอนนี้ทางโรงพยาบาลเหลือหน้ากากอนามัยสำรองใช้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ โดยจุดสำคัญคือปัญหาระบบการกระจายหน้ากากอนามัย ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในบางส่วน เช่นฝ่ายโภชนาการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ปวยโดยตรง ต้องเลี่ยงไปใช้หน้ากากผ้าแทน

7- ใช้ศูนย์ต่อต้าน Fake News อย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเทศไทย มีคนจำนวนมากที่หูเบาเกินเหตุ เห็นข่าวอะไรมาก็แชร์ไปก่อน จนทำให้รอบตัววิตกกันหมดเพราะไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า จากนั้นก็แชร์กันต่อๆ มาไปเรื่อยๆ จนไม่รู้อะไรเท็จอะไรจริงไปหมด ดังนั้นถ้ามีหน่วยงานที่คอยจัดการสรุปให้ชัดเจนว่า อันไหนข่าวกรอง อันไหนข่าวจริง จะเป็นประโยชน์กับประเทศมาก

จริงๆ มีสื่อบางราย เช่นเว็บไซต์ mgronline จะทำเซ็กชั่นออกมาชื่อ “รู้ทัน Fake News” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดี แต่มันย่อมดีกว่า ถ้ามีหน่วยงานของภาครัฐที่เข้าถึงข้อมูลได้ทุกอย่าง เป็นจุดศูนย์กลางในการคอยจัดการ Fake News เหล่านี้

รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ Fake News ขึ้นมาแล้ว โดยที่ผ่านมาถูกตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์นี้ว่ามีไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือสาธารณะ วาระวิกฤติโควิด-19 นี้ เป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์จาก
ศูนย์นี้อย่างที่สุด

8- ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน สร้างโปรแกรมข้อมูลหน้ากากอนามัยของร้านขายยาทั่วประเทศไต้หวัน โดยสามารถเช็กได้เลยว่าร้านขายยาร้านนี้ เหลือสินค้าอีกกี่ชิ้น และประชาชนที่ต้องการหน้ากากต้องเดินทางไปซื้อที่ไหน

นอกจากนั้นยังจัดทำโปรแกรมแผนที่ของไต้หวัน ที่ผู้โดยสารเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส เคยเดินทางไป เพื่อเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 14 วันก่อน

ความรู้ความสามารถของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในยามเกิดวิกฤติ แต่ที่ไทย เรายังไม่เห็นการใช้ความรู้เชิงเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้สมกับศักยภาพของคนในประเทศ

หากเข้าเว็บไซต์ mdes.go.th ซึ่งเป็นเว็บกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข่าวเด่นแรกสุดที่โชว์ในหน้าเว็บคือ

“ดีอีเอสเชิญชวนร่วมงานเดิน-วิ่งการกุศล Digital Run2020 -29 มีนาคม 2563 ส่งต่อสุขภาพดียุคดิจิทัล”
ซึ่งไม่น่าจะเป็นวาระที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ ตามหน้าที่ของกระทรวง

บทสรุป

ในภาวะวิกฤตินี้ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นเราทราบดีว่า การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่เรายังเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของบุคลากร และงบประมาณที่มี รัฐบาลสามารถทำได้ดีกว่านี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเอาตัวรอดไปจากสถานการณ์นี้โดยบอบช้ำน้อยที่สุด

รวบรวมโดยทีมข่าว Workpoint News

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า