Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

บรรยากาศการชุมนุมทางการเมือง กลายเป็นช่วงเวลากระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุกหัวใจครั้งใหม่ให้กับบรรดาพ่อค้าแม่ขายรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และร้านรวงที่มาแห่เปิดรับผู้ชุมนุม ในช่วงเวลาที่ประเทศซบเซาจากช่วงปากท้องขัดสน

การชุมนุมที่สนามหลวง ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ภาพจากสื่อต่าง ๆ จะเห็นว่ามีผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ดึงดูดพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่อยู่บริเวณนั้น พื้นที่ใกล้เคียง หรือจากที่อื่นให้มาเปิดร้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือร้านเสื้อผ้าสิ่งของต่างๆ ทำให้สนามหลวงที่เงียบเหงาจากผู้คนกลับมาคึกคัก ทำให้คนค้าขายกลับมามีรายได้อีกครั้ง

ร้านรวงที่แห่ไปตามการชุมนุม ได้รับประโยชน์โดยตรง

แจง ณัฐนิชา ทองพูน แม่ค้าร้านข้าวไข่เจียว เธอทราบข่าวจากโทรทัศน์ว่าจะมีการชุมนุม จึงชวนน้องชายและแฟนมาขายข้าวไข่เจียว เพื่อหารายได้เสริมในช่วงเสาร์อาทิตย์ “ปกติขายลูกชิ้นอยู่ที่ท่าเรือพระราม 7 ได้วันละ 5-6 ร้อยบาท แต่พอมาขายที่นี่สองวัน ได้เงินประมาณ 4,000 บาท ลงทุนไปสองพันกว่า หักทุนไปแล้วก็เหลือพันกว่า แต่ก็ถือว่าได้กำไรเยอะมากจากเดิม คนอื่นอาจจะมองว่าม็อบไม่ดี แต่ในมุมมองพ่อค้าแม่ค้า เราได้เงินจากตรงนี้ มาใช้มากิน ถ้าไม่มีม็อบ ก็ไม่มีเงิน แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครอยากให้มีม็อบใช่ไหม แต่สำหรับเรา พอมีม็อบเราได้มีเงิน”

“เราคุยกับแม่ค้าด้วยกันเขาก็ชอบที่มีม็อบ เพราะทุกคนมีรายได้ อาหารที่ขายดีก็เป็นข้าวไข่เจียว และข้าวราดแกง ขายกล่องละ 20 บาท ขายดีจนคนต่อคิว ขายสองวันได้ประมาณ 300 กล่อง ขายทั้งคืนสลับกันนอนกับแฟน ถ้าปกติขายลูกชิ้นที่ท่าเรือ ลงทุนพันกว่า ต้องขายสองวันถึงได้กำไร เมื่อเทียบกันแล้ว ขายลูกชิ้น 10 วันยังไม่ได้เงินเท่าขายข้าวไข่เจียวที่ม็อบสองวันเลย”

“เศรษฐกิจมันแย่มาก แย่มาตั้งแต่ก่อนโควิด มันแย่ขนาดที่เราไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ของแพง หมูแพง เศรษฐกิจมันดูเหมือนทำร้ายคนจนมาตลอด คนจนก็จนยิ่งจน คนรวยก็รวยแสนรวย ที่ขายลูกชิ้นอยู่ ก็ดีที่อย่างน้อยเราลงทุนแล้วลูกเราก็ได้กิน ประหยัดไปในตัว ได้ขายด้วยได้กินด้วย และมีเงินเหลือไปโรงเรียน”

“ส่วนตัวมองว่าถ้ารัฐบาลบริหารประเทศโอเค ลูกเราตัวเราอยู่ได้เราก็โอเค แต่จากที่เรามองแล้ว คือมันแย่ เรารู้สึกว่าเขาบริหารประเทศไม่ดี แล้วเหมือนพาเราขี้เกียจไปด้วยเลยบางที ทั้งๆ ที่ไม่อยากไปอะไรกับเขานะ แต่เราคนจน มันก็เลยรู้สึกว่า ถ้าบริหารไม่ได้ ก็ปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่เขาบริหารไปเถอะ จริงๆ ไม่ได้เกลียดเขาเป็นการส่วนตัวหรือจะไปเข้าข้างฝั่งไหน นี่เราเป็นแม่ค้า มีม็อบอะไรเราก็ไปขายหมด ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนขึ้นมามันก็มีม็อบตลอด เขามาเป็นนายกก็ห้ามชุมนุม ห้ามทุกอย่าง ขายของบนฟุตบาทก็ไม่ให้ขาย แม่เราเป็นแม่ค้าขายของบนฟุตบาท อยู่ดีๆ พอเขามาเป็นนายก ก็จัดระเบียบไม่ให้ขาย เราต้องไปเช่าตึกเขา รายได้ก็ต้องไปจ่าค่าตึกหมด เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เราเป็นคนจน ขอแค่เรามีที่ทำมาหากินเป็นพอ แต่นี่เหมือนเรายิ่งจน และที่ทำมาหากินเราก็ไม่มี”

ไปมาทุกม็อบขอให้ทำมาค้าขายได้

อย่างที่แจงเล่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอขายของที่ม็อบ เพราะในอดีตตั้งแต่ม็อบพันธมิตร ม็อบนปช. และม็อปกปปส. เธอก็เคยไปขายมาแล้วทั้งหมด เธอเล่าว่า ม็อบที่ทำรายได้ให้เธอมากที่สุดคือม็อบกปปส. เพราะในบางวันที่หัวหน้าแกนนำอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นปราศรัยในวันนั้นคนจะเยอะมาก ซึ่งทำให้เธอมีรายได้จากการขายข้าวอยู่ที่หลักหมื่นบาทต่อวัน ในมุมมองของการเป็นแม่ค่าเธอยืนยังว่าชอบที่มีม็อบ เพราะนั้นทำให้เธอกับครอบครัวมีรายได้ และทำให้ลูกของเธอมีกิน

“ก็เราคนจนน่ะ ในมุมมองของที่เราเป็นประชาชนเตี้ยล่าง เราก็ไม่ชอบเศรษฐกิจแบบนี้ เราเองไม่รู้สาเหตุว่าเพราะอะไร แต่จากที่คนพูดกัน ก็เป็นเพราะบริหารประเทศที่ไม่ดี แต่เราไม่มีสิทธิ์คิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น เรารู้ของเราอยู่ในใจ ว่าจริงๆ มันแย่มากเลยสถานการณ์แบบนี้ การมีม็อบทำให้เรามีที่ขายของก็จริง แต่ว่าถ้าสังคมดีและเศรษฐกิจดีโดยที่ไม่ต้องมีม็อบ เราก็สามารถทำมาหากินได้อีกแบบหนึ่ง”

“แม่มาขายตามม็อบเพราะบ้านอยู่ใกล้ๆ เข็นรถมาขาย ก็ขายดีมาก ขายสองเดือนยังไม่สู้ขายวันเดียวเลย” แดง สำลี พิบาล แม่ค้าขายเคบับ ในมุมมองของแม่ค้าอย่างเธอแล้ว การชุมนุมถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มาต่อชีวิตของเธออีกครั้ง “นี่เป็นครั้งแรกที่มาขายที่สนามหลวง ถ้าไม่ได้มาขายก็คือตาย เรายืมเงินเขามาลงทุน ถ้าไม่มาขายตรงนี้ก็คือไม่ฟื้น เพราะไม่มีเงินไปใช้หนี้เขา พอรู้ว่าจะมีการชุมนุม เราก็เตรียมของไว้ตั้งแต่ตอนเย็น พอถึงเวลาก็เสียบไก่แล้วเข็นรถออกมา ไม่เคยผิดหวังเลย เด็กๆ ที่เขามาจะชอบกินมาก เราขายวันธรรมดาก็วันหนึ่งไม่ถึง 500 บาท ลงทุนครั้งหนึ่งต้องขายสามวันถึงได้กำไร แต่พอมีม็อบ เราขายคืนเดียวสามารถใช้หนี้ที่ไปยืมมาลงทุนซื้อของขายได้เกือบหมด แถมยังเหลือไก่อีกประมาณ 10 กิโล ไว้เป็นทุนให้เราขายต่อได้ ที่ต้องยืมเพราะเราไม่มีเงินที่จะหมุน เงินที่ขายได้ก็เก็บไว้ให้เขา อดทนอีกหน่อยเพื่อจ่ายหนี้ที่ยืมมาลงทุนให้ครบ ตอนนี้ยังเหลือหนี้ค่าแป้งอีกพันกว่าบาท จากที่ยืมมาลงทุนเจ็ดพันบาท”

“ม็อบสองวันขายได้ประมาณ 200 แผ่น ขายห่อละ 60 บาท มีเด็กมาขอกินฟรีบ้างก็ให้ รวมขายได้ก็ประมาณหมื่นสอง ปกติจะขายอยู่ที่วงเวียนบางลำพู และถนนข้าวสาร บางวันขายได้ร้อยเดียวก็มี เหนื่อย ท้อเลย เศรษฐกิจมันไม่ดีมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ยิ่งช่วงโควิดระบาดนี้ไม่ได้ขายเลย อยู่แต่ในบ้านไม่มีรายได้ ต้องรอเขาเอาข้าวมาแจก หลังโควิดซาไปหลายวันก็ค่อยได้กลับมาขาย เพราะต้องหายืมเงินมาลงทุน ได้กลับมาขายอีกครั้งช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขายบ้าง หยุดบ้าง เพราะขายไม่ดี แต่พอมีม็อบเราก็ขายได้ มีเงินซื้อของซื้อนมให้หลานเล็ก มีเงินใช้หนี้เขา มันช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เหมือนทำให้คนที่ใกล้จะตายได้ฟื้นมาอีกที ต่อชีวิตอย่างนั้นเลยนะ เป็นเรื่องจริงมากเลย”

“เรื่องความรุนแรง ไม่ค่อยกลัวเลย เราเป็นคนต่อสู้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว อันไหนถูกผิดเราก็ต้องยอมรับ อันนี้เขามาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พฤติกรรมของเด็กที่มากัน เขามาแต่ตัวกับแค่สามนิ้ว อย่างอื่นเขาไม่มีอะไรเลย เป็นลูกเป็นหลาน เป็นคนที่เรียนหนังสือมีความรู้กันทุกคน แต่เขาต้องการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง”

เราห้ามความคิดใครไม่ได้ สิ่งไหนไม่ถูกใจ เก็บไว้ในใจ 

“ตอนขายของ อยู่ห่างเวทีก็ไม่ค่อยได้ยิน บางทีที่เขาพูดมาไม่ถูกใจเราก็เฉยๆ เก็บไว้ในใจ ไม่รู้จะทำยังไง เราก็ฟังหูไว้หู บางทีเขาพูดออกมา เราก็ไม่อยากให้เขาพูดแบบนั้น แต่เราห้ามเขาไม่ได้ เราคิดในทางที่ดีคือไม่อยากให้มีความรุนแรงเพราะมีแต่เด็กๆ จะมีมือที่สามไหมเราก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น คนไทยด้วยกัน ยังไงก็เป็นลูกเป็นหลาน เราดูคลิปที่เด็กคนนั้นเขาเอาใบไปยื่น ดีที่เขาเปลี่ยนทิศทางว่าไม่ไปในตอนแรก ดีใจที่เขาไม่เป็นอะไรกัน ไม่อยากให้เด็กๆ เป็นอันตราย ไม่อยากให้คนไทยที่เขารักประชาธิปไตยเป็นอันตราย”

แม่แดงยังบอกทิ้งท้ายว่า ถ้ามีม็อบครั้งหน้าต้องดูก่อนว่าเราไปไหวไหม ถ้าไกลก็ไปไม่ไหวเพราะเหนื่อย เป็นทั้งเบาหวาน ความดัน เส้นเลือดตีบ เดี๋ยวจะน็อคเอา ถ้าอยู่ใกล้บ้านแถวสนามหลวงเธอก็จะมาขายอีกครั้ง

จากมุมมองคนค้าขายขาจร มาถึงมุมมองของขาประจำ ผู้ที่เคยค้าขายอยู่ที่สนามหลวงในช่วงที่เคยมีเทศกาลและผู้คน สตางค์ ชินณัฐศิกานต์ อัครชนัญกุล เจ้าของร้านมอเตอร์ไซค์รถพ่วงขายกาแฟและเครื่องดื่ม เขาเล่าให้ฟังว่า ในอดีตการขายของบริเวณสนามหลวงสามารถสร้างรายได้ให้เขาและครอบครัวได้จำนวนมากถึงหลักหมื่นบาทต่อครั้ง

“เมื่อแปดปีก่อน  เวลาที่เขาจัดงานคนจะล้นสนามหลวงเลย คนเป็นหมื่นเป็นแสน และมันจะขายดีมาก แบบไม่ได้พัก อย่างขายครั้งนี้ได้ 7 พัน แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนได้ 5 หมี่น ประมาณเกือบ 10 เท่า แต่หลังจากเขาปิดสนามหลวงเราก็ไม่ได้ขาย และต่อให้มีงานคนก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ถ้าในอนาคตมีงานที่สนามหลวงอีก ก็ต้องดูก่อนว่าคนมาเยอะไหม ถ้าลงทุนไปแล้วมันไม่มีคนมันก็ไม่คุ้มเรา”

“จริง ๆ ก็ไม่ได้ขายน้ำมาซักระยะแล้ว อันนี้เป็นร้านแม่ เราขับรถผ่านเห็นคนเยอะเลยชวนแม่ออกมาขาย คนเคยขายของเห็นคนเยอะๆ ก็คิดว่ามันต้องขายได้แน่ๆ เราขับรถผ่านตอนหกโมงเย็น แล้วไปซื้อของมาเพื่องานนี้เลย ออกมาขายตอน 4 ทุ่ม ลงทุนประมาณสามพัน ขายได้ประมาณเจ็ดพัน หักทุนแล้วก็ได้ประมาณสี่พัน มันก็เยอะอยู่ แต่ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่เคยขาย ก็ถือว่าเป็นรายได้ปกติหรืออาจจะน้อยกว่า แต่รายได้มันก็ลดหลั่นลงไปตามเศรษฐกิจ เศรษฐกิจตอนนี้มันดรอป บางวันแม่เราขายของได้ 3-5 ร้อย พอวันที่มีม็อบรายได้ก็คูณขึ้นมา 10 เท่า”

การขายเครื่องดื่มไม่ใช่อาชีพหลักของสตางค์ เขาทำงานเกี่ยวกับอังหาริมทรัพย์ เขาก็ยอมรับว่าด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดี จึงทำให้ ในบางครั้ง จะต้องทำงานอย่างอื่นเพื่อหารายได้เสริมด้วย “ถ้าสมัยก่อนในยุค 8 ปีที่แล้วเราขายของดีมาก เศรษฐกิจดีมาก ไม่ต้องไปทำงาน ขายของอย่างเดียวก็อยู่ได้ทั้งปี เมื่อก่อนทำงานประจำ และขายของเป็นอาชีพเสริม เมื่อเราลาออกจากงานแล้วมาขายของเป็นอาชีพหลัก แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มันทำให้กลายเป็นอาชีพหลักไม่ได้ มันก็ต้องหาอาชีพอื่นมาเสริม ม็อบที่ผ่านมาสำหรับเรามันอาจช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอย่างเดียว รายได้ที่เขาได้จากสองวันนั้น เขาอาจจะอยู่ต่อได้อีกทั้งเดือน หรือ 2-3 อาทิตย์เลย”

“ตอนแรกที่มาขายก็กลัวเรื่องความไม่ปลอดภัย พอได้ยินว่าจะมีการชุมนุมวันที่ 19 เราก็กล้าๆ กลัวๆ กลัวว่าจะมีการปะทะแล้วเราอาจได้รับผลกระทบ แต่พอขับรถผ่านตอนชุมนุม มันก็ไม่น่ามีอะไร เราก็เลยตัดสินใจออกมาขาย แล้วก็ไม่ได้เตรียมตัวรับมือความรุนแรงด้วย เพราะก่อนออกมาขาย เราขับรถวนดูรอบๆ แล้ว ในสนามหลวงก็มีแต่ประชาชนธรรมดา จึงคิดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกกลัว”

“เรื่องม็อบถ้ามองเรื่องการท่องเที่ยว อันนี้ค่อนข้างกระทบเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่กล้าเข้ามา แต่อีกมุมพ่อค้าแม่ค้าจะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ เพราะปกติรอบๆ แถวนั้นแทบไม่มีชาวต่างชาติมาเที่ยว ไม่มีงาน ไม่มีเทศกาลเลย แต่พอมีม็อบมันก็ช่วยเขาได้ แต่ต้องประมาณนี้ ระดับนี้ถึงจะช่วยได้ แต่ถ้ามองในมุมของเศรษฐกิจโดยรวม ไม่นานนี้ประเทศจะเปิด ต่างชาติจะต้องเข้ามาเที่ยว ก็ไม่น่ามีผลกระทบมาก คือบ้านเราก็มีประท้วงกันบ่อย ต่างชาติเขาน่าจะเข้าใจ ถ้าในร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้กระทบสามสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มองว่า ม็อบก็มากระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียน อย่างเราได้เงินมาก็ต้องจ่ายออกไป เหมือนเงินได้หมุน”

“โดยส่วนตัวเราโอเค กับทัศนคติที่เขาพูดออกมาในม็อบ เพราะเศรษฐกิจมันแย่ เราไม่ได้ชอบที่ตัวบุคคล แต่เราชอบที่ผลงาน ถ้าเขาสามารถทำให้ประเทศมันดีกว่านี้ได้ ก็น่าให้อยู่ต่อ แต่ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ คนจะตายหมด ก็อยากให้เขาไป” สตางค์ยังปิดท้ายอีกว่า วันนี้ขายจนของหมด แล้วไปซื้อของมาเพิ่ม แต่การชุมนุมสลายก่อนทำให้มีของเหลืออยู่ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะจะเก็บไว้ขายครั้งต่อไป และคาดว่าน่าจะเอาออกมาขายอีกทีในวันที่ 24 ที่เขาจะออกมาเดินขบวนกัน

หลากหลายทัศนะคิดมุมมองจากผู้ค้า ผู้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ที่มาซ้ำเติม แต่จากปรากฎการในครั้งนี้ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะการชุมนุมจึงทำให้พวกเขามีรายได้ มีเงินทุนมาต่อยอดการทำอาชีพและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามแม้ช่วงที่มีการชุมนุมจะเป็นช่วงที่พ่อค้าแม่ค้าริมถนนจะสามารถกอบโกยรายได้มากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเปิดร้านขายในพื้นที่การชุมนุมนั้นมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงปกติที่ซบเซาจนสร้างความลำบากอย่างสุดจะทน การยอมเผชิญความเสี่ยงเพื่อแสวงหากำไรหล่อเลี้ยงชีวิตให้มากที่สุดก็คงจะเป็นทางเลือกเพียงไม่กีทางสำหรับพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า