Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว
1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราขยับเดินหน้าเร็วมากๆ การชุมนุมที่มีเยาวชนเป็นแกนหลัก ได้ทำให้สังคม “ได้เรียนรู้” และ “พบเห็น” สิ่งต่างๆมากมาย
บรรยากาศการเมืองตอนนี้ เต็มไปด้วยความเข้มข้น ซึ่งเชื่อได้เลยว่า อีกไม่นานต่อจากนี้ ถ้ายังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ มันจะทวีความดุเดือดมากขึ้น และอาจนำไปสู่ตอนจบ ที่ไม่มีใครคาดถึง
ในสายตาของผู้เขียนที่เป็นสื่อมวลชนมองดูปรากฎการณ์นี้อยู่ทุกวัน เห็นอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง ได้ทำการสรุป 8 ประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ โดยความคิดเห็นทั้งหมดในบทความนี้เป็นดุลยพินิจของผมเอง 100% นะครับ
1) ถ้าเอาแต่แก้ปัญหาปลายเหตุ มันจบยาก
การชุมนุมในครั้งนี้ของม็อบราษฎร มีเป้าหมาย 3 ข้อคือ 1) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออก 2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือจะทำได้หรือไม่ได้ ก็เรื่องหนึ่ง แต่มันก็จะดีกว่า ถ้ารัฐบาลออกมาพูดคุยอะไรสักอย่าง ว่าข้อเสนอเหล่านี้ของม็อบมีความเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ มีคำอธิบายไหมว่าเพราะอะไร
ข่าวที่ออกมาจากฝั่งรัฐ มีแต่เรื่องปลายเหตุทั้งสิ้น เช่นพยายามไล่ปิดโซเชียลมีเดีย, ตำรวจวางกลยุทธ์ตั้งด่าน, กระตุ้นให้มีสำนึกรักชาติ ฯลฯ แต่กับประเด็นที่เป็นหัวใจจริงๆ คือ “ข้อเรียกร้องทั้ง 3” กลับไม่เคยถูกนำมาพูดถึงเลย แล้วแบบนี้การชุมนุมมันจะจบได้อย่างไรล่ะ?
ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ฝั่งรัฐสภา คนที่กินเงินเดือนเป็นแสนจากประชาชน เมื่อเห็นม็อบรวมตัวกันเป็นล้านคนแบบนี้ แต่สส.ฝั่งรัฐบาลก็ไม่ยอมรวมตัวกันเพื่อเปิดสภาเสียที จนต้องมีมติครม. เปิดสภาเฉพาะกิจในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมนี้ เพื่อลดแรงกระแทกจากสังคม แต่ในวาระการประชุม ก็จะมีแต่ประเด็นเรื่องโควิด-19 กับ การปิดขบวนเสด็จ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุมเลย
ขณะที่ประชาชนมองว่า ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้คือเรื่องใหญ่ที่จะรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว จึงมีคนเข้ามาร่วมชุมนุมเยอะขนาดนี้ แต่ทางภาครัฐยังใช้วิธีดึงเวลาไปเรื่อยๆ หวังว่าพลังของม็อบจะแผ่วไปเอง ส่วนสภาก็รอให้ผ่านวันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ อีก แล้ววันจันทร์ค่อยกลับมาทำงาน โดยไม่รู้สึกเลยว่านี่คือสถานการณ์เร่งด่วนขนาดไหนแล้ว
คนชุมนุมก็ชุมนุมไป คนถืออำนาจก็ถือไปไม่ได้สนใจอะไรทั้งนั้น แล้วแบบนี้ เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้ถูกนำมาคุยกันอย่างจริงจัง เรื่องมันจะจบได้อย่างไร?
2) ยุคนี้อธิบาย ง่ายกว่าปกปิด
แนวคิดของรัฐบาล ในการจัดการกับคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับตัวเอง เรายังสังเกตได้ว่าใช้การ “ปิด” ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น ตอนที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะใช้งานแพลตฟอร์ม Telegram ในการติดต่อสื่อสาร ปรากฎว่ากระทรวงดิจิทัลฯ สั่งให้กสทช. ระงับแอพ Telegram ซะ เพื่อไม่ให้คนติดต่อกันได้อีก (แต่จะทำได้หรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง)
หรืออย่างตอนที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ วอยซ์ ทีวี, ประชาไท, The Reporter, The Standard และเพจเยาวชนปลดแอก โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาของสื่อเหล่านี้ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
วิธีการที่รัฐพยายามใช้ ตอบโต้กับแนวคิดที่ตรงข้ามกับตัวเอง คือสั่งปิดซะ ไม่ให้ประชาชนได้พบเห็นอีกเลย ซึ่งใช่ มันอาจได้ผลในยุค 30 ปีที่แล้ว แต่ในยุคปัจจุบัน แพลตฟอร์มมีเป็นร้อยช่องทาง ปิดทางนี้ ก็ไปเผยแพร่ทางนั้น คือมันกลายเป็นเกมไล่จับที่สิ้นเปลืองพลังงานและไม่มีวันจบสิ้น คุณไม่มีทาง “ปิด” ได้ตลอดไปหรอก ดังนั้นสิ่งที่ง่ายกว่าการปิด คืออธิบายให้เคลียร์ ถ้ารัฐเห็นว่าข้อมูลของผู้ชุมนุมจุดไหนไม่ถูกต้อง ก็เอาข้อมูลมากางอธิบายกันเลยดีกว่า ไม่ต้องหนี ไม่ต้องหลบ ไม่ต้องไล่ปิด ถ้าหากชี้แจงชัดเจนแล้ว เหตุผลฟังขึ้น ทุกอย่างก็จบ รัฐต้องเข้าใจก่อนว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการสู้กันที่อุดมการณ์ ส่วนสื่อในมือเป็นแค่ช่องทางเท่านั้น ถ้าอุดมการณ์ของการชุมนุมยังอยู่ แม้จะไล่ปิดสื่อแค่ไหน แต่คอนเทนต์มันก็สร้างใหม่ๆได้ตลอดนั่นแหละ ที่สำคัญกระทรวงดิจิทัลฯ มีชื่อเต็มว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ดังนั้น น่าจะไปโฟกัสว่าทำอย่างไรจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ตามชื่อกระทรวงดีกว่า การเสียเวลามาไล่ปิดโซเชียลมีเดีย ปิดสื่อ และคอยรับบทบาทตำรวจอินเตอร์เนตมันสิ้นเปลืองพลังงานของคนในกระทรวงมากไปโดยไม่จำเป็นนะ
3) เด็กรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้นจริงๆ
ผู้เขียนอายุ 36 ปี สมัยมัธยมปลาย เรียนที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งจริงๆก็นับว่ามีจุดเด่นในด้านวิชาการ แต่ถ้าพูดกันแฟร์ๆเลย ผมเองและคนรอบตัวในยุคนั้น มีความตื่นตัว และความรู้ในเรื่องการเมือง เทียบไม่ได้เลยสักนิดกับเด็กในยุคนี้ เมื่อก่อนเด็กๆ จะถูกปลูกฝังเสมอให้ “ทำหน้าที่ของตัวเอง” ซึ่งก็คือตั้งใจเรียนนั่นแหละ ส่วนเรื่องการเมือง คำที่ได้ยินบ่อยมากคือ “มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เขา” แต่เด็กในยุคปัจจุบันเขามองภาพได้เข้าใจกว่า เขารู้ว่า “การเมืองเป็นของทุกคน” ซึ่งใช่ มันก็ถูกต้อง
การเมืองไม่ควรถูกจำกัดในเรื่องของอายุ เพราะอย่าลืมว่าประเทศนี้มันก็บ้านเมืองเขาเหมือนกัน มันเป็นประเทศที่เขาต้องใช้ชีวิตไปอีก 40-50 ปี ดังนั้น เขาก็มีสิทธิ์ที่จะคิด จะวาดฝันถึงสิ่งใดก็ได้ที่เขาต้องการ ในกลุ่มผู้ชุมนุมตอนนี้เราจะเห็นเด็กรุ่นใหม่ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ทั้งในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 , เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา รวมถึงหนังสือที่เล่าถึงการเมืองและสังคมในประเทศอื่น ไม่เพียงแค่นั้น เยาวชนยังสนใจเรื่องการประชุมสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแถลงการณ์ต่างๆของนายกฯ ทุกอย่างที่เคยดูเป็นเรื่องหนัก สำหรับเด็กยุคก่อนๆ แต่เด็กยุคปัจจุบัน มองมันว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่คุยกันได้ ซึ่งแน่นอน การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องไกลตัว และความสนใจของพวกเขาก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าดีใจแล้ว
4) การใช้กำลังไร้ประโยชน์ในทุกกรณี
สำหรับผู้ชุมนุมเองไม่ว่าจะฝ่ายไหน ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสันติ สามารถทำได้หมด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น นั่นหมายถึงสัญญาณที่ไม่เอื้อต่อการปรองดองกันแล้ว รัฐบาลฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม เราก็เห็นแล้วว่าเป็นเป็นการจุดเชื้อไฟให้โหมแรงขึ้น การที่ผู้ชุมนุมรายหนึ่งใช้คีมเหล็กตีที่โล่ตำรวจก็ถูกนายกฯหยิบไปโจมตีว่าใช้ความรุนแรงใส่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเหตุการณ์ตอนอาชีวะที่บางนา ขว้างกรวยจราจรใส่ป้อมจราจรจนกระจกแตก ก็ทำให้การชุมนุมที่บางนาในวันนั้นต้องยุติทันที และล่าสุด เหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ กลุ่มคนเสื้อเหลืองขว้างลำโพงใส่รถของนักศึกษา จนนักศึกษาอายุ 18 ปี บาดเจ็บจนต้องเข้าเฝือก จะเห็นว่าการใช้กำลังไม่เคยสร้างประโยชน์ใดๆเลย มีแต่จะทำให้คนบาดเจ็บ และเพิ่มความเกลียดชังใส่ฝั่งตรงข้ามมากขึ้นไปเรื่อยๆ คือปัญหามันไม่จบแน่ ถ้าฝ่ายรัฐและฝั่งปกป้องสถาบัน มั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเลย แค่อธิบายกันไปด้วยจุดยืนของตัวเองก็เพียงพอแล้ว
ตำรวจเองก็สำคัญเช่นกันในเรื่องนี้ ถ้าเห็นการทำร้ายร่างกาย อย่าออกตัวล้อฟรี ไม่ว่าจะฝั่งไหน มีบทลงโทษให้หมด อย่าเลือกข้าง ฝั่งนี้จับฝั่งนั้นปล่อย ถ้าตำรวจเด็ดขาดกับทุกคนจริงๆ การใช้กำลังก็จะค่อยๆลดลงไปเอง
5) ดราม่า Call Out
การ Call Out ทางการเมือง คือการประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนทิศทางการเมืองฝั่งไหน ซึ่งแน่นอน ถ้าคุณเชื่อมั่นในการเมืองแบบหนึ่ง คุณก็คาดหวังว่าศิลปินที่เราชอบ จะคิดเหมือนกันด้วย แต่ดราม่าที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์สัปดาห์นี้ คือมีแฮชแท็กเช่น #แบนดาราปรสิต #แบนแทกุกไลน์ #วันนี้ดาราcalloutหรือยัง เป็นแรงกดดันให้ศิลปินออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนไปเลย
แฮชแท็กเช่น “แบนแทกุกไลน์” หมายถึง การแบนศิลปินไทยในเกาหลี เช่นลิซ่า, แบมแบม, นิชคุณ ฯลฯ ซึ่งแฮชแท็กนี้เกิดขึ้น เพราะมองว่าเซเล็บไทยในเกาหลี มีพาวเวอร์มาก ถ้าแสดงจุดยืนทางการเมือง ก็น่าจะทำให้ทั้งโลกได้ตื่นตัวเรื่องที่เกิดขึ้นไทย แต่กลับไม่มีศิลปินคนไหนในเกาหลี พูดถึงการชุมนุมเลย ดังนั้นจึงมีการใช้แฮชแท็ก “แบนแทกุกไลน์” เพื่อแบนกลุ่มศิลปินไทยเหล่านี้ ซึ่งก็มีคนสนับสนุน และคนที่ไม่เห็นด้วยปนๆกัน
อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หมายถึงคนทุกคนจะ Call out หรือไม่ Call out ก็ได้ ไม่มีใครบังคับคุณได้ เช่นเดียวกับประชาชน ก็สามารถสนับสนุน หรือเลิกสนับสนุน ศิลปินคนไหนก็ได้ คือทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ จริงๆ เรื่องนี้ ถ้ามองอีกมุม การไม่ Call out เชียร์ฝั่งหนึ่ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นคือขั้วตรงข้าม คือแต่ละคนมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางคนที่บ้านเชียร์อีกฝั่งอย่างรุนแรง ถ้าเปิดตัวอาจโดนตัดพ่อตัดลูก หรือบางคนอาจมีปัญหากับเจ้าของบริษัทที่ทำงานอยู่ ในเงื่อนไขที่ประเทศไทยเป็นแบบนี้ ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อ call out สำหรับบางคนมันอาจจะแพงเกินไป
6) ปิดขนส่งมวลชนได้ประโยชน์แค่ไหน?
การชุมนุมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็อาศัยในกรุงเทพฯ ช่วงเย็นจะมาแสดงสัญลักษณ์ ในจุดที่นัดหมาย จากนั้นก็เดินทางกลับบ้าน เช้ารุ่งขึ้นก็ไปทำงาน ไม่มีการปักหลักอยู่ยาวเหมือนม็อบอื่นๆ ในอดีตการเดินทางของม็อบนั้น ก็จะใช้รถเมล์ รถไฟฟ้า และแอร์พอร์ทลิงค์ ซึ่งรัฐแก้เกมหวังเบรกการชุมนุมด้วยการ “ปิดสถานีรถไฟฟ้ารอบบริเวณการเดินทาง” จะชุมนุมที่ราชประสงค์ ก็ปิดสถานีชิดลม และสยาม อย่างไรก็ตาม พอผู้ชุมนุมแก้เกมด้วยการไม่บอกสถานีปลายทาง คราวนี้ BTS จึงปิดทุกสถานีแทน
สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้ชุมนุมสุดท้ายก็มากันได้อยู่ดี คนก็ยังหนาแน่นทั่วบริเวณ แม้รถไฟฟ้าจะปิด นอกจากนั้น การปิดขนส่งมวลชน ภาครัฐลืมไปหรือเปล่าว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน คนที่ต้องทำงาน ด้วยรถเมล์ รถไฟฟ้าเขาก็มีเหมือนกัน แล้วเขาจะต้องทำอย่างไร เมื่อจู่ๆ โดนตัดเส้นทางการเดินทางแบบนี้ ถ้าคนรีบๆ จากเสียเงินค่ารถไฟฟ้าแค่หลักสิบ อาจต้องเสียค่าแท็กซี่เป็นหลักร้อยแทน
การตัดรถเมล์ รถไฟฟ้าแบบนี้ ไม่ก่อประโยชน์ใดๆเลย ถ้ารัฐจะทำเพียงเพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินทางยากแค่นั้น มันได้ไม่คุ้มเสียหรอก และมันจะดีกว่าไหม ถ้าเราให้ “ขนส่งมวลชน” ได้ทำหน้าที่ของมัน คือ “ขนส่งมวลชนไปยังในที่ที่เขาต้องการ”
7) รถพยาบาลควรได้รับข้อยกเว้น
มีภาพที่น่าสะเทือนใจหลายครั้งที่เกิดขึ้นในการชุมนุม เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐวางบังเกอร์ เพื่อป้องกันผู้ชุมนุม แต่ในระหว่างการป้องกัน พอมีรถพยาบาลเข้ามาขอให้เอาบังเกอร์หลบ เพื่อนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่กลับโดนปฏิเสธ จนรถพยาบาลต้องอ้อมไปเส้นทางอื่นแทน ในอนุสัญญาเจนีวา ระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับการคุ้มครองจากการโจมตีในสงคราม มันแปลว่า ไม่ว่าที่ไหนในโลก ถ้าเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายในชีวิต มันไม่มีเรื่องข้าง เรื่องฝ่ายแล้ว
เหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีรถพยาบาลต้องการผ่านบังเกอร์เพื่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ห้ามเอาไว้ไม่ให้ผ่านไปได้ ทั้งๆที่ยกที่กั้นหลบได้ง่ายๆ ซึ่งสุดท้ายรถพยาบาลต้องอ้อมไปอีกด้านแทน ซึ่งใช้เวลานานกว่า มีการเปิดเผยภายหลังว่า ผู้ป่วยในรถพยาบาลคนนั้นปลอดภัยแล้ว แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ความเป็นความตายของคน มันไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดหรือ
ชีวิตของคนหนึ่งคน ล้วนแล้วแต่มีค่า ถ้าคนในรถเป็นคนที่เรารักล่ะ วินาทีเดียวที่แพทย์ต้องยื้อชีวิตคนไข้ มันมีความหมายทั้งนั้น เรื่องนี้มันเกินกว่าความเห็นทางการเมืองไปแล้ว
8) ต้องระวัง Hate Speech
ความนิยมของกลุ่มผู้ชุมนุมในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเพราะประชาชนทั่วไปมองเห็นว่า เยาวชนเหล่านี้เป็นคนที่มีการศึกษา และต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ข้อเรียกร้องทุกข้ออยู่ในข่ายที่เข้าใจได้ แม้แต่ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถ้าพูดคุยดีๆด้วยเหตุผล โดยมีการเปิดพื้นที่ให้มีนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยรองรับ ก็น่าจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ว่าจะปฏิรูปได้มากน้อยแค่ไหน
จุดสำคัญที่ผู้ชุมนุมต้องเข้าใจคือ การจะเปลี่ยนแปลงใดๆนั้น จำเป็นต้องสร้างฐานมวลชนให้แข็งแกร่ง ยิ่งมีคนสนับสนุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จง่ายขึ้นเท่านั้น การสร้างศัตรูเพิ่ม มีแต่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงช้าลงเท่านั้น
ณ เวลานี้ จุดที่จะทำให้ผู้ชุมนุมเสียฐานมวลชนไป นั่นคือการใช้ Hate Speech ภายในม็อบ Hate Speech และคำจาบจ้วงรุนแรงที่มีต่อกษัตริย์ มันทำให้ประชาชนทั่วๆไปที่กำลังเลือกว่าจะวางตัวอย่างไรรู้สึกสับสน ว่าสรุปคือต้องการล้มเจ้าหรือเปล่า อยากให้สถาบันกษัตริย์หายไปเลยหรือไม่ ซึ่งผู้ชุมนุมก็ต้องมาอธิบายอีก ว่าการปฏิรูปกับการล้มเจ้าไม่เหมือนกันนะ แต่คนที่รักสถาบันก็ตั้งคำถามสวนขึ้นมาได้อีกว่า ถ้าแค่ปฏิรูปทำไมต้องใช้คำหยาบคายขนาดนั้น และบางเรื่องก็ใช้คำรุนแรงไปถึงรัชกาลที่ 9 ด้วย คือถ้าเป็นเรื่องที่คุยด้วยเหตุผล เช่นถามว่าในหลวงคิดค้นฝนเทียมจริงหรือไม่ ก็มีการอธิบายไปว่าจริง มีการอ้างอิงสิทธิบัตรกันชัดเจน แบบนี้ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่บางคนหรือบางคอมเมนต์ ใช้คำรุนแรงที่เกินกว่าการตั้งคำถาม ซึ่งนี่เองกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ม็อบคนรักสถาบัน มีข้ออ้างลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน กลายเป็นเพิ่มดราม่าที่ไม่ควรจะมี
เกมการเมืองนั้น การต่อรองเพื่อเรียกร้องอะไรสักอย่างเป็นสิ่งสำคัญ มันจำเป็นต้องมีการวางแผน อะไรที่ทำแล้วจะนำไปสู่เป้าหมายได้ “ยากขึ้น” อย่าทำสิ่งนั้น
[ โอกาสสุดท้ายที่ยังไม่สายเกินไป ]
สิ่งที่น่าจับตามองต่อไป คือ “ท่าที” ของผู้ชุมนุมว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อ
กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีไม่ลาออกง่ายๆแน่ ถ้าดูจากบทสัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสมาชิกจะยอมง่ายๆหรือ? อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ใน 1-2 เดือนนี้แน่ๆ เช่นเดียวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะถึงจุดนี้ยังไม่มีการเปิดพื้นที่ ให้คนสองฝ่ายได้คุยกันเลยด้วยซ้ำ ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ที่เสนอไป อาจจะไม่ได้เลย “สักข้อ” ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น การชุมนุมจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งที่ภาครัฐทำตอนนี้ คือพยายามลดพลังของการชุมนุม เช่นการจับแกนนำ การปิดกั้นการเดินทาง การขัดขวางด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่ การปิดช่องทางการสื่อสาร ซึ่งทั้งหมดมันคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ณ จุดนี้ รัฐบาลต้องเข้าใจได้แล้ว ว่าการชุมนุมในปัจจุบัน ไม่ใช่การสู้ระหว่าง บุคคลต่อบุคคล ถ้าเป็นม็อบในอดีต จับแกนนำเสร็จแล้วก็จบ เด็ดหัวแม่ทัพได้ คนอื่นก็สูญสลาย แต่การชุมนุมในเวลานี้ เป็นการสู้กันระหว่างอุดมการณ์ความคิด มันคือการต่อสู้กันของอนุรักษ์นิยม คนที่คิดว่าสิ่งที่มีมันดีอยู่แล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร อยากให้ทุกอย่างคงอยู่เหมือนเดิมตลอดไป กับอีกกลุ่มคือ เสรีนิยม ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่านี้ เพราะเชื่อว่าศักยภาพที่ประเทศมี มันยังไปได้ไกลกว่านี้อีก
การต่อสู้โดยอุดมการณ์ ต่อให้คุณจับแกนนำได้ แต่ “ความคิด” ที่ส่งต่อกันไปแล้ว ก็คงอยู่ตลอดไป มันไม่มีทางชนะได้ แค่เพราะจับตัวใครสักคนเข้าห้องขังหรอก การเจรจากันในตอนนี้ ยังสามารถทำให้อนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม เดินไปด้วยกันแบบครึ่งทางได้ แต่ถ้าเลยผ่านจุดนี้ไป เมื่อเยาวชนเหล่านี้โตขึ้นมาจนมีอำนาจที่จะขับเคลื่อนประเทศได้ ถึงจุดนั้น ประเทศไทยจะไม่มีช่องว่างใดๆให้ปรองดองกันอีกแล้ว
บทความโดย : วิศรุต สินพงศพร

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า