ตลอดตุลาคมที่ผ่านมามีการประท้วงเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ รอบโลกพร้อม ๆ กัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่ใน 2 ประเทศมีประเด็นเรื่องการเรียกร้องเอกราชเพิ่มขึ้นมาด้วย
ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ชวนทุกคนมาสำรวจสถานการณ์การประท้วงในประเทศต่าง ๆ กัน
กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลชิลีประกาศว่าจะมีการเพิ่มค่าโดยสาร นี่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวชิลีซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้วฉุนขาด นักเรียนนักศึกษาชิลีเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาประท้วง ก่อนคนจากภาคส่วนต่าง ๆ จะออกมาร่วมบนท้องถนนเมืองซานดิเอโก้กว่าหนึ่งล้านคน
ประชาชนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ และสถานการณ์แย่ลงถึงขั้นมีการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
ในตอนแรกรัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าว กองทัพชิลีออกมาปราบปรามการประท้วง มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จับกุมคนกว่า 2,600 คน ต่อมารัฐบาลจึงมีท่าทีอ่อนลง เซบาสเตียน ปิเนรา ประธานาธิบดีของชิลีก็ให้สัญญาว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ตรึงราคาค่าไฟและค่าโดยสารรถสาธารณะไว้ และจะแก้ไขระบบสุขภาพของประเทศให้ดีขึ้น หลายคนเชื่อว่าเขาออกมาช้าเกินไป เพราะสถานการณ์ประท้วงไม่ได้มีท่าทีคลี่คลายลงแต่อย่างใด
สาเหตุการประท้วงในเลบานอนก็ใกล้เคียงกับชิลี คือที่ผ่านมาเลบานอนมีเชื้อไฟกรุ่นจะประท้วงมาหลายครั้งเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สุดท้ายไฟประท้วงมาจุดติดเมื่อรัฐบาลประกาศจะเก็บภาษีจากการแชท
รัฐบาลออกมาประกาศถอยทันที แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจะไม่ได้อยู่ที่ภาษีแชทแล้ว ผู้ประท้วงออกมาบอกว่า รัฐบาลของเลบานอนถูกผูกขาดอำนาจโดยนักการเมืองกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียว และเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองและลาออก ไฮไลท์ของม็อบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่แรกเลยการชุมนุมใช้ดอกกุหลาบสีแดงเป็นสัญลักษณ์ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนขับรถผ่าน ทารกที่อยู่ในรถตกใจกลัวผู้คนที่ออกมาชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงร้องเพลง “เบบี้ชาร์ก” ปลอบใจ นับแต่นั้นมาเพลงเบบี้ชาร์กเลยกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการชุมนุม การประท้วงนี้ยังไม่พบว่ามีการใช้ความรุนแรงใด ๆ เลย
รัฐบาลเลบานอนมาจากหลายพรรคการเมืองด้วยกัน บางกลุ่มมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามผู้ประท้วงบ้าง เช่น คณะรัฐมนตรีเสนอแผนการปฏิรูปฉุกเฉินและประกาศลดเงินเดือนนักการเมือง แต่บางกลุ่มก็ยังมีการเกลี้ยกล่อมว่าระบบการเลือกตั้งเดิมก็ดีอยู่แล้ว
ปัจจุบันผู้ประท้วงมาจากหลายกลุ่มและมีความต้องการที่หลากหลาย ยังไม่มีการเสนอข้อเสนอที่แน่ชัดและยังไม่มีทีท่าว่าผู้ประท้วงจะสลายตัว
อิรักเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น และสถานการณ์สงครามรุมเร้าติดต่อกันมาเป็นเวลานาน แต่การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาปากท้อง ร่วมเข้ากับปัญหาว่างงาน นำการประท้วงโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
การประท้วงขยายตัวทั้งในเมืองหลวงของอิรักและเมืองทางใต้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและการว่างงาน ผู้ประท้วงบางคนยังเรียกร้องถึงการเปลี่ยนระบบการเมืองเสียใหม่
รัฐบาลอิรักรับมือกับการประท้วงอย่างรุนแรงมาก มีรายงานว่าผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 150 คนตั้งแต่ช่วงต้นเดือน 70% ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกกระสุนยิงที่หน้าอกและศีรษะ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อพยายามทำให้อารมณ์ของผู้ประท้วงสงบลง
คาตาโลเนียซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในสเปนประท้วงเพื่อเรียกร้องเอกราชมาแล้วหลายครั้ง ถึงกับมีการทำประชามติภายในว่าอยากให้แคว้นของตนเป็นเอกราชจากสเปนหรือไม่ สุดท้ายถูกศาลสูงสุดของสเปนตัดสินว่าการทำประชามติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะไม่มีผลทางกฎหมาย
แต่ล่าสุดการประท้วงถูกจุดมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562เพราะอดีตรัฐบาลท้องถิ่น 9 คนที่นำการทำประชามติถูกศาลสูงสุดสเปนตัดสินว่ายุยงปลุกปั่นและใช้เงินภาษีในการมิชอบ ต้องโทษจำคุกสูงสุด 9 ปี
วันที่ศาลสูงสุดตัดสิน ชาวคาตาลันออกมาเดินขบวนบนท้องถนนเมืองบาร์เซโลนา มีการบุกสนามบินนานาชาติ คืนนั้นเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมอีกหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำเรียกร้องเอกราชทั้ง 9 คน
ต่อมามีม็อบอีกกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น คือม็อบต่อต้านการแยกตัวออกจากสเปน ออกมาโบกธงชาติสเปนให้กำลังใจรัฐบาลกลาง แต่จากการรายงานพบว่าฝูงชนทั้งสองยังไม่เคยปะทะกันแต่อย่างใด
รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงขึ้น มีการขอตั้งโต๊ะเจรจากับรัฐบาลกลางสเปน แต่ถูกรัฐบาลกลางปฏิเสธ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ก็เปลี่ยนได้ตลอดเวลาเนื่องจากสเปนกำลังจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลกลางของสเปนใหม่ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ที่จะถึงนี้
การประท้วงที่ฮ่องกงไม่ได้หายไปไหน ผู้คนยังนัดออกมาประท้วงเต็มท้องถนนอย่างรุนแรงทุกสัปดาห์ แม้การประท้วงนี้จะกินเวลามาเกือบ 5 เดือนแล้ว นับว่าเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้เลยก็ว่าได้
แรกเริ่มเดิมทีการประท้วงฮ่องกงจุดติดด้วยกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่เวลาล่วงมาถึงวันนี้การประท้วงไม่ใช่เรื่องเดิมอีกต่อไป แต่ดูเหมือนว่าเป็นรอบร้าวระหว่างชาวฮ่องกงกับรัฐบาลจีนมากกว่า
รัฐบาลฮ่องกงยอมถอนร่างกฎหมายซึ่งเป็นสาเหตุอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ข้อเรียกร้องก็ได้ขยายไปถึงขอให้มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งฮ่องกงให้เป็นแบบ 1 สิทธิ 1 เสียงเสียที ผู้ประท้วงบางกลุ่มถึงขนาดขอให้ฮ่องกงแยกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงก็ไม่ได้ตอบโต้ประการใด เมื่อมีการประท้วงก็เพียงออกมาสลายฝูงชน
ตอนนี้ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากการประท้วงอย่างหนัก ร้านรวงและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูญเสียรายได้มหาศาล ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะยอมคุยกับผู้ประท้วงในเรื่องอื่นบ้างหรือไม่ หรือจะรอให้อ่อนแรงแล้วหยุดประท้วงอย่างที่เคยเป็นในม็อบร่มเหลืองเมื่อปี 2557 แม้ผู้ประท้วงจะประกาศว่าจะไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง