SHARE

คัดลอกแล้ว

เช้าวันฝนพรำ เราเริ่มสนทนากันในห้องเล็กๆ ขณะที่แสงสลัวส่องผ่านหน้าต่างบานใหญ่ โซฟาสีเข้มทอดตัวอยู่มุมห้อง ตรงกลางมีโต๊ะกับเก้าอี้ไม้ตัวเล็กสูงแค่เข่า วางกระดาษ ดินสอสี และตุ๊กตา “นี่ห้องทำงานผมเองครับ” นรพันธ์ ทองเชื่อม หรือ ต้น แนะนำสถานที่ทำงานพร้อมรอยยิ้ม

       ‘ผู้ฟัง’ คืองานของเขาในฐานะนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ต้นรับฟัง ให้คำปรึกษา และทำจิตบำบัด (CBT – Cognitive Behavioral Therapy) ให้กับเด็กๆ อยู่ที่คลินิกเอกชนมานานเกือบ 10 ปี และปัจจุบันนี้เขายังขยับเข้าไปทำงานด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนด้วย ผมเข้าประจำที่โรงเรียนประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง ในโรงเรียนที่เขามีระบบซัพพอร์ตทางด้านจิตวิทยา สิ่งที่เจอคือเรากลายเป็น ‘คนกลาง’ ระหว่างตัวเด็ก ครอบครัว และการบำบัดรักษา”

ต้น-นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยา มีรักคลินิก

เด็กเครียดเรื่องอะไร

       คำถามนี้สำคัญนะครับ เด็กเครียดได้ทุกเรื่องเลย ขึ้นอยู่กับ Perception ของเด็กคนนั้น เขามองเรื่องนั้นยังไง เด็กบางคนมาด้วยเรื่องใหญ่ เช่น สอบไม่ติดทุนโอลิมปิก ซึ่งเขาตั้งเป้ามา 2 ปี เตรียมตัวมานาน ก็ดูน่าเครียดจริงๆ หรือเด็กบางคนโดนเพื่อนแหย่ ถูกเอารองเท้าไปซ่อนซ้ำๆ ก็เครียด

       ในมุมจิตวิทยาเรามองเรื่องความรู้สึกที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจะไม่เริ่มจากการตัดสินว่า เรื่องของเขาควรทุกข์หรือไม่ควรทุกข์  เรื่องที่ดูเหมือนเล็กก็อาจจะใหญ่ได้ในบางมุมของเด็กๆ ถ้าวันนึงเขาเดินเข้ามาหาผู้ใหญ่สักคนเพราะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เขาอยากจะเล่าเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ก็ควรเพิ่มท่าทีรับฟังมากกว่าจะบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เรื่องเด็กๆ

 

ความกดดันจากการเรียนเป็นสาเหตุที่เด็กเครียดด้วยไหม

       เรื่องเรียนต้องยอมรับอย่างนึงเพราะสังคมเรามีระบบการเรียนการสอนที่วัดลำดับ เด็กที่สนใจเรื่องเรียนมาก ลำดับตัวเลข โดยเฉพาะตัวเลขเดี่ยวๆ คงเป็นสิ่งเขาอยากได้ กลับมามุมเดิมคือขึ้นอยู่กับมุมมองของเด็กคนนั้น หรือความคาดหวังจากผู้ใหญ่รอบด้านที่บอกว่าเขาควรจะได้อะไร เท่าไหร่ ก็ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน หลังพิงฝา คุยกับใครก็ไม่ได้เพราะมีแต่คนหวัง เคยมีเด็กมานั่งตรงหน้าแล้วบอกว่า หนูเหนื่อยจังที่ต้องเป็นลูกที่สอบได้ที่เท่านี้ของพ่อแม่ ก็มี

       ผมยังยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากความหวังดี พ่อแม่บางคนคิดว่าอนาคตต่อไปจะซับซ้อนมากขึ้นถ้าเด็กเรียนเก่งแล้วจะสามารถอยู่รอดในโลกใบนี้ แต่ตอนพ่อแม่หวังดี เราฟังเสียงใคร นอกจากฟังความคิดของตัวเองแล้ว ลองฟังเด็กๆ ด้วย ฟังทั้งภาษาที่เขาพูดและภาษาที่เขาไม่ได้พูด

       หลายครั้งเด็กก็ไม่ได้เดินเข้ามาบอกพ่อแม่นะครับ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น แต่ถ้าภาษากาย ภาษาในการใช้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป เช่น ตื่นสายขึ้น ดูหงุดหงิดมากขึ้น ไม่อยากคุยกับใคร สิ่งที่เคยชอบกลับไม่ชอบ ถ้าเราสังเกตได้ เปิดใจ ชวนเขาคุยกับเราบ้างในเรื่องที่ทุกข์ใจอยู่

 

ทำไมการฟังถึงสำคัญมากๆ

       เวลาที่ความทุกข์มันเกิดขึ้น เราคงยังไม่อยากได้วิธีแก้ไขจนกว่าอารมณ์ความคิดจะพร้อมใช่ไหมครับ หลายคนเลยเลือกใช้วิธีที่แตกต่างกัน บางคนกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง นอน ก็สามารถกลับมาต่อสู้กับอุปสรรคนั้นต่อได้ แต่หลายคนเมื่อทุกข์มากๆ ใกล้เคียงว่าจะเจ็บป่วย เจ้าโหมดนั้นมันทำงานยาก การที่มีคนรับฟัง ไม่สอนและไม่ตัดสิน คอยอยู่กับเขาเหมือนเป็น ‘เพื่อนร่วมทาง’ จะช่วยประกอบความรู้สึกเจ็บปวดเดิมๆ ให้กลับมามั่นคงทีละเล็กทีละน้อย

ความคิดเห็นของเด็กที่ทีมข่าวเวิร์คพอยท์รวบรวมจากเว็บไซต์ dek-d.com และโซเชียลมีเดียอื่นๆ

เด็กสมัยนี้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจริงไหม

       เด็กๆ สนใจมากขึ้นครับ หลายคนเดินเข้ามาหาผมพร้อมกับบอกว่า หนูไปดูกูเกิ้ลมาค่ะ แล้วหนูก็เช็ก เช็ก เช็ก… ดูคล้ายจังเลย หนูอยากปรึกษาพี่ต้นหน่อยว่ามันเป็นยังไง ปีนึงที่เข้าไปประจำในโรงเรียน ผมเจอเคสใหม่ 30 เคสเป็นอย่างน้อย ระดับปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นจริงๆ แล้วเด็กๆ เองก็คงมีเรื่องทุกข์ที่อยากเล่าให้ใครสักคนฟัง แต่ 30 คนนี้ไม่ได้แปลว่าทุกคนป่วยนะครับ แค่กำลังจะบอกว่าเด็กเขาสนใจและพยายามเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น

       แต่สิ่งที่เป็นความกังวลของเด็กๆ คือท่าทีของคนบนโลกนี้ที่จะตัดสินความเจ็บป่วยของเขาในแบบที่เขาไม่ต้องการ เช่น อ่อนแอบ้างล่ะ เข้มแข็งขึ้นสิ สู้ๆ นะ เดี๋ยวมันก็หาย เขาคงไม่ต้องการท่าทีเหล่านี้ เด็กส่วนหนึ่งจึงยังติดค้างอยู่ ยังไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานของวิชาชีพจริงๆ หลังจากเข้าไปทำงานในโรงเรียนผมเจอสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

 

เด็กบางคนบอกว่าเขาอยากรักษาแต่ติดปัญหาที่ผู้ปกครอง

       ก็มีไม่น้อยเหมือนกันครับที่บอกว่า หนูกลัวบอกที่บ้านแล้วที่บ้านไม่ให้ ซึ่งผมก็ยังไม่รู้นะว่าจริงๆ ลึกๆ คืออะไร เพราะไม่เคยได้คุยกับผู้ปกครองเหล่านั้น ก็ยังมองว่าเป็นประเด็นเรื่องความเข้าใจอยู่ดี ว่าพ่อแม่อาจจะยังไม่เข้าใจ

       นอกเหนือจากเรื่องความเข้าใจ จากที่ผมเคยฟังเด็กๆ มา จริงๆ ก็จากน้องญาด้วย (อ่านบทสัมภาษณ์ ‘น้องญา’ ที่นี่) เด็กๆ บอกว่าเขาต้องการสิทธิ์ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมาย สำหรับผมซึ่งไม่ได้เป็นนิติกร ผมมองว่ากฎหมายเป็นประเด็นนึงที่น่าสนใจและน่าจะทำงานร่วมกันกับสังคมต่อไปได้อีก ถ้าเด็กๆ จะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าฉันอยากได้สิทธิ์บางอย่างเพิ่มขึ้น

       แต่ในฐานะของคนที่ทำงานด้านความคิดและอารมณ์ ผมยังไม่อยากให้คิดแต่มุมนั้นอย่างเดียว เพราะการทำงานกับเด็กๆ ไม่สามารถทำงานแค่เฉพาะตัวเด็กได้ System รอบๆ ตัวคือสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหา หรือเอื้ออำนวยให้ปัญหานั้นดีขึ้น ดังนั้นถ้าเราสามารถทำงานร่วมกันกับระบบที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก ทั้งโรงเรียนแล้วก็ผู้ปกครอง สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กก้าวผ่านเรื่องยากๆ ของตัวเองได้มากขึ้น

https://www.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.153956988306921/1011195525916392/?type=3&theater

 

สนับสนุนให้เด็กได้รับคำปรึกษาเบื้องต้น แต่ไม่จ่ายยา

       ล่าสุดได้พูดคุยกับอาจารย์ (นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร) ที่จิตเวช รพ.จุฬาฯ อาจารย์เองก็เห็นเรื่องนี้และให้ความสำคัญ อยากจะช่วยเด็กๆ คือถ้าเป็นผู้ใหญ่เขามีสิทธิ์รักษาอยู่แล้ว การตัดสินใจว่าจะรักษาหรือไม่รักษา เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ในกรณีของเด็กๆ ที่ต้องการเข้ารับการรักษา มันยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อยู่

       ณ ตอนนี้ คร่าวๆ นะครับ เราเตรียมเรื่องตั้งรับสำหรับเด็กๆ อายุตั้งแต่ 15 ปีที่มีบัตรประชาชน หรือจะใช้วิธีการแจ้งชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อของคนที่มีวุฒิภาวะในครอบครัว เพื่อทำบัตรที่เวชระเบียน รพ.จุฬาฯ แล้วเข้าพบคุณหมอในแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นได้เอง แต่ว่าจะไม่ได้รับยา คุณหมอจะจ่ายยาให้ได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง เด็กมีสิทธิ์ในการดูแลตัวเอง ตามกฎหมายคือ 18 ปี หรือสอง มีผู้ปกครองมาเซ็นเอกสารว่าเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมตามกฎหมาย

       แต่อย่างน้อยที่สุดที่เด็กๆ จะได้ก็คือ ‘คนฟัง’ ดังนั้นในวันที่เด็กๆ รู้สึกทุกข์มากจนต้องตัดสินใจไปสถานพยาบาล เขาจะได้ยาที่เรียกว่าคนฟังกลับไป แล้วมันทำให้เขารู้สึกได้ถึงความมีตัวตนอยู่ ยังมีคนที่รับฟังความทุกข์ของเขา ส่วนวิธีการหลังจากนั้นจะทำยังไงต่อ ผมว่าเป็นรายบุคคล แต่ละคนคงมีแผนในการช่วยเหลือไม่เหมือนกัน

       (ดูรายชื่อ โรงพยาบาลที่มีแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น)

 

พยายามสร้างความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถาวร

       ตัวที่กั้นกลางไม่ให้เด็กๆ เข้าสู่กระบวนการรักษาจริงๆ ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเข้าใจ ดังนั้นถ้าเด็ก ครู พ่อแม่ เข้าใจมันได้ไปพร้อมๆ กัน สังคมไม่ตัดสิน ผมว่านั่นเป็นทางออกที่เป็นถาวร

       ลองคิดตามดูนะครับ ถ้าเด็กๆ ได้รับยาไปจริงๆ ในวันที่พ่อแม่ไม่รู้ เกิดวันนึงพ่อแม่เห็นยาจะเกิดอะไรขึ้นต่อ… ใช่ไหมครับ มันจะเกิดความซับซ้อนใหม่ขึ้นมาระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะชวนคือเรากำลังสร้างความเข้าใจให้กับสังคม เพื่อลดการตีตราเรื่องความเจ็บป่วยและการเข้ารับการรักษา สุดท้ายถ้าความเข้าใจเดินหน้าไปได้ พ่อแม่กับเด็กจะจับมือกันแล้วเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น

 

https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/vl.2047396722196876/1093708574352680/?type=1

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า