SHARE

คัดลอกแล้ว

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อว่า OR กำลังจะเข้าตลาดหุ้นไทยเป็นครั้งแรกในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ โดย OR ถือเป็นหนึ่งในหุ้นตัวใหม่ที่นักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่จับตา ด้วยมูลค่ายอดขายกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท และคาดว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้น จะกลายเป็นหนึ่งในหุ้น 50 ตัวแรกที่มูลค่าสูงสุดของไทยทันทีด้วยมูลค่าตลาดเกิน 2 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นแล้ว การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ หรือ IPO ในครั้งนี้ ยังได้กันโควต้าไว้ให้นักลงทุนรายย่อยถึง 600 ล้านหุ้นด้วย ทำให้ประชาชนทั่วไปน่าจะสามารถจับจองเป็นเจ้าของหุ้นตัวนี้ได้แบบไม่ยากนัก

OR เป็นบริษัทประเภทไหน ทำธุรกิจอะไร ดูจะมีอนาคตหรือไม่ และนักลงทุนที่สนใจจะซื้อหุ้น IPO ของบริษัทแห่งนี้จะได้อะไรบ้าง workpointTODAY สรุปให้ฟังในบทความนี้

OR เป็นใครในเครือ ปตท.

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า OR) ที่จริงแล้วเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ต่อไปจะเรียกว่า ปตท.) ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่า ตัว ปตท. ที่เป็นบริษัทแม่นั้น ประกอบธุรกิจหลากหลายมาก ตั้งแต่สำรวจแหล่งน้ำมัน กลั่นและผลิตน้ำมัน บริหารท่อส่งก๊าซ เคมีภัณฑ์ ธุรกิจปั๊มน้ำมัน กระทั่งธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็มี ฯลฯ เอาเป็นว่าหลากหลายมาก

ปัญหาของการที่ธุรกิจหลากหลายไปรวมกันอยู่ใน ปตท. บริษัทเดียวก็คือ บางกิจการย่อยของ ปตท. อาจจะเติบโตได้ดีมาตลอดและมีผลประกอบการดี แต่เมื่อนำตัวเลขผลประกอบการของกิจการย่อยนั้นมารวมกับกิจการย่อยอื่นๆ ที่ผลประกอบการอาจไม่ดีนักหรือผลประกอบการผันผวน ก็จะทำให้นักลงทุนมองเห็นศักยภาพของกิจการที่เติบโตได้ดี ได้ไม่เต็มที่ หรือถึงจะเห็นก็ไม่สามารถลงทุนและให้ค่ากับกิจการนั้นๆ ได้ เพราะว่าถ้าอยากซื้อหุ้นก็ต้องซื้อในนาม PTT ที่เป็นบริษัทแม่อย่างเดียว ไม่สามารถซื้อหุ้นของกิจการย่อยได้ หากกิจการนั้นยังไม่ถูกแปลงเป็นบริษัทมหาชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์

ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหาร ปตท. จึงเกิดแนวคิดว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงไม่นำกิจการปั๊มน้ำมันและการค้าปลีกของ ปตท. ที่เติบโตได้ดีมาตลอด แยกเข้าตลาดหุ้นไปเลย นักลงทุนจะได้สามารถแยกลงทุนในกิจการย่อยนี้ได้ และตลาดจะได้สามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการปั๊มน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท. ได้ดีขึ้นด้วย นี่จึงนำมาสู่การแยกกิจการปั๊มน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท. ออกมาเป็นบริษัทแยกที่ชื่อ OR ดังกล่าว

หุ้นที่แบ่งขายให้นักลงทุนครั้งนี้ มากน้อยแค่ไหน

ต้องอธิบายก่อนว่า เดิม ปตท. ถือหุ้น OR อยู่ 100% เต็ม ซึ่งเท่ากับ 9,000 ล้านหุ้น โดยในการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะหรือ IPO ครั้งนี้ เป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้านหุ้น (ถ้านักลงทุนสนใจจองหุ้นตัวนี้กันน้อย จะขายหุ้นเพิ่มแค่ 2,610 ล้านหุ้น แต่ในที่นี้ขอตั้งสมมติฐานว่าคนสนใจจองหุ้นตัวนี้กันเยอะมากไปเลยเพื่อความง่าย) หมายความว่า ปตท. ไม่ได้ขายหุ้นเดิมที่ตัวเองถืออยู่ 9,000 ล้านหุ้นออกมา แต่ว่าออกหุ้นใหม่เพิ่มเข้าไปอีก 3,000 ล้านหุ้น และทำให้หลังจากเพิ่มทุนแล้ว OR จะมีหุ้นรวมทั้งสิ้น 12,000 ล้านหุ้น โดย ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดที่ 75% (9,000 ล้านหุ้น) ส่วนนักลงทุนทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่มาซื้อหุ้น IPO เพิ่มในครั้งนี้จะถือหุ้นรวมกัน 25% (3,000 ล้านหุ้น)

โดยในส่วนของนักลงทุนรายย่อย ทาง OR ได้กันโควต้าเอาไว้ให้เกือบ 600 ล้านหุ้น (ตัวเลขเป๊ะๆ คือ 595.7 ล้านหุ้น) และจะใช้วิธีจัดสรรหุ้นแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า small lot first โดยการซื้อขั้นต่ำในครั้งนี้กำหนดไว้ที่ 300 หุ้น และจะจัดสรร 300 หุ้นแรกนี่ให้ผู้จองซื้อทุกคนก่อน จากนั้นจะค่อยๆ จัดสรรเพิ่มขึ้นทีละ 100 หุ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นคนที่จองซื้อหุ้นเยอะๆ ก็อาจจะไม่ได้หุ้นครบตามที่จองซื้อก็ได้ แต่ข้อดีของการจัดสรรวิธีนี้ก็คือนักลงทุนทุกรายจะได้หุ้นตัวนี้อย่างถ้วนหน้า แม้จะได้น้อยหุ้นก็ตาม

สำหรับราคาหุ้น OR ในการ IPO ครั้งนี้ กำหนดไว้ที่ 16-18 บาท โดยราคาสุดท้ายยังไม่ได้มีการประกาศออกมา ทั้งนี้ สำหรับคนที่จองหุ้น จะต้องจ่ายเงินไปก่อนที่หุ้นละ 18 บาท ถ้าราคาสุดท้ายถูกกว่า 18 บาท/หุ้น จึงจะได้เงินส่วนต่างคืนทีหลัง และด้วยราคานี้ ทำให้เงินทุนขั้นต่ำสำหรับการลงทุนหุ้น IPO ของ OR อยู่ที่ 5,400 บาท (ขั้นต่ำ 300 หุ้น x 18 บาท)

OR ทำธุรกิจอะไร

OR ถือเป็นอาณาจักรธุรกิจที่ใหญ่ไม่น้อย ในปี 2562 OR มีรายได้รวมถึงกว่า 577,000 ล้านบาท รายได้ขนาดนี้มาจากธุรกิจหลัก 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1.) ธุรกิจค้าน้ำมัน (oil business) 2.) ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมัน (non-oil business) ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารพื้นที่ในปั๊มน้ำมัน และ 3.) ธุรกิจปั๊มน้ำมันและร้านอาหารในต่างประเทศ (International business)

เจาะลึกธุรกิจน้ำมัน: รายได้เยอะ มาร์จิ้นต่ำ

สำหรับธุรกิจน้ำมัน หลักๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือปั๊มน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ (PTT Station) ที่มีอยู่กว่า 1,968 แห่ง โดยในธุรกิจนี้ OR เป็นเจ้าตลาดอยู่ กินส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันตามปั๊มอยู่ประมาณ 40% ส่วนที่สองคือการขายน้ำมันให้กับลูกค้าเชิงพาณิชย์อื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันสำหรับเรือเดินสมุทร น้ำมันในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ต่างๆ ในส่วนที่ 2 นี้ ทาง OR ให้ข้อมูลว่ามีลูกค้าอยู่กว่า 2,600 เจ้า

ทั้งนี้ ธุรกิจน้ำมันของ OR นั้น เป็นธุรกิจที่ “รายได้เยอะ แต่มาร์จิ้นต่ำ” โดยรายได้รวม 5.7 แสนล้านของ OR ในปี 2562 นั้นเป็นรายได้จากการขายน้ำมันถึง 5.25 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 91.1% อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วธุรกิจการขายน้ำมันนั้นมีมาร์จิ้นต่ำมาก ส่งผลให้ OR สามารถทำกำไรขั้นต้นจากการขายน้ำมันในปี 2562 ได้เพียง 12,016 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกำไรเพียง 2.28% จากยอดขายเท่านั้น ถือว่าต่ำมากๆ (เมื่อเทียบกับธุรกิจ non-oil ที่มาร์จิ้นอยู่ในระดับ 25%)

เจาะลึกธุรกิจ non-oil: ผู้นำธุรกิจกาแฟ อัตรากำไรสูง

สำหรับธุรกิจหลักที่สองของ OR ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (non-oil business) นั้น หลักๆ แล้วประกอบไปด้วยการบริหารร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม รวมถึงร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในเครือของ OR โดยในปัจจุบัน OR เป็นเจ้าของร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนอยู่ 3,066 สาขา, ร้าน Texas Chicken 64 สาขา, ร้านฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ 73 สาขา และร้าน Pearly Tea อีก 168 สาขา นอกจากนี้ OR ยังมีรายได้จากการบริหารแฟรนไชส์ร้านดวกซื้อ 7-11 และ Jiffy ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. อีกกว่า 1,938 แห่งด้วย นอกจากร้านค้าเหล่านี้ที่ OR ร่วมบริหารแล้ว OR ยังมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. ด้วย ที่เราเห็นร้าน KFC, แมคโดนัลด์, พิซซ่าคอมปะนี ฯลฯ ไปเปิดอยู่ตามปั๊มน้ำมัน ปตท. ร้านค้าพวกนี้ต้องจ่ายค่าเช่าให้กับ OR ทั้งสิ้น

โดยในส่วนของคาเฟ่อเมซอน ตอนนี้ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดการขายกาแฟในประเทศไทยอยู่ โดยกินส่วนแบ่งตลาดในไทยอยู่ 39.4% ในแง่ยอดขาย และหากนับเฉพาะส่วนแบ่งของการขายกาแฟในปั๊มน้ำมัน คาเฟ่อเมซอนกินส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 84.1% ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนจึงเป็นผู้นำตลาดกาแฟในไทย ทั้งในแง่ยอดขาย จำนวนสาขา รวมถึงจำนวนแก้วที่ขายได้

ในส่วนของ non-oil business นี้ แม้ OR จะมีทั้งร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการให้เช่าพื้นที่ในปั๊มน้ำมัน แต่รายได้จากธุรกิจส่วนนี้กลับไม่มากนัก โดยในปี 2562 รายได้จากธุรกิจ non-oil ของ OR คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.9% ของรายได้ทั้งหมดของ OR เท่านั้น (ประมาณ 1.67 หมื่นล้านบาท จากรายได้รวม 5.77 แสนล้าน) แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจส่วนนี้กลับทำกำไรค่อนข้างมาก เพราะมาร์จิ้นกำไรค่อนข้างสูงที่กว่า 25-30% โดยธุรกิจ non-oil ทำกำไรให้ OR ในปี 2562 ทั้งสิ้น 4,254 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ของกำไรทั้งหมดของ OR ในปีนั้น (ทั้งที่สัดส่วนรายได้แค่ 2.9%)

ลองนึกถึงภาพการขายกาแฟสักแก้ว ที่ต้นทุนอาจจะไม่ถึงแก้วละ 20 บาท แต่สามารถขายได้ในราคาเกิน 50 บาท ในขณะที่การขายน้ำมัน ปั๊มน้ำมันไม่สามารถขึ้นราคาน้ำมันเองได้ขนาดนั้น เพราะต้องปรับราคาน้ำมันตามตลาดโลก และผู้บริโภคก็สามารถไปเติมน้ำมันในปั๊มอื่นได้ทันทีเพราะว่าใช้แทนกันได้ เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอเห็นภาพ ว่าทำไมธุรกิจ non-oil ของ OR จึงมีมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจน้ำมันมาก

ธุรกิจต่างประเทศ: ยังเล็กมาก ทั้งยอดขายและกำไร

สำหรับธุรกิจต่างประเทศของ OR นั้น หลักๆ แล้วก็คือการขยายปั๊มน้ำมัน PTT Station รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครือ ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยในปัจจุบัน เน้นการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, จีน ญี่ปุ่น และโอมาน

อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจต่างประเทศของ OR ยังไม่สูงมากนัก โดยทำรายได้คิดเป็นเพียง 4% ของรายได้รวมของ OR และทำกำไรเพียง 707 ล้านบาทในปี 2562 หรือคิดเป็นประมาณ 4.2% ของกำไรขั้นต้นของ OR ดังนั้นแล้วธุรกิจต่างประเทศของ OR จึงถือว่ามีขนาดเล็กมากสำหรับบริษัทฯ ทั้งในแง่ยอดขายและกำไร

มองเทรนด์อนาคต OR จะไปได้ไกลแค่ไหน

ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงแบ็คกราวน์และผลประกอบการที่ผ่านมาของ OR เท่านั้น แต่การจะเลือกซื้อหุ้นของบริษัทสักแห่ง เราคงต้องสนใจมองไปยังศักยภาพการเติบโตในอนาคตของบริษัทแห่งนั้นด้วย

สำหรับธุรกิจน้ำมันของ OR แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งหากผู้คนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น แทนที่จะเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบในปัจจุบัน ความต้องการใช้น้ำมันย่อมลดลง และอนาคตของ OR ที่ยังพึ่งรายได้จากธุรกิจน้ำมันกว่า 90% ก็อาจจะไม่สดใสได้ แต่นักวิเคราะห์จากหลายบริษัทหลักทรัพย์ในไทยก็ประเมินตรงกันว่า ในไทยเองและในอาเซียน กว่าที่จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างกว้างขวางคงต้องใช้เวลาสักพัก และผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่นี้ที่จะมีต่อความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเองน่าจะมีค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษา Wood Mackenzie ยังได้เคยประเมินไว้ด้วยว่า ในช่วงปี 2565-2578 ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทยจะยังคงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ +1.3% จากประมาณ 5.7 หมื่นล้านลิตรในปี 2563 เป็นประมาณ 7 หมื่นล้านลิตรในปี 2578 ดังนั้นถ้าเราเชื่อตามการประเมินนี้ ก็แปลว่าธุรกิจการค้าขายน้ำมันในไทยยังจะเติบโตไปเรื่อยๆ ในช่วงอีก 15 ปีต่อจากนี้

ทางด้านธุรกิจ non-oil ของ OR ก็ยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้เช่นเดียวกัน โดย Euromonitor ประเมินว่าเม็ดเงินในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทย จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ในขณะที่ยอดขายของร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายในปั๊มน้ำมัน ก็มีการประเมินว่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จะโตขึ้นจากประมาณ 65,000 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน เป็นกว่า 91,000 ล้านบาทในปี 2568 ดังนั้น ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงร้านสะดวกซื้อภายในปั๊มน้ำมันของ OR ตลาดยังคงขยายตัวอยู่ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้

ด้านธุรกิจต่างประเทศ การประเมินโดย Wood Mackenzie และ Euromonitor ชี้ว่า ทั้งการบริโภคน้ำมัน การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม และยอดขายของร้านค้าปลีก ทั้งในฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ OR เข้าไปลงทุน ล้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ดังนั้นแล้ว การเติบโตของ OR ในต่างประเทศ ก็ยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้เพิ่มอีกเช่นกัน

การลงทุนมีความเสี่ยง

สำหรับการขายหุ้น IPO ของ OR ครั้งนี้ ตั้งราคาไว้ที่ 16-18 บาท/หุ้น (ราคาสุดท้ายยังไม่ประกาศ) ซึ่งก็แปลว่าหากราคา IPO เคาะออกมาที่ 18 บาท จะทำให้บริษัทมีมูลค่ารวมประมาณ 216,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่าขนาดนี้จะทำให้ได้เข้าไปอยู่ใน SET 50 ทันที แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยง ผู้ที่สนใจจะจองซื้อหุ้น IPO ตัวนี้ คงต้องหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม ว่า OR น่าจะมีมูลค่าบริษัทตามที่เสนอขาย IPO ต่อประชาชนหรือไม่

ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น ให้ผู้อ่านได้พอรู้จัก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งจะเข้าตลาดหุ้นในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ และจะเปิดให้สาธารณชนเริ่มจองหุ้นตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. นี้เป็นต้นไป

สำหรับผู้ที่สนใจทำความรู้จักกับ OR เพิ่มเติม เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://workpointtoday.com/ptt-or/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า