SHARE

คัดลอกแล้ว

‘คำสั่งข้ามทวีป จากอเมริกาสะเทือนถึงชายแดนแม่สอด’ สเตตัสของเพจ ‘เรื่องเล่าหมอชายแดน’ สะท้อนวิกฤติล่าสุด ที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งบริหาร ยุติการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้องค์กร NGO ที่เคยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องหยุดชะงักลง 

กลุ่มหนึ่งที่ถูกลอยแพทันที คือ ผู้ลี้ภัยกว่า 90,000 คน เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณสุข จากองค์กร International Rescue Committee (IRC) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรการกุศลเอกชน ที่สหรัฐฯ ส่งงบประมาณสนับสนุน  

รายการ HEADLINE สำนักข่าว TODAY ชวนพูดคุยกับ พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ หมอเบียร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด เจ้าของเพจ ‘เรื่องเล่าหมอชายแดน’ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและข้อเสนอท่ามกลางความท้าทายของไทย ในการเร่งหาทางรับมือภาวะขาดงบประมาณ ขาดบุคลากร ในขณะที่ การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขยังต้องดำเนินไปตามหลักมนุษยธรรม

เอาเงินจากไหน ช่วยผู้ลี้ภัยชายแดน?

จังหวัดตาก ซึ่งมีชายแดนติดกับเมียนมา เป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือ ‘ศูนย์อพยพ’ 3 แห่ง มีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนอยู่ราว 40,000-60,000 คน พญ.ณัฐกานต์ ระบุว่า เบื้องต้นมีการแบ่งให้โรงพยาบาลที่ใกล้ศูนย์อพยพช่วยดูแลจัดการก่อน โดยให้โรงพยาบาลพบพระดูแล ‘ค่ายอุ้มเปี้ยม’ โรงพยาบาลอุ้มผางดูแล ‘ค่ายนุโพ’ 

ขณะที่ ‘ค่ายแม่หละ’ ซึ่งมีผู้อพยพลงทะเบียนอยู่จำนวนราว 40,000 คน นับว่ามากที่สุด และเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนประชากรอำเภอท่าสองยางเสียอีก จำเป็นต้องให้ 2 โรงพยาบาลดูแล นั่นคือโรงพยาบาลท่าสองยาง และโรงพยาบาลแม่ระมาด 

“เขา (รัฐบาลไทย) ก็อาจจะคิดว่าในช่วงฉุกเฉิน ใครที่ใกล้ก็ให้เข้าไปจัดการก่อน แต่ว่าเขาก็บอกว่าระยะกลางเขาก็จะมาช่วยจัดการ แต่ก็ไม่รู้ว่าในช่วงระยะต้นมันจะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ ที่เราจะต้องจัดกำลังคนเข้าไปช่วย และงบประมาณเราจะได้รับการสนับสนุนไหม อีกทั้งตัวชี้วัดของกระทรวงที่มันมีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ผ่านเนื่องจากต้องแบ่งคนมาทำในส่วนนี้ เราจะมีทางออกอย่างไรล่ะ” พญ.ณัฐกานต์ ตั้งข้อสงสัย

บทบาทของโรงพยาบาล ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแค่ในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องควบคุมการระบาดของโรคติดต่อในชุมชนด้วย หากย้อนกลับไปเมื่อเกิดการแพร่ระบาดอย่างโรคโควิด-19 พญ.ณัฐกานต์ เล่าให้ฟังว่า การควบคุมโรคในพื้นที่จำเป็นต้องใช้มาตรการเดียวกันทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยจำเป็นต้องมีการใช้งบประมาณในการตรวจ PCR และการให้ยา 

เช่นเดียวกับ การป้องกันการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ก็จำเป็นต้องใช้ทีมและงบประมาณจากส่วนกลางออกไปควบคุมโรคในพื้นที่ชุมชนต่างชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนไทย

พญ.ณัฐกานต์ ยังให้ความเห็นว่า จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่ใช้งบประมาณสูงมาก ในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นชาวไทย (Non-Thai) ที่ชำระเงินเองไม่ได้ โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา สูงถึง 160 ล้านบาท สำหรับ 5 อำเภอชายแดน 

และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น พญ.ณัฐกานต์ จำแนกงบประมาณที่ช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิให้เห็นคร่าวๆ เช่น

  • งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุน ท.99) ซึ่งจะดูแลกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐ หรือ ท.99 ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย
  • บัตรประกันเอกชนเอ็มฟันด์ (M-FUND) เป็นประกันร่วมจ่าย (Co-Pay) มีให้เลือกซื้อหลายแพ็กเกจ สำหรับแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในระบบ แต่มาซื้อบัตรประกันและขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล
  • เงินอุดหนุนจากหน่วยงาน NGO ที่ถูกสหรัฐฯ ยุติแล้ว เงินส่วนนี้ในอดีต NGO จะเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามโรงพยาบาล สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่วอล์กอินเข้ามาหากไม่สามาระชำระเงินเองได้

“มันก็เลยเป็นเหมือนสุญญากาศที่ชายแดน คน 60,000 ที่ลงทะเบียน และ 100,000 คน ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมา กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะพลเมืองในตอนนี้ ดังนั้นจึงไม่มีแหล่งงบประมาณใดๆ ที่จะไปสนับสนุนเขาได้…แรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย เรามีกองทุนของแรงงานไปสนับสนุน ท.99 ก็มีเงินทุนจากทางรัฐบาลมาสนับสนุนในแต่ละจังหวัดตามรายหัว แต่กลุ่มนี้ไม่มี เราต้องพึ่งสปอนเซอร์จากนอกประเทศเท่านั้น เป็นเวลา 40 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ได้ยุติลง” พญ.ณัฐกานต์ กล่าว

ต้องเริ่มต้นรักษาโครงสร้างเดิมก่อน

ท่ามกลางความโกลาหลนี้ พญ.ณัฐกานต์ มองว่า ควรมีการเร่งวางแผนแก้ไขปัญหา ทั้งระยะฉุกเฉิน ระยะสั้น กลาง และต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ดูแลผู้ลี้ภัยในพื้นที่มานานกว่า 27 ปี  พญ.ณัฐกานต์ เสนอว่า รัฐบาลไทยควรจัดหางบประมาณมา ‘รักษาโครงสร้างเดิม’ ก่อน 

 

โดยอธิบายต่อว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการสนับสนุนงบประมาณจากสหรัฐฯ ในศูนย์ผู้อพยพอย่างค่ายแม่หละจะมีการจ้างแพทย์สัญชาติเมียนมา ที่พูดไทยได้มาประจำอยู่ที่ศูนย์ประมาณ 4-5 คน นอกจากนั้นยังมี ‘เมดิก’ (พาราเมดิก) ซึ่งเป็นผู้อพยพที่ได้รับการอบรมให้เป็นผู้ช่วยพยาบาล มีหน้าที่ในการช่วยเหลือแพทย์ดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลแคมป์ โดยเมดิกก็จะสามารถช่วยดูแล ในเรื่องวัคซีนและเรื่องการฝากครรภ์ได้ 

นอกเหนือจากเมดิกแล้ว ยังมีคณะกรรมการแคมป์ที่จะคอยดูแลเรื่องของสุขาภิบาล รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสาธารณสุขโดยตรง เช่น มาตรการทางสังคม การป้องกันการเกิดจราจล อาชญากรรม การล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น

“ตรงนี้เป็นโครงสร้างที่เหนียวแน่น และทำมานานมากแล้ว…เพราะฉะนั้นเราควรจะรักษาโครงสร้างของแคมป์ไว้ก่อน ถ้าสหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนตรงนี้ เราอาจจะต้องไปหางบประมาณมา เช่น ลองคุยกับกระทรวงต่างประเทศดูไหม มหาดไทย กลาโหม สาธารณสุขที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้นำงบประมาณมาจ้างคนที่ทำงานอยู่แล้วให้ทำงานต่อไปก่อน แล้วระหว่างนี้ค่อยมาตกลงกัน ว่าเราจะมีมาตรการระยะสั้น ระยะกล่าง ระยะต่อเนื่องอย่างไร” พญ.ณัฐกานต์ เสนอ

นอกจากนั้น  พญ.ณัฐกานต์ ระบุว่า อาจต้องพูดคุยกับผู้อพยพภายในศูนย์ถึงการลดค่าใช้จ่าย โดยอธิบายให้ทราบถึงสถานการณ์การขาดแคลนงบประมาณ เช่น อาจต้องลดงินเดือนของแพทย์ลง หรือลดจำนวนเมดิก หรืออาจจะต้องลดการสนับสนุนบางอย่าง อย่าง การให้เงิน 300 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แจกข้าวสาร น้ำมัน ถั่ว ในส่วนนี้ก็อาจจะต้องลดไป และหาวิธีว่าจะทำอย่างไรแทนเพื่อให้ชาวแคมป์มีอาหารที่ไม่ขาดแคลนถึงขั้นต้องแย่งกัน

“คือทุกคนมีธงของตัวเอง แล้วก็มีประสบการณ์ของตัวเอง อย่างเช่นผู้บริหารท่านไม่เคยลงมาดู ไม่เคยเห็นภาพ ว่าในศูนย์มันมีความซับซ้อนยังไง เขาก็ต้องดีไซน์นโยบายมาแบบที่เขาคิดว่าจะต้องเป็น แต่เราอยู่ในพื้นที่มานานกว่า 27 ปีแล้ว เราเห็นความเป็นไป เราเห็นความซับซ้อนทุกมิติของค่ายผู้อพยพ แล้วก็ต่างชาติที่เป็น Non-Thai ที่อยู่ในพื้นที่ เราก็คิดว่าเราน่าจะมีโอกาสได้ดีไซน์ หรือให้คำแนะนำตรงส่วนนี้ เพราะฉะนั้นคิดว่าที่มเกิดเหตุการณ์เหมือนจะเป็นความขัดแย้งกันอยู่ตอนนี้ เพราะว่าต่างคนก็ต่างถือธงคนละอัน แล้วก็มีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาไม่เท่ากัน” พญ.ณัฐกานต์  กล่าว

สำหรับระยะต่อๆ ไป พญ.ณัฐกานต์ เสนอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมองถึง 3 แนวทางที่เป็นไปได้ ได้แก่

  1. การผลักดันกลับประเทศต้นทางอย่างสมัครใจ (Settlement) – พญ.ณัฐกานต์ ระบุว่าวิธีนี้มีความพยายามทำมาราว 2 ปีแล้ว แต่ในแต่ละปีก็ไม่เกิน 1,000 คนจากผู้อพยพทั้งหมด ทั้งนี้ พญ.ณัฐกานต์ ยังมองว่าหากมีการปรับข้อกำหนดและสร้างสภาพแวดล้อมให้น่ากลับ ผู้ลี้ภัยอาจจะสมัครใจกลับมากยิ่งขึ้น หนึ่งในสิ่งที่คุณหมอเสนอ คือ การอนุญาตให้กลับไปตั้งรกฐากที่ภูมิลำเนาเดิมได้ จากเดิมที่อาจกลัวการมีรากเหง้าของการเมือง แต่สำหรับผู้ลี้ภัยแล้วอาจไม่อยากเริ่มต้นในถิ่นฐานใหม่ และอาจมีญาติอยู่ในภูมิลำเนาเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยบางส่วนยังคงไม่ประสงค์ที่จะกลับไป เนื่องจากมีภาพจำในอดีตที่ทุกข์ทรมาณ และขอเลือกที่จะอยู่ในประเทศไทยแม้จะขาดยารักษาก็ตาม
  2. การผลักดันสู่การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 (Resettlement) – ปัจจุบันสถานการณ์ทั่วโลกยังคงก็ไม่เปิดรับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 กว้างขวางมากนัก โดยส่วนมากยุติมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่ได้เปิดรับอีกเลย ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในศูนย์อพยพซึ่งมีรายชื่อว่าจะได้ไป ก็ยังคงไม่ได้ไป แม้ว่าจะดูเป็นหนทางที่เป็นไปได้น้อยในปัจจุบัน แต่ พญ.ณัฐกานต์ มองว่าหากรัฐบาลพยายามเจรจา ก็น่าจะเป็นไปได้อยู่
  3. การผลักดันให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย (Registration) – พญ.ณัฐกานต์ มองว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องคุยกันหลายกระทรวง ซึ่งปัจจุบันไทยไม่ได้มีกฎหมายให้สิทธิพลเมืองกับผู้ลี้ภัย แต่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ในสถานะของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักผิงชั่วคราวมานานราว 40 ปีแล้ว โดยหากมีการผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียน อาจง่ายต่อการติดตามตัวและการจัดสรรงบประมาณให้ผู้มีสิทธิเข้ารับบริการทางสาธารณสุข

“ความเห็นส่วนตัวคิดว่าหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะส่วนสาธารณสุขไม่สามารถเข้าไปจัดการได้เนื่องจากภาระงานที่โหลดมาก ลำพังคนไข้คนไทยและชาวเมียนมาที่ข้ามมารับบริการก็ทำไม่ไหวแล้ว จำนวนผู้อพยพสามค่าย เท่ากับเพิ่มมาอีกหนึ่งอำเภอเลยทีเดียว ได้แต่เฝ้ารอว่าอีกไม่นานภาครัฐของไทยน่าจะหาจุดสมดุลในการจัดการปัญหานี้ และเฝ้ารอหน่วยงาน NGO รายใหม่ที่พร้อมจะมาดูแลค่ายอพยพชายแดนเหล่านี้ต่อไป”

“พูดไปก็อาจจะไม่ดังมากแต่นี่คือเสียงจากหมอชายแดนคนหนึ่งที่ใกล้จะหมดแรงแล้ว” พญ.ณัฐกานต์ โพสต์ลงบนเพจเรื่องเล่าหมอชายแดน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า