SHARE

คัดลอกแล้ว

นับตั้งแต่ฟีฟ่าประกาศให้ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 มีข้อกังขาเกิดขึ้นมากมาย

เมื่อกาตาร์ประกาศต้อนรับทุกคนอย่างเท่าเทียม ในประเทศซึ่งสถานะรักร่วมเพศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีแรงงานอพยพนับพันคนเสียชีวิตจากงานก่อสร้าง หรือประเด็นแฟนบอลไม่สามารถหาซื้อแอลกอฮอล์ได้

แต่ประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากที่สุด คือการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลก ว่าจะจัดการแข่งขันฟุตบอลที่ “เป็นกลางทางคาร์บอนครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

แต่หลังจากผ่านการเปิดสนามมาเพียงไม่กี่วัน คำตอบจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างตะโกนเป็นเอกฉันท์ว่า “ทำไม่ได้อย่างที่พูดแน่นอน”

ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่าประเมินว่าการจัดบอลโลกปีนี้จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.6 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าบอลโลกที่รัสเซียในปี 2018 ถึง 2 เท่า หรือเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของประเทศคองโกทั้งปี

แต่จะมีกระบวนการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจาก Global Carbon Council และเงินที่ใช้จ่ายจะถูกนำไปหมุนเวียนต่อในโครงการพลังงานสะอาดทั่วตะวันออกกลาง 

ฟีฟ่าเริ่มพูดถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือ Green Goal มาตั้งแต่ปี 2006 อย่างการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ปี 2010

และล่าสุด ในเวที COP26 ฟีฟ่าประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าจะบรรลุข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2040

การเดินทางของนักเตะและแฟนบอล ถือเป็นความท้าทายที่สุดของการจัดการคาร์บอน เมื่อคนทั้งโลกบินมายังจุดหมายปลายทางเดียวกัน ในประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 2.9 ล้านคน

โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่า 51% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดมาจากการเดินทาง แต่ตัวเลขนี้นับเฉพาะการเดินทางในกาตาร์ ไม่รวมถึงการเดินทางข้ามประเทศกว่า 160 เที่ยวบินต่อวันของผู้ชมที่ไม่สามารถหาที่พักในกาตาร์ได้ จึงต้องใช้บริการที่พักตามประเทศเพื่อนบ้าน เช่น คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ซาอุดีอาระเบีย

ถัดมาคือการสร้างสนามฟุตบอลและสถานที่ฝึกซ้อมคิดเป็น 25% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด

ด้วยข้อบังคับของการเป็นเจ้าภาพบอลโลกต้องมีสนามแข่งอย่างน้อย 8 แห่ง แต่กาตาร์มีสนาม Khalifa กลางกรุงโดฮาที่ถูกใช้แบบอเนกประสงค์เพียงแห่งเดียวมาตั้งแต่ปี 1976 ทำให้การสร้างสนามเพิ่มอีก 7 แห่งกลายเป็นมหกรรมปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

เมื่อสนามฟุตบอลถูกใช้ประโยชน์ให้นักเตะโชว์ฝีแข้งเพียง 4 สัปดาห์ กาตาร์จึงพยายามออกแบบสนามให้รีไซเคิลได้ เช่น สนาม Ras Abu Aboud ความจุ 40,000 ที่นั่ง ประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์และถอดตู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้หลังงานจบ

ในขณะที่บางสนามอ้างว่าจะถูกเปลี่ยนไปเป็นโรงแรมบูติค แต่ต้องยอมรับว่าสนามฟุตบอลที่ถูกทิ้งร้าง เช่น ริโอเดอจาเนโร และ เอเธนส์ ยังคงเป็นแผลใหญ่ที่หลายประเทศลงทุนไปแบบได้ไม่คุ้มเสียมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ กาตาร์ปักหมุดการแข่งขันให้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพราะตั้งใจหลีกเลี่ยงการเผชิญอากาศอันร้อนระอุ แม้อุณหภูมิจะลดลงจาก 50 องศาเซลเซียสในช่วงหน้าร้อน มาอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังถือว่าอบอ้าวในระดับที่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศให้นักเตะยุโรป

กาตาร์จึงสร้างสนามแข่งติดแอร์ถึง 7 แห่ง โดยวิศวกรคนดัง Saud Abdul Ghani ฉายา Dr Cool ได้ศึกษาระบบทำความเย็นในสนามฟุตบอลเพื่อลดอาการบาดเจ็บของนักเตะมากว่า 13 ปี จนออกมาเป็นเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ ที่พ่นลมเย็นใต้ที่นั่ง และมีระบบหมุนเวียนให้ความเย็นไม่ไหลออกนอกสนามแข่ง เหมือนมีฟองสบู่เย็นโอบล้อมอยู่

ในรอบไฟนอลที่สนาม Lusail มีการออกแบบทางสถาปัตย์ให้มีเหลี่ยมมุมโดยรอบ เพื่อให้เกิดร่มเงาในทุกจุด หลังจากประเมินว่าความร้อนตลอด 4 ชั่วโมงที่เกิดขึ้นจากผู้ชม 80,000 คนในสนาม จะเทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ทำงานพร้อมกัน 160,000 ตัว

การอัดฉีดความเย็นคงต้องทำแบบไม่ยั้งเพื่ออรรถรสในการรับชม และที่สำคัญ ต้องรักษาสมรรถนะร่างกายอันร้อนระอุของนักเตะให้ได้มากที่สุด

เมื่อพูดถึงสายตานับพันล้านคู่ที่จับจ้องลีลาของนักเตะทีมชาติคนโปรดบนหญ้าเขียวขจี อย่าลืมว่านี่คือการปลูกหญ้าบนดินแดนแห่งทะเลทราย

การทะนุถนอมหญ้าในหนึ่งสนามต้องใช้น้ำกลั่นถึง 10,000 ลิตรต่อวันในหน้าหนาว และเพิ่มเป็น 5 เท่าในหน้าร้อน

กาตาร์อ้างว่ามีการรีไซเคิลน้ำและลดการใช้น้ำถึง 40% เมื่อเทียบกับการแข่งขันปกติ แต่น้ำจืดเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการกลั่นจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลเป็นหลัก และยังไม่นับการขนส่งหญ้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาคำนวณด้วย

สุดท้ายแล้ว การซื้อคาร์บอนเครดิต 1.8 ล้านตันเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนมหาศาล หรือการปลูกต้นไม้หลักหมื่นต้น ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ เพราะหลักการที่ง่ายที่สุดของการช่วยโลกร้อน คือการไม่ปล่อยคาร์บอนตั้งแต่แรกเริ่ม

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการนำเรื่องของฟุตบอลและโลกร้อนมาเจอกันอย่างเป็นรูปธรรม 

บทเรียนของการตั้งเป้าหมายใหญ่แต่ทำไม่ได้จริง การพัฒนาเทคโนโลยีสร้างสนามแข่ง การสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับแฟนกีฬา และการเปิดรับผลประเมินจากองค์กรภายนอก คงถูกใช้อย่างเข้มข้นในการแข่งขันกีฬาระดับโลกต่อจากนี้

ด้านฟุตบอลยูโรก็ประกาศจัดการแข่งขันให้เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 เช่นกัน เห็นได้จากการปล่อยแคมเปญให้แฟนบอลลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/science/audio/2022/nov/22/will-the-qatar-world-cup-really-be-carbon-neutral

https://www.dw.com/en/is-the-qatar-fifa-world-cup-really-carbon-neutral/a-63753961

https://www.thenews.com.pk/latest/959264-qatars-dr-cool-a-force-behind-air-conditioning-of-world-cup-stadiums

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า