Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เรื่องภายในบริษัท ฐานเงินเดือน โบนัส กระทั่งการถูกปลดออกจากงาน หรือ ‘เลย์ออฟ’ ถูกจัดวางในตำแหน่งแห่งที่ของความลับขั้นสุดยอด ไม่ควรแพร่งพรายให้คนนอกรับรู้ ราวกับเป็นหลักปฏิบัติ-ข้อบังคับภายในออฟฟิศ เพราะที่ผ่านมา ‘ไม่มีใครเขาทำกัน’ เป็นเรื่องที่ควรคุยในที่ลับมากกว่าจะให้คนนอกรับรู้ความเคลื่อนไหวภายในองค์กร

ทว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มีกรอบคิดเหมือนที่ว่ามาอีกแล้ว การเป็นผู้ถูกเลือกให้ออกจากงานอาจเคยถูกมองว่า เป็นเรื่องน่าอาย แต่สำหรับ Gen Z พวกเขาคิดต่างออกไป นี่คือเรื่องที่โลกต้องรู้ ความโปร่งใสในที่ทำงาน คือความปกติใหม่ที่องค์กรพึงกระทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่นานมานี้เราจึงเห็นเทรนด์ใหม่ที่ไวรัลไปทั่วโซเชียล โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Quit-Tok’ เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ยอมออกจากงานแบบเงียบๆ แต่ต้องประกาศให้ทุกคนรู้ผ่านคลิปวิดีโอบน TikTok

[ ลาออกต้องบอก เจออะไรไม่ยุติธรรมต้องพูด ]

รายงานจากสำนักข่าว Financial Times ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์​ ‘Quit-Tok’ ไว้ว่า ขณะนี้การลาออกอย่างเปิดเผยกลายเป็นกระแสไวรัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดย Financial Times ยกตัวอย่างคลิปของ ‘Gabrielle Judge’ อดีตพนักงานบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งเนื้อหาในคลิปดังกล่าวถูกบันทึกขึ้นขณะที่เธอตัดสินใจเดินเข้าไปแจ้งลาออกกับผู้จัดการแผนก

ระหว่างนั้นเองได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเพอฟอร์แมนซ์ของเธอตลอดการทำงานที่ผ่านมา โดย Judge ระบุว่า เป้าหมายในการโพสต์คลิปนี้ต่อสาธารณะ ก็เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นว่า เธอกำลังออกจากงานที่ความกดดันต่ำ ค่าตอบแทนสูง และหลังจากที่คนอื่นๆ ในทีมถูกเลย์ออฟ งานที่ค้างอยู่ก็ถูกถ่ายโอนมาให้เธอรับช่วงต่อทันที

ขณะที่ ‘Christina Zumba’ โพสต์วิดีโอขณะที่กำลังกดส่งอีเมลหาเจ้านายว่า เธอกำลังจะลาออก เนื่องจากงานที่ทำอยู่ไม่มีความสุข หลังจากโพสต์คลิปออกไปปรากฏว่า เธอได้รับกำลังใจจากเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม ซึ่งคลิปวิดีโอในทำนองเดียวกันทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิดีโอที่ถูกจัดอยู่ในประเภท ‘Quit-Tok’ ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำงาน Gen Z มากที่สุด

เนื่องจากคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องความโปร่งใสในที่ทำงานค่อนข้างมาก Judge ยังบอกกับ Financial Times ด้วยว่า เพราะ Gen Z มีความหวาดระแวงสูง ‘Quit-Tok’ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่พวกเขาใช้เพื่อขับเคลื่อนการเปิดเผยและเปลี่ยนแปลง หากต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดีนัก บ้างก็เรียกกระแสนี้ว่า ‘Loud Quitting’ หรือการลาออกแบบดังๆ ตรงข้ามกับ ‘Quiet Qutting’ เทรนด์การลาออกแบบเงียบๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์โควิด-19

ทว่า ไม่เพียงแต่คลิปความยาว 1 นาที คลิปสั้นๆ ไม่กี่วินาทีก็เป็นส่วนหนึ่งของ Quit-Tok ด้วย โดยที่อีกฝ่ายอาจไม่รู้ตัวว่า กำลังถูกบันทึกภาพในอิริยาบถนั้นๆ อยู่ ยกตัวอย่างเช่น คลิปวิดีโอความยาว 9 วินาที ในร้าน McDonald’s ที่ว่างเปล่า ซึ่งคาดว่า เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พนักงานในร้านลาออกกันเกือบหมดแล้ว

ส่วนอีกคลิปที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ผู้ใช้งาน TikTok สวมใส่เครื่องแบบคล้ายพนักงานร้าน Walmart มีการโต้ตอบกับผู้จัดการร้านว่า เขาจะไม่ทำหน้าที่ซ้อนชั้นวางของในร้านอีกต่อไปแล้ว ก่อนที่จะเดินออกจากร้านไปในตอนท้าย

การนำเสนอคอนเทนต์ในลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรม-วิธีมองโลกของ Gen Z อย่างมีนัยสำคัญ บ่อยครั้งที่การแสดงออกทางอารมณ์ของคนกลุ่มนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องความถูกต้อง รวมถึงการจัดการสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลหรือความเครียด

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า อีกนัยหนึ่งก็สื่อถึงภาวะการขาดความเชื่อมโยงระหว่างลำดับชั้นภายในองค์กร ที่คน Gen Z อาจจะไม่ได้ยึดถือวิถีดังกล่าวเข้มงวดนัก ไม่ได้มองว่า ต้องมีความเกรงอกเกรงใจ-ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มากไปกว่ามีความถูกต้องเป็นแก่นแกน

[ ถูกต้องได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาด้วย ]

ด้าน ‘Ann Francke’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง Chartered Management Institute ระบุว่า แม้การเผยแพร่วิดีโอในรูปแบบดังกล่าว จะทำหน้าที่ตักเตือนผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความบกพร่องที่เกิดขึ้นได้ แต่มันก็อาจสร้างผลกระทบในภายภาคหน้าให้กับเจ้าของคลิปเช่นกัน Francke มองว่า พนักงานอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเป็นคนเปิดกว้าง รักความโปร่งใส มีวิธีคิดและมุมมองที่มีต่อนายจ้างต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนๆ แต่นั่นก็อาจนำมาซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ ต่อตนเองได้เช่นกัน

หากพนักงานคนใดใช้คำพูดหรือแสดงออกไม่ดีกับนายจ้างในที่สาธารณะ เขาหรือเธอก็อาจถูกมองว่า เป็น ‘Troublemaker’ หรือตัวปัญหา แน่นอนว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเปลี่ยนงานของพวกเขาด้วย แม้วิดีโอเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสื่อสารที่รอบคอบมากขึ้นก็ตาม

ขณะเดียวกัน ‘Quit-Tok’ ก็ทำให้บริษัทและผู้บริหารต้องกลับมาตกผลึกถึงวิธีการที่เหมาะสมในการเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลที่ตรงใจมากที่สุด เพราะการเลิกจ้างที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนที่ยังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่ต้องอยู่ต่อและถูกร้องขอให้รับมือกับกองงานที่มากขึ้น พร้อมกับประสิทธิภาพงานที่มากขึ้นด้วย 

‘Quit-Tok’ จึงไม่ได้เป็นเพียงวิดีโอระบายอารมณ์เอาสะใจของคนรุ่นใหม่ หากแต่เป็นสารที่ส่งตรงไปยังด้านบนพีระมิดว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการ มองหา และรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไรกันแน่ ในฐานะฟันเฟืองชิ้นสำคัญขององค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ที่มา:

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า