SHARE

คัดลอกแล้ว

ร่างทรง’ ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องล่าสุดจาก จีดีเอช ผลงานกำกับของ ‘โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล’ และ โปดิวเซอร์ชาวเกาหลี ‘นาฮงจิน’โปรเข้าฉายในไทยแล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม หลังจากเริ่มออกฉายไปแล้วทั่วโลก พร้อมกับกระแสที่มีทั้งเสียงชื่นชมและการถกเถียงเรื่องการตีความฉากต่าง ๆ ในเรื่องบทสัมภาษณ์นี้อาจไขข้อข้องใจเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์และค้นพบว่าอะไรที่ทำให้ผู้กำกับที่ไม่เชื่อเรื่องร่างทรง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้สมจริงขนาดนี้

โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘ร่างทรง’

​​ร่างทรงต่างกับหนังไทยปรกติที่ฉายในบ้านก่อนแล้วค่อยไปต่างประเทศ และได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งในเกาหลีและประเทศอื่น หลังจากรอบสื่อไปแล้วได้รับผลตอบรับจากผู้ชมคนไทยอย่างไรบ้างต่างกันแค่ไหน

ไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพร์ส ก็ค่อนข้างคล้ายกัน ก็มีคนที่กลัวมากเหนื่อยมากและมีคนที่ไม่กลัวบ้าง แต่ว่าโดยรวมก็จะใช้คำว่า ‘เหนื่อย’ คล้าย ๆ เกาหลี คือความรู้สึกว่ามันกดดันและเหนื่อยมาก ผมว่าดูจอใหญ่ ๆ มันให้อรรถรส โดยเฉพาะช่วงท้ายมันอัดแน่นมาก ๆ อย่างเดินออกมาจากโรงเห็นสีหน้าคนพอดี หลาย ๆ คนเช่นพลอยเฌอมาลย์แก้มเดอะสตาร์ดูหน้าเขาเหมือนกับดูเสียอาการ คือดูรู้เลยว่าเขาจิตหลุดนิดหน่อย อะไรแบบนี้ครับ

ร่างทรงเป็นภาพยนตร์ร่วมทุนกับเกาหลี โปรดิวเซอร์ชาวเกาหลี ตัวสารตั้งต้นก็เป็นเกาหลี แต่เรื่องเป็นไทย คุณโต้งเลือกแต่ละองค์ประกอบอย่างไรเพื่อให้มันสมจริงสำหรับคนไทยแต่เป็นสากลพอที่จะให้ทั้งโลกเข้าใจด้วย

จริง ๆ แล้วผมไม่คิดเลยว่ามันสากลพอไหม ก็คิดแค่ว่าแบบไหนที่เหมาะกับเรื่องแค่นั้นเอง เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องทำเรื่องนี้ให้ดูเป็นเรื่องของเรามากที่สุด คือให้มันสมจริง ให้มันมีพลัง ให้มันมีดราม่าของมัน ถ้าเขาจะสนใจก็สนใจในความที่มันเกิดในไทยและเป็นบริบทไทยนี่ล่ะ

แต่ว่าเรื่องความสากล แน่นอนมันอาจจะต้องมีการเช็ค คือโปรดิวเซอร์ คุณนาฮงจิน จะคอยเช็ค ว่าอันนี้ไม่น่าจะเวิร์คนะสำหรับคนเกาหลี เขาจะมีรีแอคมาบ้าง อย่างเช่นเรื่องความเหมาะสมบางอย่างของตากล้อง แต่ว่าโดยรวมก็ไม่ได้มีความกังวลว่าชาวโลกจะคิดยังไงในแง่ความเข้าใจนะครับ แต่จะเป็นในแง่ของความเข้มข้นและทิศทางมากกว่า ที่เราอาจจะคิดกันว่าเขาอยากให้มันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครมากกว่า ผมว่านะ

คือเอาจริง ๆ หนังแนวสารคดีปลอม มันก็มีเยอะนะครับ แบบอเมริกันทำกันมาจนพรุนแล้ว แต่เรื่องนี้ก็มีลูกบ้า การผสมผสานบางอย่างที่ทำให้มันเป็นตัวเอง เราก็อยากให้มันอินเตอร์ แต่ก็ไม่ใช่แบบว่าจะเอาใจใคร เราทรีตมันเป็นเหมือนว่ามันเป็น world cinema ในเชิงว่าบรรยากาศต้องแบบ คือจริง ๆ มันไม่ใช่คำว่าอินเตอร์มั้ง คือเราอยากให้หนังเรื่องนี้ cinematic ที่สุดมากกว่า ซึ่งหนัง found footage หรือหนัง mockumentary ส่วนใหญ่มันไม่ได้เป็นแบบนี้เลย มันไม่ซีเนมาติกแต่เราดันทำในสิ่งที่ค่อนข้างตรงข้าม คือ found footage ส่วนมากจะดิบมากและต้องการจะหลอกให้คนดูเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง  คือจะเป็นแบบแอบถ่ายมาก ๆ หรือตากล้องที่ตามจะดิบสุด ๆ เหวี่ยทั้งเรื่องอะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่า เราไม่อยากทำอะไรแบบนั้นเลย โลกของร่างทรงมันไปได้มากกว่านั้น  อันนี้แหละที่เรารู้สึกว่าอยากให้ร่างทรงมัน cinematic ที่สุด 

ดูใน end credit มีทีมงานฝั่งเกาหลีด้วย เช่น มีผู้ออกแบบ body movement เป็นคนเกาหลี ‘ร่างทรง’ มีการผสมความเป็นเกาหลีอะไรลงไปบ้างหรือไม่

ถ้าสำหรับผม ไม่มีเลยนะ เราก็คิดในแบบที่เราโอเคเท่านั้นเอง อาจจะมีทิศทางในเรื่องตอนท้าย ๆ แต่ว่ามันก็มาจากบทมากกว่า เพราะบทมันสอดแทรกว่าสิ่งที่เป็นคำอธิบายของผีในเรื่องนี้มันคืออะไร แล้วซีนเหล่านั้นก็เลยเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะแค่ว่าหนังไทย ไม่ค่อยมีแบบนี้นั่นแหละ บางคนก็อาจจะเหวอนิดนึง ซึ่งผมรู้สึกว่าเราเลี้ยวมาทางนี้ด้วยความรู้สึกว่ามันสนุกที่ได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ในหนังไทย 

จากโจทย์แรกที่คุณนาฮงจินให้มา ร่างทรงเปลี่ยนไปจากแนวความคิดแรกมากขนาดไหน นอกจากบริบที่เปลี่ยนเป็นไทย

ผมว่าโครงน่าจะยังคล้ายเดิมอยู่ 70% แต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะเลยก็คือแนวคิดที่มาครอบมัน โดยเฉพาะแนวคิดอีสานที่พูดว่า ‘ผีมีอยู่ในทุกสิ่ง’ จะทำให้เรื่องนี้ยูนีค (มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว) พอสมควร เพราะตอนแรกคำอธิบายไม่ใช่แบบนี้มั้ง หลายปีแล้วผมก็เริ่มลืม แต่ที่แน่ ๆ อันนี้เติมลงไป แล้วก็ โครงสยองขวัญปีเปลี่ยนบ้าง การดีไซน์ต่าง ๆ นานา ๆ มีเติมบ้าง แต่ว่าในแง่การเรียงเรื่องว่าสัมภาษณ์ป้านิ่ม การเรียงเรื่องมาโฟกัสที่มิ้ง และนำไปสู่เรื่องราวยุ่งเหยิง วุ่นวาย น่ากลัวก็เหมือนเดิม

เทียบจากผลงานหนังเรื่องก่อน ๆ ‘ร่างทรง’ เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องวิธีการเล่าแบบ mockumentary อะไรที่ทำให้เลือกหยิบวิธีการนี้มาเล่าเรื่อง

มันมาตั้งแต่บทเขา ตั้งแต่ทรีตเมนท์ แล้วก็ถกกันนานมาก คือเอาจริง ๆ พอมันเป็น Mockumentary (สารคดีปลอม) ผมคิดหนักเหมือนกันนะ ผมคิดถึงขั้นว่า ‘Mockumentary จริงดิ เขาทำมากันจนพรุนแล้วนะในอเมริกาเนี่ย ใช่เหรอวะ’ แล้วก็ถกกับตัวเองเยอะมาก ถกกับทีม แล้วก็คุยกับเขา แต่ผมก็รู้สึกว่าเป็นทางเลือกแบบกล้า ๆ นะ ผมว่าคือเรื่องราวที่รุ่มรวยไปด้วยดีเทลความลึกซึ้งและละเอียดอ่อน เพราะมันพูดเรื่องศรัทธา ต่าง ๆ นานา ๆ อะไรแบบนี้ด้วย แต่ดันเลือกเล่าวิธีแบบนี้ ผมว่าเออมันก็มันดีครับ หมายถึงว่ามันอาจจะมีความแลดูเหมือนไม่เข้ากัน ซึ่งสำหรับผมนะ คิดไปคิดมามันก็เป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นทิศทางที่ไม่ได้คิดว่าหัวข้อนี้จะเล่าแบบนี้ ผมเองยังคิดอย่างนั้นเลยนะ แต่พอมาเล่าแบบนี้ ผมเองยังคิดเลยว่าลองสักตั้งน่าจะมันดี ผมก็คิดว่ามันก็เป็นมุมมองที่น่าจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้บ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังดี    

เพราะไม่ได้มีดาราเป็นตัวชูโรงด้วย อาวุธหลักของเรื่องจึงเป็นบรรยากาศและความสมจริง มีความยากง่ายอย่างไรบ้างในการสร้างโลกของร่างทรงขึ้นมา

ยาก เพราะว่าจริง ๆ มันไม่ได้ความจริงให้เราอ้างอิงเลย เพราะว่าพอไปเจอร่างทรงไม่มีใครพูดเหมือนกันแม้แต่คนเดียว รายละเอียดแบบอย่างไปหาร่างทรงต้องทำอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าต้องแต่งขันธ์ 5 ขันธ์ 8 แล้วถามว่าขันธ์ 5 คืออะไร ขันธ์ 8 คืออะไร มันต่างกันยังไง เขาก็จะพูดรวม ๆ มา แล้วแต่ละคนพูดก็ไม่เหมือนกัน ของในขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ก็ไม่เหมือนกัน แล้วก็พิธีกรรมแต่ละคนก็ไม่มีใครเหมือนกันแม้แต่คนเดียว

ตอนแรกเราก็หลงทางว่าเราจะถ่ายทอดยังไง แต่สุดท้ายเราคนพบว่าเรา pick up ได้เองเลย แต่มันก็ยากไปอีกแบบว่าเราต้องมีฐานที่เรารู้สึกและคนดูรู้สึกว่ามันจริง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นจินตนาการหมดเลย

การเลือกนักแสดงที่ไม่ได้เป็นดารา ดูมีทางเลือกที่กว้างมาก เลือกอย่างไรและอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นคนนี้ มีข้อกำหนดอะไรในใจไหมชัดเจนมากหรือไม่

มีอยู่พอสมควรนะครับ ตามบทก็ต้องพูดอีสานได้ วัยต้องถึง หน้าตาต้องชาวบ้านจริง ๆ แล้วสุดท้าย ก็ดูที่เทปว่าใครเล่นถึง อย่างพี่เอี้ยง (สวนีย์ อุทุมมา รับบท ป้านิ่ม) เอาจริง ๆ ก็มีการเล็งไว้ก่อน เพราะว่าเราเคยร่วมงานกับเขา แล้วเขาก็เป็นตัวเอ้ในวงการละครเวทีอยู่แล้ว ก็คือเก่งกาจ แล้วก็รู้สึกว่าเราอยากร่วมงานกับเขา เลยคิดเล็ง ๆ ไว้ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แล้วพอดูเทป ปุ๊ป ก็ ‘โอ้โห ได้แล้ว’ อะไรแบบนี้

ส่วนนางเอกก็หาด้วยการแคสต์ติ้งเลย หลายรอบมาก ๆ ด้วย กว่าญดา (นริลญา กุลมงคลเพชร รับบท มิ้ง) จะมาก็มีได้ดูคนอื่นไปก่อนเยอะเหมือนกัน จนเจอญดาปุ๊ปก็สบายใจ

หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องที่จะทำให้คนดูเชื่อในความจริงของภาพยนตร์ได้คือตากล้องและมุมกล้อง มีวิธีการคิดมุมกล้องอะไรเป็นพิเศษไหม เพื่อให้ได้ความสมจริงแบบนี้

อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดของหนังเรื่องนี้อย่างหนึ่ง น่าจะยากที่สุดสำหรับผม นอกจากเรื่องรายละเอียดพิธีกรรมแล้วก็ต้องคิดว่า ฉากนี้จะถ่ายยังไงนี่ โอ้โห… 3 คิวแรกคือการค้นหาเลย คิดเยอะมากว่า ‘ดีหรือยังวะ’ ‘ทำไมมันดูเหมือนหนังปรกติจังวะ’ ‘จะถ่าย 8 ชอตยังไงดีวะ’ อะไรแบบนี้ ‘แล้วเล่นจริงจะถ่ายแบบนี้ได้ไหมวะ’ มันคิดเยอะมาก กว่าจะหาจุดสมดุลได้ก็คือคิวที่ 4 คือถกกันเยอะมาก ๆ เพื่อเยอะมาก แต่สุดท้ายเราก็จะเริ่มรู้แล้วว่า ฉากนี้มันควรจะถ่ายแบบนี้ มันน่าจะบันทึกในมุมนี้เท่านั้น ไม่เห็นอีกมุมนะ เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือว่าเราไม่บอกพี่สีบานที่เป็นตากล้องว่าเขาจะทำอะไร ให้เขาถ่ายติดตามไปเอง

เสียงของตากล้อง เป็นตากล้องจริงเลยไหม

ตอนแรกเป็นผมพากย์หมดเลยส่วนใหญ่ แล้วค่อยมาเติมทีหลัง เพราะว่าเราไม่มีตังให้เขาไปทุกคิว จริงไปหน่อยเนอะ (หัวเราะ)

เราแค่รู้เกี่ยวกับย่าบาหยันกว้าง ๆ ว่าเป็นที่เคารพบูชามานานคอยปกป้องรักษาคน สำหรับคุณโต้งแล้วย่าบาหยันเป็นตัวละครแบบไหน

อันนี้คล้าย ๆ เรื่องจริง ที่เรารีเสิร์จมานะครับ ว่าส่วนใหญ่ ร่างทรงจะไม่รู้เรื่องที่มาที่ไปขนาดนั้น ว่าเขาเป็นใครยุคไหนมาจากไหน  เขาไม่รู้ รู้แต่ว่าโตมาก็เจอแล้ว ถ่ายทอดมาเรื่อย ๆ และเขารู้เวลาเข้าเขา เราก็เลยรู้สึกว่าความลึกลับนี่แหละที่จริงแล้วดีนะ แล้วเขาก็เป็นที่ปรึกษาของหมู่บ้าน จริงๆ อย่างภาพในหนังที่เราเห็นในตัวอย่างเป็นของจริงเยอะมาก เป็นคุณยายของทีมอาร์ตมาผสมกับสิ่งที่ถ่ายเพิ่ม มันเลยดูโคตรจริงเพราะมันเป็นความจริงซะเยอะเลย

อ่านในบทสัมภาษณ์มาว่าคุณโต้งไม่เชื่อทำนองนี้เท่าไหร่ แต่มันทำให้คุณโต้งมองร่างทรงในฐานะผู้สังเกตการณ์ ขยายให้ฟังได้ไหมว่ามันช่วยอย่างไรบ้าง

คือเราไม่เชื่อ แต่ว่าเราอยากรู้จริง ๆ เราไม่ได้ไปตัดสินเขา แล้วเป้าหมายของหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่ไปบอกเขาว่า ‘มึงหลอกกู มึงปลอม’ คือเราไม่สนใจเรื่องนั้นเลย เราสนใจมิติของมันมากกว่า เราอยากรู้รายละเอียด วิธีคิด แนวคิดเขา ว่าเขาคิดยังไง ความเป็นมาของเขาและชาวบ้านที่มาหาเขาอะไรแบบนี้ เราจะเริ่มเห็นมิติและรายละเอียด เช่น เขาเก็บเงิน 39 บาทนะ เขาจะหลอกคนไปทำไมวะ 39 บาท วันนึงต้องเจอคนเยอะแยะ แต่บางคนได้รับการยอมรับนะ หรือบางคนชาวบ้านเขาไปโรงพยาบาลแล้วไม่หาย แต่พอมาหาร่างทรงเขาดีขึ้นจริง ๆ แล้วอย่างนี้มันแปลว่าอะไร เราเป็นใครเหรอ ถึงจะไปตัดสินเขา กลายเป็นว่าเราเจอมิติเหล่านี้ การไม่เชื่อก็อาจจะทำให้เราถอยมามองได้ แต่ที่สำคัญคือ ไม่เชื่อแล้วไปต่อต้าน จับผิด เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราพยายามจะมองมันจากมุมที่กว้างที่สุด

คุณโต้งเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์ว่าตลอดทางคือการทบทวนว่าสิ่งที่คนเชื่อคืออะไร หลังจากทำเรื่องร่างทรงมีจุดไหนระหว่างการทำงานเรื่องนี้ที่เปลี่ยนความคิดหรือมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อของตัวเองบ้างไหม

การทำเรื่องนี้ทำให้เราถกกับในทีมด้วยกันเยอะ เช่นกับนักแสดง แบบ ‘สรุปมันมีไหมนะ ร่างทรง ใครเคยเจออะไรมาบ้าง’ แล้วคุณเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร คือผมเองอาจจะไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนไปเลย แต่ว่ามันเป็นการคอนเฟิร์มมาากกว่า

อย่างหนังเรื่องนี้มันเป็นการพูดเรื่องความดี ความศรัทธา ปะทะความชั่วร้ายนิดหน่อยเหมือนกัน แล้วก็พอดูหนังเสร็จหลาย ๆ รอบ ก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย เราเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายนี่หว่า’ เพราะเรารู้สึกว่า สุดท้ายอะไรที่เป็นความจริงแท้แน่นอน คือความชั่วร้ายของมนุษย์

สุดท้ายทำหนังเสร็จ แล้วก็มานั่งคิดว่า ‘ทำไมกูทำแบบนี้ลงไปวะ’ มันเหมือนความดำมืดของมนุษย์มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหมือนความรู้สึกหลงทางของตัวละครป้าน้อย ที่ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใครแล้วบอกว่า ‘ใครก็ได้ พระเจ้าองค์ใดก็ได้’ ยิ่งอายุเยอะขึ้นมันยิ่งถามตัวเอง แล้วพอทำหนังเรื่องนี้ คุณนาฮงจินก็ถามเรา ทำให้เราเริ่มกลับไปศึกษาปรัชญาที่เราลืมไปแล้ว ลัทธิต่าง ๆ นานา ๆ คำถามของการมีตัวตน ที่อาจจะไม่ได้ใส่ในหนังสยองขวัญเต็ม ๆ นะครับ เพราะสุดท้ายมันก็เป็นหนังสยองขวัญนั่นแหละ แต่เราก็ต้องรู้ก่อน เพื่อจะได้ทบทวนตัวเองว่าสุดท้ายแล้วมีคำตอบในใจของหนังเรื่องนี้ แล้วพอได้ทบทวน ได้คอนเฟิร์มบางอย่าง มันไม่ได้แปลว่าเรารู้เยอะขึ้น แต่อาจจะทำให้เราหลงทางยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งสุดท้ายคนดูอาจจะเป็นเหมือนผมก็ได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า