Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะให้เกษตรกรไทยมี AI ใช้บ้าง

นุ่น หรือ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ตัดสินใจกลับมาเปิดบริษัทในไทย หลังจากที่ ‘ListenField (ลิสเซินฟิลด์)’ บริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ซึ่งเธอก่อตั้งที่ประเทศญี่ปุ่นโดยต่อยอดมาจากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของตนเอง จนประสบความสำเร็จกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี และได้ร่วมงานกับรัฐบาลญี่ปุ่นทำโครงการปฏิรูปภาคการเกษตรระดับประเทศ (Agricultural Reform)

โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ดิน พันธุ์พืช ช่วงเวลาการเพาะปลูกของเกษตรกร ฯลฯ แล้วเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดนำไปวิเคราะห์ เปิดให้เกษตรกรรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกับการเกษตรดึงข้อมูลไปใช้ เพื่อวางแผนพัฒนาในระดับบุคคล ระดับพื้นที่ จนถึงระดับนโยบาย

“เซ็นเซอร์ก็เหมือนการฟัง เป็นตัวฟังเสียงจากธรรมชาติ ความชื้นในดิน ความเป็นกรดด่างในดิน ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ข้อมูลพวกนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เราเอามาวิเคราะห์ มาตอบปัญหาต่างๆ ก็เลยเป็นที่มาของลิสเซินฟิลด์” รัสรินทร์ เล่าถึงที่มาของบริษัท

รัสรินทร์เกิดและโตที่จังหวัดนครนายก แม้ครอบครัวไม่ได้ทำการเกษตร แต่เธอก็ผูกพันกับบรรยากาศของทุ่งนามาตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโทจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เธอได้ร่วมงานกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นทำวิจัยเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“โจทย์ของเชียงดาว คือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคที่ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ให้เขารู้ว่าผักปวยเล้งที่เขากินมาจากเชียงดาวนะ แล้วเราในฐานะนักวิจัยก็ได้ข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ต่อว่าด้วยสภาพอากาศแบบนี้ ด้วยดินแบบนี้ ด้วยพันธุ์พืชแบบนี้ เราสามารถที่จะสร้างเอกลักษณ์อะไรให้กับผักปวยเล้งในพื้นที่นั้นได้”

เมื่อโจทย์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเข้าไป ‘ฟัง’ เพื่อเข้าใจพื้นฐานและปัญหาของผู้คนในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

รัสรินทร์เล่าว่า เธอรู้สึกสนุกกับการทำงานเมื่อได้สร้างความต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่ “เราได้นำข้อมูลไปให้ผู้บริโภคเขาเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ได้ข้อมูลมาวิจัยพันธุ์ผักปวยเล้งทำให้การปลูกดีขึ้น แล้วพอนักเรียนที่เขาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เห็นข้อมูลว่า เห้ย ผักปวยเล้งที่เขากินมาจากแหล่งนี้นะ บางทีได้เห็นน้องๆ ชาวเขาที่อยู่ในบริเวณนั้น เขาก็รู้สึกสนุก แล้วทุกๆ ปีก็กลับมาให้ทุนการศึกษา มาสอนน้องๆ ในพื้นที่นั้น มันกลายเป็นว่าได้เกิดทั้งเรื่องราวด้านงานวิจัย เชื่อมตลาดคือผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างการศึกษา เลยเป็นกลไกที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ”

จากงานวิจัยที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้รัสรินทร์ได้รับโอกาสไปทำงานกับเกษตรกรชาวญี่ปุ่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่อยากทำให้เกษตรกรไทย ‘กินดีอยู่ดี’ บ้าง “หนึ่งคือ เกษตรกรญี่ปุ่นมีบ้านที่น่าอยู่มาก ได้รับรางวัล สองคือ เขามีเวลาที่จะเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลผลิตของเขาให้ดีขึ้น แล้วก็มีทุนมากขึ้นที่จะทำอะไรต่อไป เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตรงนี้แหละค่ะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วเห็นว่าการเกษตรควรจะพัฒนาไปในแนวทางไหน”

เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่มหาวิทยาลัยชูบุ (Chubu University) ประเทศญี่ปุ่น และทำวิจัยเกี่ยวกับ API Integration Platform สำหรับภาคการเกษตร

“พอเราติดเซ็นเซอร์แต่ละเซ็นเซอร์มันก็มีความแตกต่างกันแล้ว ในมุมที่ว่า Interface ที่ใช้ก็ต่างกัน ตัวข้อมูลที่เข้ามารูปแบบมันก็แตกต่างกัน เราเลยทำแพลตฟอร์มที่จะทำให้เข้าใจเซ็นเซอร์แต่ละชนิด ให้เวลามาต่อแล้วเป็นแบบ Plug and Play คือง่ายที่จะเชื่อมเข้ามา แล้วพอข้อมูลมาถึงปุ๊บเอาไปใช้ต่อได้ ซึ่งในมุมของเกษตรกร เขามีข้อมูลแล้วต้องทำอะไรต่อ เราเลยมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อที่จะให้เขาสามารถลงมือทำได้จากข้อมูลที่เราเก็บมา เช่น ถ้าเขาปลูกพืชวันนี้จะเจอความเสี่ยงอะไรไหม ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ หรือใช้ข้อมูลไปบริหารจัดการแบบพอร์ตหุ้นว่าเขาจะปลูกตรงนี้เท่าไหร่เพื่อที่จะได้ผลผลิตตามต้องการ หรือใช้ข้อมูลเพื่อลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต”

“นอกจากเกษตรกรแล้ว ยังมีการขนส่ง มีออกแบบนโยบาย หรือในส่วนของผู้บริโภค จะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตรงนี้เข้าด้วยกัน เราเลยใช้ API เข้ามาจับ พอเราทำตรงนี้แล้ว ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีโครงการ Agricultural Reform พอดี ก็เลยเป็นโครงสร้างที่เราได้นำเข้าไปเสนอว่า ในการพัฒนาทั้งห่วงโซ่มันควรจะมีกลไกตรงนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรได้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้น แล้วก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ความน่าสนใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในมุมมองของรัสรินทร์ คือ “เขาดึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาในโครงการ ทำให้เราได้ลองผิดลองถูกร่วมกัน เข้าใจร่วมกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร พอทุกคนได้ประโยชน์จากการทำโครงการนี้ เราก็สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ ตั้งแต่ในเชิงพื้นที่จนไปถึงการออกแบบนโยบายต่างๆ”

หลังจากนั้นบริษัท ‘ListenField (ลิสเซินฟิลด์)’ จึงได้ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่น โดยมีรัฐบาลเป็นลูกค้าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และชุมชนเกษตรกรรมอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

“สิ่งที่เราทำที่ญี่ปุ่นก็น่าจะมาทำอะไรในไทยได้นะ เลยกลับมาไทย ได้ไปตระเวนเจอเกษตรกร ซึ่งเห็นเลยว่าจริงๆ เกษตรกรก็มีความรู้ความชำนาญในพื้นที่ แล้วกับการที่เรามีเทคโนโลยี มีวิทยาศาสตร์ พอมาทำงานร่วมกัน มันก็เลยเป็นมิติที่สนุก ก็เลย เอาล่ะ งั้นกลับมาทำที่ไทยด้วย”

“ตอนเรามาเราก็คิดว่า เราจะเอาเทคโนโลยีไปให้เขานี่แหละเพราะเราคิดว่าดี API, Platform, Analytics คือทุกคนก็ไม่เข้าใจ เราเองก็เข้าใจว่ามันก็ไม่ควรจะเข้าใจหรอก แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่าอยากจะให้เกษตรกรไทยได้มี AI ใช้บ้าง เลยเริ่มจากจุดเล็กๆ ว่า โอเค ถ้าเกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์จะต้องทำการบันทึก เพราะฉะนั้นเราทำแอปพลิเคชั่นให้อย่างน้อยการบันทึกของเขาเป็นเรื่องง่ายขึ้น เสร็จแล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน AI มันก็จะค่อยๆ ฉลาดขึ้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาที่ไทย แล้วทำแอปพลิเคชั่น FarmAI ค่ะ”

เทคโนโลยีอาจเป็นอุปสรรคบ้างในช่วงเริ่มต้น แต่รัสรินทร์เชื่อว่า ทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ เธอยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดศรีสะเกษ

“พ่อประติ อายุ 70 อ่ะค่ะ แต่ทุกวันเขาสามารถที่จะใช้ FarmAI ในการดูข้อมูลสภาพอากาศแล้ววางแผนว่าแปลงนี้ ถ้าสภาพอากาศแบบนี้ เขาจะดำนะ ถ้าแปลงนี้ เขาจะหยอดนะ อายุ 70 ยังสามารถที่จะปรับและใช้ระบบได้ ก็คิดว่าไม่ว่ารุ่นไหนก็จะใช้ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าใจกันและกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือการทำงานร่วมกันให้เกิดความเชื่อใจ แล้วก็รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไรต่อ”

“ในชุมชนที่ศรีสะเกษ เขาปลูกข้าวที่เขาสามารถกำหนดราคาได้แล้วส่งออกสิงคโปร์ เริ่มจากจุดเล็กๆ ปุ๊บ เพื่อนบ้านก็เริ่มที่จะปรับเปลี่ยน มันเลยกลายเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วทำให้ชุมชนมีศักยภาพมากขึ้น สร้างให้พื้นดินเกิดทรัพย์สิน และในขณะเดียวกันชุมชนก็มีความมั่งคั่งมากขึ้น” รัสรินทร์ยิ้มกว้าง

อย่างไรก็ตาม การจะนำเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ผู้กำหนดนโยบายควรมีเป้าหมายก่อน ซึ่งนั่นคือปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ว่า ปัจจุบันเรายังไม่มีเป้าหมายชัดเจน 

“ทุกคนก็พูดแต่ว่าเราจะต้องใช้เทคโนโลยี เราจะต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเกษตรกรก็จะตั้งคำถามว่า พวกเขาต้องการรายได้นะ แล้วจะทำอะไรให้มีรายได้ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เทรนด์ที่กำลังมา เช่น ผักปลอดภัย มันมีมูลค่าแล้วใช้น้ำน้อยลงด้วยนะ เพราะฉะนั้นควรจะปลูกอะไร มันก็ควรจะส่งเสริมกันให้จริงจัง ที่จะมุ่งไปสู่ตรงนั้น แล้วค่อยเอาเรื่องของเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเป็นฐานเสริมเขา”

นอกจากนี้ ในฐานะนักเทคโนโลยีและข้อมูลภาคการเกษตร เธอบอกว่า ไทยยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะนำไปใช้พัฒนาการเกษตร

“สิ่งสำคัญคือข้อมูลสภาพอากาศ ยังขาดความละเอียดแล้วกัน (ยิ้ม) เพราะในมุมของการเกษตร โดยเฉพาะประเทศไทยที่พื้นที่การเกษตรของเรา 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกเขตชลประทาน ฉะนั้นเรื่องของสภาพอากาศจึงสำคัญมาก มันส่งผลโดยตรงเลย ถ้าเกิดว่าไม่มีข้อมูลที่แม่นยำก็ยากที่จะไปช่วยเขาคาดเดาในเรื่องต่างๆ ได้”

“อย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ด เห็นเลยว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ในเดือนมิถุนายนปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงเรื่อยๆ มันสำคัญมากนะคะ ถ้าเกิดว่าในพื้นที่ยังปลูกข้าวและปลูกในเดือนมิถุนายน ก็จะมีปัญหาในเรื่องของฝนทิ้งช่วง เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย มันต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเหมือนกัน ในการที่ประเทศไทยจะมีข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้” รัสรินทร์ ทิ้งท้าย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า