SHARE

คัดลอกแล้ว

คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กมธ.ป.ป.ช. หรือ กมธ.ปราบโกง ถูกจับจ้องทุกสัปดาห์ที่มีการประชุมว่าจะมีเหตุทะเลาะเบาะแว้ง กระทบกระทั่งใดๆ อีกหรือไม่

แต่หนึ่งในตัวละครที่เป็นคู่ขัดแย้ง คือ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองเป็นคู่ปรับ ของประธาน กมธ.ชุดนี้ คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ในแบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า เขาก็เหนื่อยเหมือนกันที่ต้องมาทะเลาะกันแบบไม่สิ้นสุด

เราเริ่มต้นถามจากการที่ สิระ เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่เขาภูมิใจที่ได้ทำงานใน กมธ.ปราบโกง ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นความจริง โดยบอกว่า กมธ.ชุดอื่นปกติจะประชุมสัปดาห์ละครึ่งวัน แต่ “ของเรา” ประชุมวันครึ่ง คือ วันพุธทั้งวัน วันพฤหัสบดีอีกครึ่งวัน มีการมอบหมายงานและมีการมารายงานทุกสัปดาห์

ส่วนภาพที่เห็นมีปัญหาบ่อยๆ  เขาบอกว่า จะมีปัญหาเฉพาะเวลามีกล้องมีผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าว ช่วงเวลาพิจารณาเรื่องอื่นก็มีการรายงานเรื่องการติดตามการทุจริตที่แต่ละคนรับผิดชอบตรวจสอบ มีการเสนอว่าควรจะเรียกใครมาชี้แจง การประชุมเดินตามวาระสงบเรียบร้อย

“ขอตั้งข้อสังเกตว่าพอมีเรื่องที่อยากจะเผยแพร่ อยากจะประจานหรือไม่ก็ไม่ทราบ ก็จะเชิญผู้สื่อข่าวมา ก่อนที่จะมีการเอาเรื่องเข้าสู่วาระจะมีการส่งซิกมาให้ผู้สื่อข่าวรอ ทุกครั้งเราก็รู้ละเดี๋ยวจะมีเรื่องอะไรที่กระทบกระทั่งกันแน่นอน”

เมื่อถามว่า ถ้าเชื่อว่ามีการจัดฉาก แล้วภาพที่ออกมาเท่ากับว่า เขาหลงเข้าไปอยู่ในแผนหรือไม่

“มันเกิดประโยชน์ไหม ถ้าใครคิดอย่างนั้น จิตต่ำขนาดไหน เพื่ออะไร เอาเวลาของ กมธ. ของสภามาทำเรื่องนี้ ถ้าเป็นการวางแผน ผมว่าต้องพิจารณาตัวเองละ”

ส.ส.สิระ เล่าต่อว่า ปัญหาจริงๆ ของการทำงาน ไม่มีอะไรเลยจริงๆ แต่มีปัญหาบางเรื่องที่ย้ำคิดย้ำทำ เช่น เรื่อง การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี มีการเสนอญัตติและเอกสารที่เขาเห็นว่าน่าจะเพียงพอแล้ว และต่อมามีการลงมติ 8-6 ให้ยุติเรื่องนี้

แต่ท่านประธานก็บอกไม่ยุติ ใช้อำนาจประธานให้เดินต่อ แล้วเราจะปล่อยไปได้อย่างไร

กมธ.ไม่ใช่บริษัท ที่มีประธานจะสั่งลูกจ้างอย่างไรก็ได้ จะกำหนดทิศทางอย่างไรก็ได้ไม่ต้องฟัง แต่ กมธ.มีกฎหมายรองรับ มีระเบียบการประชุมบังคับอยู่

ลงมติใหม่ได้ตามกติกา – ต้องตัดจบเสียเวลาอีกไม่ได้

Workpoint Today เคยสัมภาษณ์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งยืนยันว่า เคยมีการโหวตเรื่องจะยุติการตรวจสอบเรื่องถวายสัตย์แล้วและเสียงส่วนใหญ่ให้เดินหน้าต่อ ดังนั้นจะมาเสนอญัติให้โหวตใหม่ภายหลังไม่ได้อีกเพราะถือว่าญัตติตกไปแล้ว และเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปอีกนิดเดียวก็จบเรื่องสรุปเป็นรายงานแล้ว

แต่ ส.ส.สิระ เห็นคนละอย่าง เขามองว่า มติครั้งแรก 6-3 ให้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อก็จริง แต่หลังจากนั้นก็มีการเชิญผู้ชี้แจงมาอีก พอชี้แจงเสร็จก็ถือว่าต่างวาระแล้ว จึงสามารถเสนอให้มีการลงมติใหม่ได้ ว่าเราได้รับคำชี้แจงจากผู้ชี้แจงเพียงพอแล้วควรยุติหรือไม่ การลงมติก็ให้ยุติเป็น 8-6 เสียง (การลงมติครั้งหลังฝ่ายรัฐบาลได้เสียงเพิ่มจาก จารึก ศรีอ่อน อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ที่ย้ายไปอยู่ พลังท้องถิ่นไท และสลับมาโหวตให้ขั้วรัฐบาล)

“ตอนที่เราแพ้เรายังยึดเสียงส่วนใหญ่ ตามระเบียบข้อบังคับของสภาผู้แทนฯ แต่พอเราชนะก็ไม่ยึดระเบียบข้อบังคับฯ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่”

ขณะที่เหตุผลที่ควรยุติเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจาก คนที่เชิญมาให้ข้อมูลด้วย เขาเห็นว่า การเชิญ วิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มาให้ข้อมูลเรื่องการถวายสัตย์ เป็นการมาชี้แจงความเห็นส่วนตัว ไม่มีหลักอื่นมาอิง ไม่ยึดกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เสียเวลาไปวันนั้น 3-4 ชม.

“หมดคนจะชี้แจงแล้วหรือยัง ถึงเอาคนใดคนหนึ่งมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว อย่างนี้ผมก็เอาความเห็นส่วนตัวใครก็ได้ฝ่ายผมมาบ้าง แล้วเกี่ยวข้องอะไรกัน มันเป็นการเล่มเกมไหม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไปแล้ว”

และเขาย้ำว่า การพิจารณาเรื่องอะไรสุดท้ายแล้วจะต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาเรื่องนี้สุดท้ายผลที่ได้ก็ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งศาลก็มีคำวินิจฉัยมาแล้ว แล้วมีประโยชน์อะไรไหมที่จะเสียเวลาพิจารณาต่อ

ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นสภาขอเปิดญัตติด่วนถอดพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากกรรมาธิการ ป.ป.ช.

ตกลงใน กมธ.กันไม่ได้ ใช้เสียงส่วนใหญ่ถอดถอน

ไพบูลย์ นิติตะวัน อีกหนึ่ง กมธ.ในขั้วฝ่ายของ ส.ส.สิระ ได้ยื่นญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจาก กมธ. ป.ป.ช. โดยหากที่ประชุมใหญ่ ส.ส. ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกุมเสียงได้มากกว่าเห็นด้วยกับญัตตินี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็จะต้องพ้นจากการทำหน้าที่ในส่วนนี้ไปด้วย

เราถาม ส.ส.สิระว่า เป็นการเล่นกันแรงไปหรือเปล่า และเรื่องของ กมธ.แต่ละชุดก็มาจากการตกลงกันของทุกพรรคการเมือง มีการกำหนดโควตากันตั้งแต่แรกว่าประธาน กมธ.ชุดนี้เป็นของพรรคเสรีรวมไทย

ส.ส.สิระ ตอบกลับว่า ในเมื่อมติ กมธ. เสียงส่วนใหญ่ท่านไม่ฟังแล้วจะเดินต่ออย่างไร ประชาชนต้องคิดข้อนี้ด้วย เสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ต้องฟัง ถ้าไม่ฟังแล้วเราจะมีประชาธิปไตยไว้ทำไม

“คนที่เรียกร้องว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ผิด ต้องการประชาธิปไตย เรียกร้องไม่เอาปฏิวัติ เรียกร้องให้มีประชาธิปไตย กลับมาทบทวนเรื่องนี้ก่อน พอเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ของเรา บอกเสียงมากลากไป ถ้าอย่างนี้ มันยุติธรรมไหม แต่เวลาตัวเองชนะบอกเสียงส่วนใหญ่เอาอย่างนี้”

การเสนอญัตติเข้าสู่สภาใหญ่จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างได้อภิปรายกันก่อนจะลงมติ ซึ่งเขาเปรียบว่า เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เกิดก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรีด้วย

ส่วนเรื่องของโควตาถ้า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  ต้องพ้นตำแหน่ง พรรคเสรีรวมไทยก็ยังส่งคนอื่นเข้ามาแทนได้ แต่จะได้เป็นประธานอีกไหมเขาบอกว่าต้องแล้วแต่ กมธ. 15 คนจะลงมติ (ซึ่งขณะนี้ขั้วรัฐบาลพลิกกับการกุมเสียงได้ 8-7 จากกรณีของ จารึก ศรีอ่อน)

เมื่อถามย้ำว่าเป็นการทำลายธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อจะเอาคนที่ไม่ชอบคนเดียวออกจากตำแหน่งหรือไม่

“ธรรมเนียมกับความถูกต้องจะเอาแบบไหน วัฒนธรรมบางทีถ้าไปไม่ได้ ก็ต้องเอาความถูกต้อง เอาหลักกฎหมายมาจับ” ส.ส.สิระย้ำ

เขายังเล่าว่า กมธ.อีกชุมหนึ่งที่เขาสังกัด คือ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน มีพรรณิการ์ วานิช เป็นรองประธาน มีรังสิมันต์ โรม เป็นโฆษก และมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกหลายคน กลับทำงานกันอย่างราบรื่น ทั้งที่คนละขั้วคนละอุดมการณ์ ทั้งที่ตอนแรกคนก็บอกปัญหาจะเกิดกับ กมธ.ชุดนี้ แต่ก็ไม่เกิดเลย ซึ่งเขามองว่าเพราะยึดระเบียบข้อบังคับ และให้เกียรติกัน

และสรุปย้ำว่า ถ้ายึดหลัก 1.ระเบียบข้อบังคับ 2.ให้เกียรติกกมธ. 3. ยึดกฎหมาย ก็เพียงพอแล้วที่จะทำงานอย่างราบรื่น

ส่วนช่วงปีใหม่ที่มีภาพเขานำกระเช้าไปขอขมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ทุกคนต่างคิดว่าวามขัดแย้งจะจบลง เขาบอกว่าตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ แต่ที่สุดเขาก็ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมาย

“มันเหนื่อยน่ะ เราก็รู้ว่า สิ่งที่เราทำกว่าจะเป็น ส.ส.ได้ ไม่ใช่เพราะการทะเลาะกันนะ การจะเป็นผู้แทนราษฎรจริงๆ ต้องมีดีสิ มันต้องมีความนิยมชมชอบของประชาชนสิ แต่พอไปอยู่ กมธ.คณะนี้เราต้องทะเลาะกันเหรอ เพราะคนนึงยึดระเบียบข้อบังคับไม่ให้ออกนอกกรอบ กลายเป็นจำเลย ต้องไปทะเลาะกับคนอื่น มันเหนื่อย พอได้แล้ว คุณจะคิดจะทำอะไร จะมีธงอะไรก็เรื่องของคุณ แต่ต้องยึดตรงนี้ (ระเบียบ กฎหมาย) ได้ไหม ก็ทำไม่ได้”

จากนักธุรกิจสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ส.ส.สิระ เล่าว่า ความสนใจในด้านการเมือง มาจากการที่ช่วงปี 2554 เขาประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจแล้ว และเห็นความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2553 ประกอบกับดูแล้วว่าช่วยประชาชนในพื้นที่มามาก อยากช่วยอยากผลักดันนโยบายโครงการที่ประชาชนต้องการจริงๆ ก็เลยสนใจลงสมัคร ซึ่งตอนนั้นมีแบ่งข้างทั้งซ้าย-ขวา ก็เลือกเลือกลงตรงกลางกับ พรรครักษ์สันติ ของ ร.ต.อ.อุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ (ได้ 2,437 คะแนน) เขาบอกว่าเพราะการเมืองแบ่งข้าง ทำให้คนไม่เลือกอะไรที่กลางๆ

จนมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ เดิมเขาไม่คิดจะเล่นการเมืองแล้ว แต่มีผู้ใหญ่มาตามไปคุย บอกว่าชอบที่เขาต่อสู้เพื่อประชาชน และประเมินว่าเขามีฐานของประชาชนในพื้นที่น่าจะได้เป็น ส.ส.ได้ ซึ่งทีแรกเขาจะปฏิเสธ แต่ผู้ใหญ่ท่านนั้นบอกว่า ถ้าเขาเป็น ส.ส.จะช่วยคนได้มากกว่าเป็นนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งก็ไปตรงกับที่เขาเคยคิดไว้เมื่อครั้งลงเลือกตั้ง 2554

เขาจึงตัดสินใจลงสมัครในนาทีสุดท้าย และผลออกมาชนะตัวเต็ง 2 คน อย่าง สุรชาติ เทียนทอง ส.ส.เก่าจากพรรคเพื่อไทยและ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ นายตำรวจคนดังจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส.สมใจ ซึ่งเขายอมรับว่ามาจากกระแสคนรักลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ กับอีกส่วนที่เขาก็มีความนิยมของประชาชนอยู่

เป็นนักการเมืองมีขั้วมีข้างและราคาที่ต้องจ่าย 

ส.ส.สิระ ยอมรับว่า การเป็น ส.ส.มีสังกัด แล้วมีทั้งคนรักและไม่รัก เป็นราคาที่ต้องจ่ายแพง ซึ่งเขากำลังประเมินว่าคุ้มค่าไหม กับการเป็น ส.ส. เพิ่มบทบาท เพิ่มหน้าที่ แต่พอไปทำงานบางเรื่องก็มีคนไปโจมตี บางคนจะมาร้องเรียนพอเห็นพรรคที่สังกัดอยู่ก็เชื่อว่าจะช่วยหรือจะทำให้

เขายกตัวอย่างที่ชาวสองล้อมาร้องเรียนเรื่องการถูกจำกัดการขึ้นสะพานข้ามแยก ถ้าเป็น ส.ส.คนอื่นๆ อาจจะไม่ยื่นมือมาทำให้ แต่เขาอยู่ใน กมธ.การกฎหมาย และมีความต้องการจะแก้ไขก็ผลักดันเรื่องนี้ให้ เขาบอกว่าปกติเวลาใครรับเรื่องก็จะรับไว้คนเดียว แต่เขาไปตาม อ.ปิยบุตร ซึ่งเป็นประธาน กมธ.การกฎหมายมารับเรื่องด้วยกัน เขาย้ำว่า นักการเมืองที่ไหนเขาทำกัน เอาหน้าคนเดียวไม่ดีกว่าเหรอ แต่เขาไม่คิดอย่างนั้น เพราะมองว่าการช่วยกันผลักดันจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า

“นี่แหละ นี่คือ สิระ เจนจาคะ” เขาบอกอย่างหนักแน่น

เมื่อถามว่าบุคลิกเสียงดัง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่รักด้วยหรือไม่  เขาบอกว่าเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ พระพุทธรูปในโบสถ์ ท่านไม่ได้ทำอะไรก็ยังมีคนไปตำหนิ  แต่เสียงดังแบบนี้มีผล ผู้รับเหมาทิ้งงานในเขต 3-4 ชุมชน เจอเสียงดังแบบนี้ทีเดียวจบ ไม่ถึงเดือนเสร็จหมด เขาถามว่า ถ้า ส.ส.หน่อมแน้มไม่เสียงดังแบบนี้อาจจะทำไม่ได้ ถามว่าประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชนใช่ไหม

“ผมยอมที่จะบอกว่าบุคลิกผมเป็นอย่างนี้ และทำธุรกิจมาจนประสบความสำเร็จอย่างนี้ ก็คือตัวผมแบบนี้ ผมไม่ขอเล่นละครหรือแสดงบทบาทที่ไม่ใช่ตัวตนผม ถ้าแบบนั้นไม่เป็นซะดีกว่า”

ไม่สนคนด่า ไม่อ่านคอมเมนต์โซเชียล 

ส.ส.สิระ บอกว่า การมาอยู่ตรงนี้ มีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ ไม่ใช่มีคนไม่ชอบอย่างเดียว แต่คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย เขาไม่ดูเลย ไม่อ่าน เพราะอ่านแล้วก็มีความรู้สึกว่า จะอ่านเพื่ออะไรล่ะ เราไปช่วยคนก็ติหาว่าสร้างภาพ ไปปราบตู้ม้าก็หาว่าสร้างภาพมีผลประโยชน์ จะอ่านทำไมล่ะ มันอยู่ที่หัวใจเราว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ทำเพื่อตัวเองหรือบ้านเมือง คิดอย่างนั้นก็สบายใจ

“ที่ผมหน้าตาสดใส ใสกิ๊กเลย เพราะผมไม่เอาเรื่องพวกนี้มาคิด”

อย่างไรก็ตามระหว่างคุยกันเราจับสัญญาณได้ว่าแม้เขาจะบอกว่าเลี่ยงที่จะอ่าน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่รับรู้ถึงเสียงของคนที่ไม่รัก และทำให้ต้องคิดทบทวนถึงบทบาทการเป็นนักการเมือง การเป็น ส.ส.

เขาบอกว่า กำลังประเมินอยู่ว่าเส้นทางนี้ยังจำเป็นไหมที่จะต้องมีคนมาด่า ทั้งที่เราทำเพื่อส่วนรวม แต่ไปกระทบกระทั่งคนอื่น เมื่อก่อนก็ทำแบบนี้เลย ไม่มีใครตำหนิเลย เสียงดังอย่างนี้ มีคนบอกว่าเป็นนักต่อสู้ แต่ตอนนี้พอไปทำงานแล้วเสียงดัง บอกว่ากร่างมั่ง ใช้อำนาจมั่ง ทำผิดกฎหมายตรงไหน แล้วใช้คำพูดไม่สุภาพตรงไหน ไปดูคลิปได้เลย แค่เสียงดังแล้วแอ็กติ้งเป็นคนแบบนี้

“คุณต้องการอะไรที่ว่าผม ผมทำให้ไม่ได้หรอก สิ่งที่คุณบอกว่าจะรักผม ถ้าผมต้องไม่ทำตัวอย่างนี้ แต่ถ้าญาติพี่น้องคุณโดนรังแก คนในพื้นที่โดนโกง มาหาผม ผมพร้อมจะช่วย และคุณก็จะรู้ว่าเสียงดังอย่างนี้มันเหมาะสมที่จะไปเล่นงานคนไม่ดี ไปทำสิ่งที่ทะลุทะลวงเกิดประโยชน์กับส่วนรวม”

นิยามของ ส.ส.ในฝันของประชาชน

ส.ส.สิระบอกว่า เขาเกิดมาเป็นลูกคนจน โดนละเมิดความเป็นคน ไม่มีความรู้ กว่าจะจบปริญญาตรีก็ตอนอายุ 48 ปี  ที่ผ่านมาโดนเอาเปรียบโดนดูถูก เมื่อเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจึงช่วยสู้ให้ประชาชนในฐานะนักธุรกิจ  ส่วนที่ทำทุกวันนี้ ก็คือต่อสู้ในหน้าที่ของผู้แทนราษฎร

เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่ คือ ส.ส.แบบที่ประชาชนเรียกร้องต้องการมี แต่พอมีจริงๆ ก็มีคนบอกว่า เฮ้ย มันอยู่พรรคพลังประชารัฐ มันทำเกินไปแล้ว ไอ้นี่มันไม่เข้าท่า

“ยุติธรรมกันบ้างเถอะ ผมขอความยุติธรรมกันบ้างเถอะ ถ้าวันไหนผมละเมิดกฎหมาย มาเล่นงานผมเลย ผมทำความชั่วมาเล่นงานผมดีกว่าไหม”

“คุณอยากได้ ส.ส.ในฝันคุณยังไง สิ่งที่ผมทำมาเป็น ส.ส.ในฝันของคุณได้ไหม เป็นผู้แทนราษฎรในฝันของคุณไหม อย่าเอาเรื่องของพรรค เรื่องความเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ถามคุณก่อนว่า ส.ส.ในฝันคุณคืออะไร เป็นปากเป็นเสียงของประชาชนไหม ต่อสู้เพื่อประชาชนไหม ผมเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ยังตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรี ของเจ้าหน้าที่รัฐ นี่ไงเป็น ส.ส.ในฝันของคุณหรือยัง หรือ ส.ส.ในฝันเป็นฝ่ายค้านต้องด่า เป็นฝ่ายรัฐบาลต้องหลับหูหลับตา มือซุกกระเป๋า ปิดตา ปิดหูปิดปาก ไปฉีดยุง ไปงานศพ ในฝันคุณหรือเปล่า ถ้าในฝันของคุณแบบนั้นไม่ใช่ผม”

“แต่ถ้าคุณมีเรื่องมาหาผม ผมช่วยคุณได้”

 

 

 

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า