คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และไอลอว์ ร่วมจัดงานเสวนาครบรอบ 23 ปี รัฐธรรมนูญ ปี 2540 พร้อมเปิดตัวกลุ่มรีโซลูชัน (Re-solution) เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
วันที่ 11 ตุลาคม 2563 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่ม “Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” จัดแถลงข่าวและเสวนาโดยความร่วมมือของ 4 องค์กร ในการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนเข้าร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า – Conlab และ นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในงานเปิดตัวกลุ่ม Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่
รศ.ปิยบุตรจากคณะก้าวหน้า เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวบรรยายในหัวข้อ “ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่” ชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปการเมืองและเป็นฉันทามติครั้งสุดท้ายที่คนไทยมีร่วมกัน การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้งในวันที่ 19 กันยายน 2549 นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตรอบใหม่ เนื่องจากรัฐประหารทั้งสองครั้งไม่ได้แก้ปัญหาที่คณะรัฐประหารทั้งสองชุดอ้างมา แต่ยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นมากกว่าเดิม
นอกจากนั้นยังได้ตั้งคำถามถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบให้แก้รัฐธรรมนูญได้ยากมาก เพราะมีทั้งวุฒิสภาศาลรัฐธรรมนูญคอยขวางอยู่ จนนับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสถาบันทางการเมืองในระบบ ไม่กระตือรือร้น ไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ จนตอนนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลารอระเบิดออกมา ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่จะต้องทำให้ชัดเจนว่าใครคือผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดฉันทามติในสังคมไทย

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ในงานเปิดตัวกลุ่ม Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่
ด้านนายพริษฐ์จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้ชี้ถึงความไม่ปกติของอำนาจและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเลือกนายกฯ สามารถควบคุมโครงสร้างทางการเมืองได้แม้ไม่ได้มาจากประชาชน มีที่มาจากพวกพ้องและสัดส่วนอาชีพ อีกทั้งยังบกพร่องในหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร จึงได้เสนอให้นำแนวคิดสภาเดี่ยวมาใช้เพื่อให้ทันต่อกระแสโลกปัจจุบัน
ส่วนนายรังสิมันต์จากพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นถึงศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระว่ามีที่มาและกระบวนการสรรหาที่ยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก และมักจะมีคนกลุ่มหนึ่งได้รับผลเสียจากคำวินิจฉัยของทั้งสององค์กรตลอดเวลา จึงได้เสนอวิธีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยังคงมี 9 คนเช่นเดิม ส่วนองค์กรอิสระ เสนอให้มีองค์กรละ 5 คน แต่ให้สภาเข้ามามีบทบาทในการเป็นกรรมการสรรหามากยิ่งขึ้น

นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในงานเปิดตัวกลุ่ม Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่
ในช่วงที่ 4 ของงาน นายยิ่งชีพจากไอลอว์ พูดถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยย้ำถึงหลักการที่กฎหมายสูงสุดต้องมาจากประชาชน ร่างโดยตัวแทนประชาชน และอยู่ในบรรยากาศที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ จึงเสนอว่า ส.ส.ร.ทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้ง100% ไม่มีโควต้าตัวแทนอาจารย์มหาลัยหรือผู้เชี่ยวชาญ ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์สามารถเลือกผู้สมัครที่มีแนวคิดตรงกับแต่ละคน อาจสมัครเป็นทีมเหมือนระบบบัญชีรายชื่อพรรคของส.ส. ต้องไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุและวุฒิการศึกษา และต้องร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศที่เปิดกว้างสู่อนาคต
ช่วงท้ายมีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่ม “Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาทางออกใหม่ให้กับประเทศผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาข้อยุติที่จะนำประเทศหลุดพ้นออกจากวิกฤตทางการเมือง ณ ปัจจุบัน และตั้งปณิธานเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง