เรื่องจริงสุดดราม่าของครอบครัวแชบอลที่ซ่อนอยู่ใน ‘Reborn Rich’
สิ่งหนึ่งที่สร้างความสนุกให้กับ Reborn Rich ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวของ จินโดจุน (รับบทโดย ซงจุงกิ) ที่ทำงานรับใช้บริษัทซุนยังแบบถวายหัว แต่กลับโดนสั่งฆ่า ทว่าเขาได้ย้อนเวลามาเกิดใหม่ในร่างของ จินโดจุน หลานชายคนเล็กของตระกูลจิน เจ้าซุนยัง เนื้อเรื่องที่ชวนให้ผู้ชมลุ้นว่าเขาจะเปลี่ยนชะตาของโดจุนและตัวเองได้อย่างไรทำให้ Reborn Rich มาแรงแซงทุกเรื่องจนชิงตำแหน่งมินิซีรีส์ที่มีผู้ชมดูมากที่สุดในปีนี้ของเกาหลีไปได้ นอกจากการแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะ ซงจุงกิ และ อีซองมิน ที่มารับบทปู่และหลานที่มาห้ำหั่นกันในเรื่องธุรกิจและหลานแล้ว ยังมีความเข้มข้นของบริบททางเศรฐกิจและการเมืองของเกาหลีใต้ รวมไปเรื่องราวครอบครัวและปมในเรื่อง ซึ่งอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง แม้ว่าต้นซีรีส์จะระบุว่า ‘บุคคล องค์กร สถานที่ และเหตุการณ์ในละครไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริง’ ก็ตาม วันนี้จะพาทุกคนมาลองวิเคราะห์กันว่าเรื่องจริงสุดดราม่าของครอบครัวแชบอลเกาหลีเรื่องไหนอาจจะซ่อนอยู่ในซีรีส์เรื่อง Reborn Rich บ้าง
แชบอลคืออะไร
แชบอล (재벌) เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มบริษัทใหญ่ที่มักจะบริหารงานกันโดยสมาชิกในครอบครัวเดียว (family run conglomerate) เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลในเกาหลีใต้และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง โดยมักมีธุรกิจในเครืออยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อย่างเช่น ซัมซอง (ซัมซุง) ฮยอนแด (ฮุนได) แอลจี (LG) เอสเค (SK) ลอตเต้ (Lotte) เป็นต้น เหมือนกับในเรื่องที่ ซุนยัง เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีธุรกิจในเครือทั้งก่อสร้าง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ห้าง โรงแรม ประกันภัย โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งบริหารโดยสมาชิกครอบครัวจิน ตัวละครในตระกูลจินดูเหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากตระกูลแชบอลหลายตระกูล และนี่ทำให้ Reborn Rich เป็นซีรีส์เปิดประวัติศาสตร์ที่มาความยิ่งใหญ่ของแชบอลในเกาหลีใต้ บทบาทของตระกูลเหล่านี้ในเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ และรวมเอาเรื่องราวดราม่าของคนตระกูลมาไว้ด้วยในซีรีส์เรื่องเดียว

ภาพจาก :: IG :: tbcdrama
ตัวละครที่เชื่อมโยงสู่แชบอลตัวจริง
แม้จะบอกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติ แต่หากใครที่เคยติดตามเรื่องราวของกลุ่มแชบอลเกาหลีอยู่บ้างอาจจะคุ้น ๆ กับตัวละครและปัญหาที่พวกเขาเจอซึ่งชวนให้นึกถึงผู้บริหารของบริษัทแถวหน้าในเกาหลีและลูกหลานอีกหลายคน

ภาพจาก :: IG :: tbcdrama
ประธานจินยังชอล: ประวัติของจินยังชอลในเรื่องมีหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึง ประธาน อีบยองชอลแห่งซัมซุง ทั้งการมีหนังสืออัตชีวะประวัติ (호암자전) โดยหนังสือเวอร์ชั่นภาษาจีนยังมีปกคล้าย ๆ กับ หนังสือในเรื่อง รวมถึงชีวิตของเขาที่ชีวิตของประธานจินยังชอลแทบจะถอดแบบมา เช่นการ ที่เริ่มต้นจากการทำกิจการโรงสีข้าวที่บ้านเกิด ก่อนที่จะย้ายไปแดกูและเริ่มกิจการขนส่งสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อซัมซองที่หมายถึงดาวสามดวง ที่คนไทยเรียกันว่าซัมซุง แต่โชคร้ายที่เจ๊งเพราะสถานการณ์ credit crunch ที่มีผลมาจากการที่ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย แต่หลังจากนั้น เขาก็กลับมาสู้ต่อด้วยการเพิ่มธุรกิจนำเข้าส่งออกให้กับซัมซุง กลายเป็น Sumsung Trading Company ที่เติบโตท่ามกลางความปั่นป่วนของสถานการณ์ทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี คล้ายกับจินยังชอลในเรื่องที่ค้าข้าวก่อนที่จะใช้รถบรรทุกขยายกิจการก่อนจะโดนบีบให้สละสิทธ์ในสมัยรัฐประหารในปี 1961 ทำธุรกิจมากมายทั้งกิจการโรงน้ำตาลเชอิลที่ในภายหลังแยกตัวกลายมาเป็นบริษัท CJ ENM บริษัทบันเทิงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้และประสบความสำเร็จในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ และคอลเล็กชั่นงานศิลปะและของสะสมที่ดูจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากอีบยองชอลที่มีคอลเล็กชั่นงานศิลปะมากมาย และส่งต่อความรักในศิลปะให้กับอีกอนฮี ลูกชายคนที่สาม โดยหนึ่งในงานที่ครอบครัวของอีกอนฮีบริจาคให้ National Museum of Korea เมื่ออีกอนฮีเสียชีวิตนั้นก็มีแจกันหน้าตาคล้าย ๆ กับที่แตกในเรื่องอีกด้วย
แต่หากดูลึกลงไปแล้วนอกจากชีวิตของประทานอีบยองชอลแล้ว ในตัวละครจินยังชอลยังมี ชีวิตของประทานจองจูยอง ผู้ก่อตั้งฮุนได มาผสมอยู่ด้วย เพราะถึงแม้ซัมซุงจะเคยมีกิจการรถยนต์และเคยพยายามเทคโอเวอร์ KIA ในช่วงวิกฤตเศรฐกิจ หลังซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประทานผู้ก่อตั้งซัมซุงเสียด้วยโรคมะเร็งปอด แต่บริษัทที่เทคโอเวอร์ได้สำเร็จคือฮุนได หรือ ฮยอนแดนั่นเอง เพราะนอกจากชีวิตของประทานจองจูยอง ก็เริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจครั้งแรกจากการทำร้านขายข้าวที่ถูกบีบให้ปิดกิจการช่วงญี่ปุ่นเข้ายึดครอง แล้วยังมีรายละเอียดที่ดูจะถอดแบบมาอย่างเช่น พัฒนากิจการรถยนต์อย่างไม่ย่อท้อเพราะหลังเกาหลีได้เป็นไทเขาก็ก่อตั้งอู่ซ่อมรถ สร้างตัวจากและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำงานด้านก่อสร้างที่ฮุนไดได้งานโครงการใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงตะวันออกกลางไปจนถึงงานต่อเรือ การสร้างถนนในประเทศทำให้เขารู้ว่าถ้าประเทศเป็นร่างกาย ถนนเหมือนเส้นเลือด รถยนต์ก็เปรียบดั่งเลือดที่ไหลผ่านทำให้เขาก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์นับแต่นั้น นอกจากนี้บทความจาก The Guardian ยังเผยว่าจองยูจองเป็นคนหัวเก่า ทำงานหนักและคาดหวังให้ทุกคนในครอบครัวทำเช่นเดียวกัน เกลียดสหภาพแรงงานและอารมณ์ร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คล้ายกับประทานจินในเรื่องนั่นเอง

ภาพจาก :: IG :: tbcdrama
ลูกชายคนโต จินยองกี: ตัวละครนี้ก็มีหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึง อีกอนฮี ลูกชายคนที่สามของอีบยองชอลผู้ก่อตั้งซัมซุงที่ภายหลังได้เป็นประทานของซัมซุงต่อจะพ่อ ทั้งการโดนคดีแต่หลุดมาได้สุดท้ายก็แค่รอลงอาญา เป็นโรคหัวใจจนอยู่ในโคม่าอย่างยาวนาน แต่ที่ต่างกันกับจินยองกีในเรื่องคือก็คืออีกอนฮี ไม่ได้แต่งงงานกับลูกสาวเจ้าพ่อเงินกู้ แต่แต่งงานกับ ฮงราฮี ลูกสาวประทานหนังสือพิมพ์อย่าง JoongAng Libo จบการศึกษาด้านศิลปะประยุกต์ และได้กลายมาเป็นผู้อำนวยการของ Ho-am Art Museum ก่อนจะมาก่อตั้ง Leeum, Samsung Museum of Art ในภายหลังซึ่งดูคล้ายกับชีวิตของ โมฮยอนมิน ภรรยาของจินซังจุน ลูกชายของจินยองกีในเรื่องนั่นเอง แต่จุดจบของตัวละครนั้นก็ต้องรอดูว่าจะอยู่ในโคม่าและเสียชีวิตในภายหลังเหมือนกับ อีกอนฮีตัวจริงหรือไม่

ภาพจาก :: IG :: tbcdrama
ลูกสาวคนเดียว จินฮวายอง: ถ้าพูดถึงผู้บริหารธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่เป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้ง อาจจะนึกถึง อีมยองฮี ผู้บริหาร ชินเซเก กรุ๊ป ลูกสาวคนเล็กของอีบยองชอลก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงผู้บริหารหญิงที่แต่งงานกับผู้ชายที่ฐานะต่างกัน เหมือนที่จินฮวายองในเรื่องแต่งงานกับนายกชเวที่โตมาแบบยากจนและเคยมาหาค่าเทอมด้วยการทำงานในบ้าน จะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจากอีบูจิน หญิงเก่งผู้บริหารเครือโรงแรมชิลลา ลูกสาวคนเล็กของอีกอนฮีผู้เคยแต่งงานกับ อิมอูแจ บอดี้การ์ดของอีกอนฮี ที่เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘นายซินเดอเรลล่า’ ของเกาหลี และแม้อิมอูแจจะเข้าไปทำงานในซัมซุง ต่างกับลูกเขยชเวที่เป็นอัยการ แต่สิ่งที่ทั้งสองต้องทำเหมือนกันคือการพิสูจน์ตัวเอง โดยอิมอูแจต้องบินไปเรียนต่อที่ MIT โดยที่เขาเองไม่รู้ภาษาอังกฤษสักคำ ซึ่งทำให้เขาเป็นทุกข์จนเกือบฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายเขาก็เรียนจบด้านการบริหาร รับตำแหน่งในซัมซุง จนกระทั่งอีบูจินยื่นเรื่องหย่าในปี 2012
แต่นิสัยอารมณ์ร้อนของจินฮวายองดูเหมือนจะไม่ได้แรงบันดาลใจจากสองคนที่กล่าวมาข้างต้นแต่มาจากครอบครัวโคเรียนแอร์จากเหตุการณ์ ‘วีนถั่ว’ (Nut Rage) ในตำนาน เมื่อในปี 2014 เฮเธอร์ โช เกรี้ยวกราดใส่พนักงานต้อนรับ ทำร้ายร่างกาย และไล่พนักงานลงจากเครื่องจนทำให้ทั้งไฟล์ทต้องดีเลย์แค่เพราะว่าแอร์ฯ เสิร์ฟถั่วในถุงให้เธอแทนที่จะเป็นถ้วยพอร์ซเลน สุดท้ายเฮเธอร์ โช ต้องลาออกจากตำแหน่งและติดคุกไปหลายเดือนพร้อมกับจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่จากเหตุการณ์นี้ แต่ยังไม่จบเพราะหลังจากนั้นน้องสาวของเธอก็โดนพ่อปลดจากตำแหน่งในบริษัทพร้อมพี่สาวเพราะ ด่าพนักงงานฝ่ายการตลาดและเอาน้ำสาดหน้า และในปี 2020 แม่ของพวกเธอก็โดนดำเนินคดีเรื่องการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจากับ คนขับรถ ยาม และพนักงาน ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็อาจจะเชื่อมโยงกับตัวจินซังจุนในเรื่องที่ชอบใช้ความรุนแรงและเอากาแฟราดหัวพระเอกในเรื่องได้เหมือนกัน

ภาพจาก :: IG :: tbcdrama
ลูกชายผู้ลงทุนในธุรกิจบันเทิง จินยุนกิ: กลุ่มแชบอลที่มีการลงทุนกับอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นมีอยู่หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Samsung Lotte หรือ Orion ฉะนั้นถึงแม้เรื่องราวของลูกที่หนีจากการทำงานกิจการที่บ้านแต่กลับเลือกออกไปทำงานหนังจะเป็นเรื่องสมมุติ แต่ลูกหลานแชบอลที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นมีอยู่จริง หนึ่งในกรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ มิคกี้ ลี หลานสาวของผู้ก่อตั้งซัมซุง ผู้บริหารของ CJ ENM ที่หลงใหลในภาพยนตร์ คอยสนับสนุนตลอดมาจนกระทั่งภาพยนตร์ Parasite ที่เธอร่วมอำนวยการสร้างได้รับรางวัลไปทั่วโลก
นอกจากนี้หนึ่งที่แรงบันดาลใจหลังตัวละครจินยุนกิ อาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง จองยงจิน ลูกขายของอีมยองฮี ผู้บริหารชินเซเก เครือห้างสรรพสินค้าใหญ่ ผู้แต่งงานกับดาราสาวอดีตเจ้าของตำแหน่งรอง Miss Korea อย่าง โกฮยอนจอง ในปี 1995 ก่อนจะหย่าขาดกัน เหมือนกันที่จินยุนกิ หย่ากับอีแฮอินในเรื่องโดยสิทธิ์ในการดูแลลูกนั้นตกอยู่กับฝ่ายชาย และหน้าของโกฮยอนจองก็ไม่เคยปรากฎในห้างชินเซเกอีกเลย โดยมีข่าวลือว่าเธอโดนรังเกียจเพราะเป็นนักแสดง และไม่มีความรู้ภาษาต่างประเทศ โดยครอบครัวของยงจินจะพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเธอเริ่มเข้าใจภาษาอังกฤษพวกเขาก็เปลี่ยนไปพูดฝรั่งเศสแทน อย่างไรก็ตามโกฮยอนจองได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องนี้ในภายหลัง แต่ดูเหมือนโกฮยอนจองจะไม่ได้พบหน้าลูกสักเท่าไหร่นัก เพราะเธอเคยกล่าวว่าหนึ่งในสาเหตุที่เธอรับงานแสดง ก็เพื่อให้ลูก ๆ ได้เห็นหน้าเธอผ่านโทรทัศน์
ทำไมแชบอลถึงรวยและมีอำนาจ
บทความจาก Council on Foreign Relations และ The New York Times ระบุว่าแชบอลหลายกลุ่มเริ่มมีอำนาจมาตั้งแต่ยุคที่เกาหลีอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น แต่กลุ่มแชบอลเริ่มผงาดขึ้นมาจากกองเถ้าถ่านของสงครามเกาหลี ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่นำเงินมาปล่อยเงินกู้ให้กับนักธุรกิจที่สัญญาว่าจะช่วยกันสร้างชาติผ่านทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ น้ำมัน และ เหล็ก และเริ่มเรืองอำนาจในยุคของนายพล พัคจุงฮี ที่ทำรัฐประหารในปี 1961 และตลอดเวลาที่เขาขึ้นครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดี (ดำรงแต่แหน่งระหว่างปี 1963-1979) นโยบายส่งเสริมการส่งออกโดยเลือกสนับสนุนบริษัทใหญ่ที่ทำตามนโยบายของเขาและป้องกันการแข่งขันจากบริษัทข้ามชาติ ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้น พาเกาหลีใต้มาเป็นเสือตัวที่สี่ของเอเชียตามหลังฮ่องกง ไตหวัง และสิงคโปร์ได้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มแชบอลขยายอำนาจจนแทบจะครองประเทศได้ในภายหลัง ด้วยการเป็นผู้กุมชะตากรรมของเศรษฐกิจเกาหลีผ่าน GDP โดยในปี 2021 รายได้ของกลุ่มบริษัทแชบอลที่ใหญ่ที่สุดสิบแห่งในเกาหลีใต้ คิดเป็นเกือบร้อยละ 60 GDP ของประเทศ และการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มแชบอลและกลุ่มการเมืองที่ทำให้ กลุ่มการเมืองและแชบอลนั้นมีความสัมพันธ์เหมือนกับผู้อุปถัมภ์ที่ทรงอำนาจและลูกค้าที่เชื่อฟัง ส่งผลให้กลุ่มแชบอลกับเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ และระบบอุปถัมภ์ของเกาหลีกลายเป็นหนึ่งเดียวกันจนไม่สามารถแยกออกได้ เหมือนกับที่ รยูซังยอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยยอนเซกล่าวไว้ว่า
‘เศรษฐกิจและกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของเกาหลีได้’
โดยในเรื่องราวเราจึงจะได้เห็นความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่ต้นเรื่องในตอนที่สอง ที่มีตัวแทนจากทำเนียบมาเจรจากับประทานจินยังชอลเพื่อขอเงินสนับสนุน และคนในครอบครัวคาดเดากันว่าใครจะชนะการเลือกตั้งเพื่อเลือกข้างส่งเงินสนับสนุนให้ถูกต้อง ซึ่งยาวมาถึงในยุคปัจจุบันที่เราได้เห็นในตอนแรกของเรื่องที่แม้จะมีคดีเรื่องการปั่นหุ้น ยักยอกเงิน หลีกเลี่ยงภาษีหรืออะไรก็ตาม แต่ก็แทบไม่เคยมีใครจากครอบครัวแชบอลต้องเข้าคุก สุดท้ายก็รอลงอาญาทั้งนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นการพึ่งพากันระหว่างกลุ่มแชบอลกับฝั่งการเมืองเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงมาสู่บุคคลจริงได้แล้ว Reborn Rich ยังโดดเด่นด้วยการใส่เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เศรฐกิจของเกาหลีใต้ในแต่ละครยุค และบทบาทของแชบอลในนั้น ทั้งเรื่องดี ๆ อย่างเช่นการบริจาคทองเพื่อสู้กับวิกฤติ IMF ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจขอบเขตอันเกือบจะไม่มีเขตจำกัดของอำนาจที่แชบอลมี พล็อตของ Reborn Rich ที่คนธรรมดากลับชาติมาเกิดใหม่เป็นลูกหลานเศรษฐีจึงเป็นคล้ายการเสียดสีไปด้วย ว่าหากจะหลุดพ้นจากการทำงานขายวิญญาณเยี่ยงทาสเหมือนที่ยุนฮยอนอูเคยเป็น ทางที่มีคือการเกิดใหม่แล้วได้เป็นเศรษฐี และในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าหากคนธรรมดาได้รับโอกาสที่เหล่าแชบอลได้รับ เขาอาจจะสร้างปาฏิหารย์ทางธุรกิจ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ ไม่ต่างกับการที่จินโดจุนสร้าง ‘Miracle’ ขึ้นมาด้วยมือของตัวเองเลย
อ้างอิง
- https://www.cfr.org/backgrounder/south-koreas-chaebol-challenge
- https://www.nytimes.com/2017/02/17/business/south-korea-chaebol-samsung.html
- https://www.statista.com/statistics/1323082/south-korea-revenue-of-major-chaebols-as-percentage-of-gdp/#:~:text=Revenue%20of%20the%20biggest%20chaebols,GDP%20South%20Korea%202017%2D2021&text=In%202021%2C%20the%20revenue%20of,gross%20domestic%20product%20(GDP).
- Nam Chung-Hee, ‘South Korea’s Big Business Clientelism in Democratic Reform’
- https://www.britannica.com/topic/Samsung-Electronics
- https://koreajoongangdaily.joins.com/2022/04/27/culture/koreanHeritage/lee-kunhee-collection-samsung-chairman-lee-kunhee-collection-national-museum-of-korea/20220427180331806.html
- https://web.archive.org/web/20071008184233/http://www.asanmuseum.com/english/sub07_english01.htm
- https://www.hyundai.com/eu/about-hyundai/brand/heritage.html#:~:text=Chung%20Ju%2Dyung.,decided%20to%20look%20for%20opportunities.
- https://www.hyundai-ce.com/en/about/founder?tabIdx=1
- https://www.theguardian.com/news/2001/mar/28/guardianobituaries1
- http://m.koreaherald.com/view.php?ud=20110329000654
- https://www.hindustantimes.com/world-news/samsung-heiress-ordered-to-pay-7-6-mn-in-divorce-ruling/story-LgoT2dbkaTSTJ0DCJRY1rM.html
- https://www.reuters.com/article/us-samsung-heiress-divorce-idUSKBN1A50QT
- https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3135600/samsung-heir-lee-boo-jin-hotel-shilla-ceo-finalised
- http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2015/12/116_193437.html?fbclid=IwAR2q0uk4tX-JQPPoysSpEmcLpm9SriREDb8J2d3fRxJrUCl1oP2YX6tJ24g
- https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_business/748512.html
- https://koreajoongangdaily.joins.com/2016/07/07/socialAffairs/Im-Woojae-demands-record-divorce-settlement/3020979.html
- https://edition.cnn.com/2018/12/19/asia/korea-air-nut-rage-settlement-intl/index.html
- https://money.cnn.com/2018/04/23/news/companies/korean-air-sisters-nut-rage/index.html
- https://apnews.com/article/international-news-asia-pacific-seoul-south-korea-46da48b5d087dc13bf2e2b04e07f5807
- https://culture360.asef.org/magazine/funding-korean-film-business/
- https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2020-02-10/who-is-miky-lee-parasite-producer
- https://itzone.com.vn/en/article/the-life-of-the-runner-up-as-the-bride-of-the-samsung-empire-rejected-because-her-husbands-family-all-spoke-english-considered-it-a-birthing-machine-for-31-billion-and-the-ending-rose-like-a-phoen/
- http://www.koreatimes.co.kr/www/news/special/2011/04/178_38350.html
- https://channel-korea.com/rumors-about-go-hyun-jungs-relationship/
- https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2020/04/113_79758.html
- http://www.koreatimes.co.kr/www/news/opinon/2015/03/298_114038.html
- David Murillo และ Sung Yun-dal, ‘Understanding Korean Capitalism: Chaebols and their Corporate Governance
- https://www.forbes.com/profile/lee-kun-hee/?sh=3031fd8051a0
- https://www.cnet.com/tech/tech-industry/the-chaebols-the-rise-of-south-koreas-mighty-conglomerates/
- http://www.koreaittimes.com/news/articleView.html?idxno=7223#:~:text=Lee%20Byung%2Dchul%20held%20keen,market%2C%20people%2C%20and%20management.
- https://koreanstory.wordpress.com/2012/02/25/family-row-between-samsung-and-cj-where-is-it-heading-for/
- https://www.reuters.com/article/us-samsung-sentence-idUSSEF00017220080716
- https://edition.cnn.com/2020/10/24/business/samsung-lee-kun-hee-intl-hnk/index.html