‘ก้าวไกล’ ยื่นแล้ว แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ‘ชัยธวัช’ บอกทำคู่ขนานกันเป็นทางเลือกให้ ส.ว.ที่งดออกเสียง-ไม่มาประชุม
ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ นายชัยธวัช ตุลาธน และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ยื่นหนังสือกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญ คือการเสนอให้ยกเลิก มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ซึ่งให้อำนาจ สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว
นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้แก่ประชาชน จากที่ก่อนหน้านี้เรียกกันว่า ปิดสวิตช์ ส.ว. สืบเนื่องจากการโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 ปรากฏชัดว่า มี ส.ว. งดออกเสียงถึง 159 คน ไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ตนเองไม่ประสงค์ใช้สิทธิใช้อำนาจทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อ ส.ว. ประสงค์เช่นนั้น ส.ว. ใช้สิทธิงดออกเสียงหรือไม่มาประชุม ถ้าเป็นแบบนั้นจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง พรรคก้าวไกลในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็จะเสนอทางออกให้กับ ส.ว. และเราเชื่อว่า ทางนี้จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ของทั้ง ส.ว. และตอบโจทย์ให้กับระบบรัฐสภาของไทย เพื่อให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้ และเพื่อให้ได้รัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
“เนื่องจากท่านเองไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนใจหรือเหตุผลอื่นใดก็ตามในการโหวตให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี” นายชัยธวัช กล่าว
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวหลังรับหนังสือจากพรรคก้าวไกลว่า จะให้เจ้าหน้าที่ของสภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนทั้งรายชื่อและเอกสาร และจะดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นน่าจะเป็นเรื่องด่วน
ทั้งนี้ นายชัยธวัช ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นี้เป็นคนละส่วนกับการเลือกนายกรัฐมนตรี หมายความว่าเราสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้ เรายังไม่รู้ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการไปอีกกี่ครั้งถึงจะยุติ เราจึงพยายามหาทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถมีข้อยุติในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคก้าวไกล รวมถึง พรรคเพื่อไทย และอีก 6 พรรค ก็ต้องพยายามขอเสียงจาก ส.ว. เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการหยุดดีลกับ ส.ว. ทั้งนี้ เราได้เตรียมร่างนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อนสมาชิกได้เซ็น เราได้ข้อสรุปเมื่อคืนนี้ว่าควรจะยื่นเลยในวันนี้ และได้แจ้งกับทางพรรคเพื่อไทยเบื้องต้นแล้ว และไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่แก้มาตรา 272 ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คนนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า มี 3 กลุ่มที่เราสามารถอนุมานได้
– กลุ่มที่หนึ่ง คือ 63 คน ที่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เคยลงมติเห็นชอบกับยกเลิกมาตรา 272 อย่างน้อย 1 ครั้ง
– กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เห็นด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว. แต่เมื่อเดินทางมาถึงวันนี้อาจเห็นความจำเป็นที่จะทำให้อำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ประชาชนผ่าน ส.ส. 500 คน
– กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ปรากฏตัวเมื่อวาน ที่ใช้เหตุผลว่าไม่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี มาเป็นเหตุผลในการ “งดออกเสียง” หรือไม่เข้ามาในที่ประชุม
“ผมคิดว่าถ้ามี ส.ว. ในกลุ่มนี้ที่อาจจะมีความลำบากใจว่าในมุมหนึ่งก็ไม่สบายใจที่จะเห็นชอบให้คุณพิธา เป็นนายกฯ ส่วนอีกมุมก็ไม่มีความประสงค์ที่จะขืนมติมหาชนกลุ่มก็น่าจะมองว่าการยกเลิก 272 นั้นจะเป็นทางเลือกที่เขารับได้” นายพริษฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มี ส.ว.บางคน ออกมายกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 ที่ไม่สามารถเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกันซ้ำมาระบุถึงการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อโหวตรอบ 2 ไม่ได้นั้น นายชัยธวัช ชี้แจงว่า เราไม่สามารถเอาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดแยกเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ไปรวมเหมือนญัตติอื่นๆ ในสภาฯ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน
ส่วนกระแสข่าวเรื่องการจะเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายชัยธวัช ระบุว่า ก็หวังว่า พรรคการเมือง ที่เคยบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะยังคงรักษาคำพูด ยืนอยู่บนจุดยืนเดิม ไม่โหวตให้ พล.อ.ประวิตร แม้จะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศไม่ได้ สำหรับ ส.ว. อาจจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยเร็วขึ้น แต่มองไม่เห็นอนาคตเลย