อนุฯ รับฟังความเห็นฯ การทำประชามติ หวั่น ประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่เกินกึ่งหนึ่ง ชี้อาจต้องแก้กฎหมายประชามติ ด้าน กกต. ประเมินใช้งบฯ 3,250 ล้านบาท
นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดเผยว่า วันนี้ได้เชิญตัวแทนนิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ 7 กลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อมารับฟังความเห็น
โดยก่อนหน้านี้ได้ให้คำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ซึ่งเป็นคำถามชุดเดียวกับที่จะให้สมาชิกรัฐสภา ในช่วงเปิดสมัยประชุม ก่อนสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 ช่วงปลายเดือนธันวาคมและจะนำไปสอบถามประชาชน
โดยในคำถามระบุว่า เห็นสมควรให้มีการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่, ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ คงหมวด 1หมวด 2 หรือเห็นว่า ไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีนี้จะถามว่า สมควรจะแก้ไขรายมาตรา หรือไม่ต้องแก้เลย และถามถึงผลกระทบที่เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติ ตุลาการและฝ่ายบริหาร มีปัญหาหรือไม่อย่างไร หรือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก ต้นเหตุที่นำไปสู่การแก้ไข หรือให้ระบุความเห็นอื่น รวมถึงคำถามเกี่ยวกับการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. หรือองค์กรอื่นขึ้นมาแก้ไข
นายนิกร ยังระบุถึง คำถามประชามติจะถามก่อนดำเนินการว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อสอบถามว่าจะอนุญาตให้ทำหรือไม่ ส่วนการทำครั้งที่ 2 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร. และหลังการแก้ไขจะต้องถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
โดยจะนำคำถามนี้ไปสอบถามสมาชิกรัฐสภาในสมัยเปิดประชุม วันที่ 13-14 ธ.ค. 66 และวุฒิสภา วันที่ 18-19 ธ.ค. 66 หลังจากนั้นจะมีการนัดประชุมในวันที่ 22 ธ.ค. 66 อีกครั้ง โดยให้นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เป็นผู้สรุปจบ
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ที่ได้เชิญนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มาหารือในวันนี้ นายนิกร กล่าวว่า งบประมาณในการจัดทำประชามติเบื้องต้น คาดว่า จะใช้งบประมาณ 3,250 ล้านบาท ส่วนการทำประชามติด้วยวิธีการอื่น เช่น การใช้แอปพลิเคชั่น คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้สอบถามว่าหากใช้วิธีการดังกล่าวจะเสถียรหรือถูกแฮกข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่ง กกต. จะเสนอข้อมูลกลับมาอีกครั้ง
ส่วนการจัดทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งอื่นนั้น นายนิกร กล่าวว่า กกต. ระบุว่าจะต้องใช้กฎหมาย 3 ฉบับ และการทำครั้งแรกอาจไม่ทัน ต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 เพราะต้องรอแก้ไขกฎหมายประชามติก่อน แต่ถ้าเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 น่าจะสามารถทำพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นได้
“ยอมรับว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ที่กำหนดว่า หากจะทำประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ 1.ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งจะเท่ากับ 25 ล้านเสียง มีโอกาสที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ครบ และ 2.เสียงเห็นชอบต้องเกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่มีหัวคะแนน ไม่มีคนเหนี่ยวนำออกมาใช้สิทธิ์” นายนิกร กล่าว
นายนิกร ยังเห็นว่าการ ทำประชามติครั้งแรก ประชาชนอาจตื่นตัวออกมา เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่การทำประชามติครั้งที่ 2 ที่มีการแก้ไขมาตรา 256 ที่หากตรงกับการเลือกตั้ง นายก อบจ. ซึ่งจะเกิดขึ้นในต้นปี 2568 อาจเป็นตัวเร่งประชาชนได้ แต่ก็เกรงว่าจะตกม้าตายตรงนี้ ตรงที่ประชาชนออกมาไม่ครบตามเงื่อนไข ดังนั้นจึงมีความกังวล
เมื่อถามว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายประชามติจะทันกับกำหนดการทำประชามติหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ทันกันอยู่แล้ว โดยการแก้ไขกฎหมายประชามติ ให้ไม่ต้องให้ผู้มีสิทธิใช้เสียงออกมาเกินกิ่งหนึ่ง เหลือเพียงเสียงข้างมากในการผ่านประชามติ
โดยคาดว่าการทำประชามติครั้งแรก น่าจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งวันเวลาในการทำประชามติ จะไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่เกิน 120 วัน หรือประมาณ 3 เดือนครึ่ง เพราะต้องให้เวลา กกต. ไปดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน
นายนิกร กล่าวว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 66 คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ จะเชิญประชาชนอีก 17 กลุ่ม เพื่อมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง อาทิ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสมัชชาคนจน เป็นต้น