SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ไม่จริงค่ะ เจ็บนิดนึง ปกติมันจะเจ็บนิดๆ อยู่แล้ว

‘ยังไงคนทั้งโรงพยาบาลก็รู้กันหมดแล้วว่าเราโง่’

‘ไม่ยอมให้กลับบ้าน แถมไม่ใช้เวลาซักทั้งถุงเท้าและชุดชั้นใน รู้แล้วทำไมถึงเรียกเรซิเดนต์ ว่าแพทย์ประจำบ้าน อยู่ในโรงพยาบาล อย่างกับอยู่บ้าน’

 

ในฐานะคนดูบทสนทนาเช่นนี้ เต็มไปด้วยความน่าเอ็นดูแบบล้นๆ แต่สำหรับบรรดาแพทย์ และเหล่าพยาบาล ดูๆ ไปก็อยากกระโดดเข้าไปหยุมหัวเด็กพวกนี้ ว่าเมื่อไหร่จะโตเสียที ความผิดแต่ละอย่างก็เกินเบอร์ แต่เอ๊ะ เคยเป็นแบบนั้นกันไหมนะ ควมตงิดใจช่วยแตะเบรกเอาไว้…

Resident Playbook เป็นซีรีส์ spin-off ที่หลายคนติดตามด้วยความผูกพัน จาก Hospital Playlist ที่เป็นต้นฉบับ บ้างก็ติดใจความน่ารัก ของเหล่าแพทย์ประจำบ้าน (เรซิเดนต์) น้องใหม่ แผนกสูตินรีเวช 

มากไปกว่านั้น ซีรีส์ยังเล่าชีวิตเรซิเดนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงเวลาหักเห ที่สั่นคลอนความมุ่งมั่นของใครหลายคน เพราะทราบกันดี ว่าหมอเป็นอาชีพที่ไม่เพียงต้องดีลกับโรคที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน แต่การทำงานร่วมกับ เพื่อนร่วมชั้น รุ่นพี่หรือว่าอาจารย์ และสำคัญที่สุด ‘ผู้ป่วย’ ต่างต้องใส่ความพยายามสุดหลอด พร้อมสะท้อนอุปสรรคในชีวิตของหมอจบใหม่ ที่แม้จะมีความรู้เต็มสมองจากการเรียนหมอมา 6 ปี แต่ยังต้องปรับตัวในชีวิตจริง

‘การทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เวลาส่วนตัวน้อย’ นับเป็นคำอธิบายแปะป้ายอาชีพนี้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนๆ ความชื่นใจที่ได้ช่วยชุบชีวิตผู้ป่วย ความเคารพจากสังคม และรายได้ ไม่สามารถชดเชยกับวันเวลา สุขภาพกาย และสุขภาพจิต รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดคดีความเมื่อรักษาผิดพลาดได้เลย

ที่มา: Netflix

อย่างที่ โออียอง (รับบทโดย โกยุนจอง) เรซิเดนต์แผนกสูติ ที่ยอมกลับมาทำงานหมอเพื่อใช้หนี้ ทั้งๆ ที่รู้ถึงความเหนื่อยล้าที่รออยู่ แม้ในซีรีส์ทุกเรื่องราวจะจบลงด้วยบทเรียนฟีลกู๊ด ตัวละครที่แบกเป้เตรียมทิ้งเส้นทางนี้ ก็ยังหันกลับมารักในอาชีพของตัวเองอีกครั้ง

ทว่า สำหรับว่าที่คุณหมอ หรือแม้แต่คุณหมอหลายคน การตัดสินใจที่จะแขวนเสื้อกาวน์ นับเป็นการตัดสินใจอย่างไม่มีวันหันหลังกลับอีกเลย

‘หมอลาออก’ เป็นปัญหาที่ประเทศไทยเองก็กำลังเจออยู่ และมีการรายงานตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง ซึ่งเพียงในไทยเท่านั้น  ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญสถานการณ์นี้ หนึ่งในนั้น คือ เกาหลีใต้ ที่ต้องรับศึกหนัก จนทำให้ Resident Playbook เลื่อนออกอากาศมานานนับปี

เกิดอะไรขึ้นกับหมอรุ่นใหม่ ทำไมถึงมีปัญหาหมอถึงขาดแคลนทั่วโลก และ ‘ละครหมอ’ จะมีส่วนช่วยอะไรได้ในสมการนี้หรือไม่ รายการ Series Society จากสำนักข่าวทูเดย์ ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องนี้

***บทความอาจมีการเปิดเผยเนื้อบางส่วนของเรื่อง ไม่ถึงขั้นสปอยล์ แต่ถ้าดูซีรีส์แล้วกลับมาอ่านจะยิ่งเพิ่มความสนุก***

[คุณหมอเกาหลีเปิดสงคราม]

หลังจากความสำเร็จ ของ Hospital Playlist ในช่วงปี 2020-2021 ‘ชินวอนโฮ’ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของซีรีส์ ก็ประกาศโปรเจ็กต์ Resident Playbook ในปี 2023 และเตรียมถ่ายทำในช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยมีกำหนดฉายในเดือนมีนาคมปี 2024

แต่แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 ก็เกิดเรื่องราว ที่กลายเป็นวิกฤติการณ์ในวงการแพทย์ของเกาหลีใต้ ที่ยังคงส่งผลต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเริ่มต้นจาก คำประกาศของอดีตประธานาธิบดี อย่างยุนซอกยอล ที่ยังอยู่ในตำแหน่งในขณะนั้น  ว่าตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จะเพิ่มโควตาจำนวนนักเรียนแพทย์อีกปีละ 2,000 คน ซึ่งจะทำให้มียอดรวมเป็น 5,000 คน

การเพิ่มโควตานักเรียนแพทย์ให้เยอะกว่าปีละ 3,058 คน มีเป้าหมายเพื่อให้ ภายในปี 2035 เกาหลีใต้จะต้องมีหมอมากขึ้น ‘หมื่นคน’ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น จนกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

ตามข้อมูล เกาหลีใต้มีอัตราแพทย์ คิดเป็น 2.6 คนต่อประชากรพันคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะมีแพทย์ 3.7 คนต่อประชากรพันคน ซึ่งเหตุหนึ่งมาจากการที่มีประชากรเกิดใหม่น้อยลง จำนวนหมอจบใหม่ก็เลยลดลงตามไปด้วย

ย้อนกลับไป รัฐบาลเกาหลีใต้มีความพยายามจะเพิ่มโควตามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อย่าง ประธานาธิบดีมุนแจอิน เคยมีโครงการจะเพิ่มโควตานักเรียนแพทย์ และสร้างโรงเรียนแพทย์ของรัฐ ที่นักเรียนจะได้รับทุนเต็มจำนวน และมีข้อกำหนดให้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีบริการทางการแพทย์ต่อเนื่อง และส่งเสริมการใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

อย่างไรก็ดี ความตั้งใจนี้ก็ถูกหมอเกาหลีต่อต้านนโยบายนี้อย่างรุนแรง แม้กระทั่งช่วงเวลาที่โลกต้องการหมอมากที่สุด อย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ระบาด จนสุดท้ายนโยบายนี้ต้องถูกพบเก็บไป

ต่างกับสมัยประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่เคยใช้พระราชบัญญัติบริการทางการแพทย์ เดินหน้าชนกับหมอ ตั้งแต่ปี 2000 ที่เขาเป็นอัยการทำคดีหมอประท้วงหยุดงาน เพราะออกกฎให้หมอสั่งจ่ายยาได้ แต่ไม่ให้ขายยา เพื่อป้องกันการสั่งจ่ายเกินจำเป็น โดยตอนนั้นรัฐบาลเดินหน้าไม่ถอย เพราะรู้ว่ามีกฎหมายลงโทษหมอที่ประท้วงหยุดงานเป็นเครื่องมือ

งานเยอะแต่มีเพื่อนร่วมงานร่วมหาร ดูน่าจะดี แล้วทำไม่หมอเกาหลีถึงไม่ยอมกัน ถึงขั้นเกิดปรากฏการณ์ยอดหมออินเทิร์นและเรซิเดนต์ หยุดงานประท้วงสูงถึง 8,940 คน และยังมีหมอนับร้อยมาร่วมประท้วงท่ามกลางสายฝน

คำอธิบายจากเหล่าแพทย์ประจำบ้าน ที่หยุดงานประท้วงในตอนนั้นให้เหตุผลว่า โรงเรียนแพทย์ไม่สามารถรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ โดยมีเหตุผลสำคัญที่ใช้ในการคัดค้าน คือ พวกเขาเชื่อว่าปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เกิดจากการกระจายหมอไปตามสาขาและพื้นที่ต่างๆ มากกว่าจำนวนแพทย์ที่ขาดแคลน

แล้วสถานการณ์จริงดูไม่ผิดไปจากนั้น เพราะว่าสาขาที่ขาดแคลนแพทย์ อย่าง การแพทย์ฉุกเฉิน ผ่าตัดทรวงอก กุมารเวชกรรม ประสาทศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ ฯลฯ นั้น มีรายได้น้อยกว่า และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง มากกว่าสาขาที่ทำเงินดีกว่าแต่เสี่ยงน้อยกว่า ตัวอย่างสถิติผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหัวใจ ถึง 82% เปลี่ยนไปทำงานในสาขาอื่น

อัน ชอลซู อดีตแพทย์ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาสังกัดพรรครัฐบาล ยังกล่าวกับรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า ถึงเขาจะสนับสนุนแผนของรัฐบาล แต่เขาคิดว่าหากไม่มีมาตรการพื้นฐาน เพื่อจูงใจให้นักศึกษาเลือกทำงานในสาขาจำเป็น “อีกสิบปีข้างหน้า จะมีโรงพยาบาลเฉพาะทางผิวหนังใหม่ 2,000 แห่งเปิดในโซล”

มองกลับมาที่บ้านเรา ปัญหานี้ดูไม่ต่างกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบได้มากตามโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ส่วนชนบทและพื้นที่ห่างไกลนั้น ล้วนขาดแคลนหมออย่างหนัก 

อย่างไรก็ดี หมอหลายคนกังวลว่า แผนของรัฐบาลจะไม่ได้แก้ปัญหานี้ แต่กลับทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะอัดฉีดงบเพื่อพัฒนาชนบท หรือเพิ่มสิ่งจูงใจแค่ไหน แพทย์ก็ยังคงเลือกทำงานในสาขาที่มีกำไรมากกว่า

ทุกข้อเรียกร้อง ย่อมมีความเห็นต่าง นักวิจารณ์และประชาชนบางส่วนในเกาหลีใต้ ออกมาโจมตีเรซิเดนต์และอินเทิร์นที่ออกมาประท้วง ว่ากลัวการแข่งขันมากกว่า เนื่องจากการที่มีหมอเยอะขึ้นอาจจะทำให้พวกเขามีรายได้น้อยลง

สำหรับ รายได้เฉลี่ยต่อปีของแพทย์ในเกาหลีใต้ อยู่ที่ 223,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 7,372,378 บาท ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศ OECD และสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของประชาชนทั่วไปเกาหลีใต้ เกือบ 6 เท่า ซึ่งหลายฝ่ายคาดกันว่า รายได้ที่สูงลิบนี้อาจจะมาจากการช่วงชิงตัวหมอในสถานการณ์ที่ขาดแคลน จึงยิ่งทำให้กระแสตีกลับรุนแรง

ประกอบกับมีรายงานข่าวระบุว่า การประท้วงหยุดงานทั่วประเทศทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน โรงพยาบาลบางแห่งไม่สามารถรับผู้ป่วยจากรถพยาบาลได้ จนร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่พลาดช่วงเวลาสำคัญในการเข้ารับการรักษา เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

รวมถึงข้อมูลของหมอที่เข้าทำงาน ยังต้องทำงานหนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป ก็ทำให้ประชาชนโกรธเคืองหมอรุ่นใหม่ ว่าเป็นตัวการให้เกิดปัญหาหมอไม่เพียงพอ 

ตามข้อมูลแพทย์ประจำบ้านของเกาหลีใต้ 90% จากทั้งหมดราวๆ 13,000 คน ยื่นลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 และมีไม่กี่คนเท่านั้นที่กลับมา จนสุดท้าย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ ก็ประกาศตรึงจำนวนนักศึกษาแพทย์ใหม่ ไว้ที่ประมาณ 3,000 คนต่อปี เพื่อยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานถึง 13 เดือน 

ซึ่งนี่อาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ Resident Playbook เพิ่งจะได้ออกอากาศในเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้

ที่มา: Netflix

[ข้อครหาประท้วง เพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัว]

The Diplomat เผยแพร่บทความ ที่นำเสนอประเด็นที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตขาดแคลนหมอ ที่เมื่อเรานำข้อมูลมาเทียบกับ Resident Playbook แล้ว จะเห็นปัญหานี้สะท้อนผ่านตัวละครหลักของเรื่องอย่าง โออียอง รวมถึงบรรดาเพื่อนหมอคนอื่นๆ ได้อย่างเหมาะเจาะ

เช่นที่ ราว 80% ของกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์ ล้วนมาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศ เติบโตมาในย่านหรูของกรุงโซล เรียนโรงเรียนและติวสอบในสถาบันกวดวิชาชั้นนำ จนได้คะแนนสูงสุดและเลือกคณะแพทย์ไว้อันดับ 1

เมื่อคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ แทบจะมาจากประชากรกลุ่มเดียวในประเทศแล้ว จุดยืนของหมอเกาหลีที่ออกมาประท้วงนั้น ก็อาจจะสะท้อนผลประโยชน์ส่วนตน ที่แฝงอยู่ใต้คำต่อต้านไม่มากก็น้อย โดย อัน ชอลซู สมาชิกสภาฯ และอดีตแพทย์ ชี้ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นนี้

อัน ชอลซู กล่าวว่า แท้จริงแล้วกลุ่มนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านเหล่านี้ ไม่พอใจที่การสอบเข้าแพทย์จะง่ายขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง พวกเขารับไม่ได้ที่รัฐบาลจะ “ทำลาย” เส้นทางในอนาคตที่พวกเขาวางแผนไว้

โดยบทความจาก The Diplomat ระบุว่า มีหมอบางคนถึงขั้นทำ “บัญชีดำ” รวมรายชื่อหมอที่ไม่เข้าประท้วงและยังทำงานรักษาผู้ป่วยตามปกติ เพื่อเผยแพร่ทางออนไลน์ 

แต่ต้องย้ำกันชัดๆ คุณหมอผู้เสียสละที่เราเห็นกันในซีรีส์นั้น มีอยู่จริงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะเมื่อมีหมอมากมายทิ้งงาน หมอที่เหลืออยู่ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น และล่วงเวลามากขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 

สอดคล้องกับ รายงานข่าวที่ระบุถึงช่วงวิกฤต อาจารย์หมอและเฟลโลว์ที่เหลืออยู่ ต้องทำงานถึง 90 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อประคองไม่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศพังทลายลง

นอกจากนี้ ไม่อาจจะรู้ได้ว่าการหยุดงาน มาจากเหตุการณ์ประท้วงเพียงอย่างเดียว เนื่องจาก เรซิเดนต์ หรือแพทย์ประจำบ้าน ที่คิดเป็น 30-45% จากหมอทั้งหมดในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยใหญ่ของเกาหลีใต้ มักจะต้องทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดชั่วโมงทำงานสูงสุดไว้ที่ 80 ชั่วโมงเท่านั้น โดยมีเวรยาว 36 ชั่วโมงติดต่อกันสองถึงสามครั้ง และรายได้ก็ไม่ได้สูงนัก 

สำหรับ เรซิเดนต์มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 3.98 ล้านวอน หรือ ประมาณ 94,439 บาท พูดง่ายๆ เรสซิเดนต์คนนึงจะได้ค่าแรงเฉลี่ยชั่วโมงละ 11,400 วอน หรือประมาณ 270 บาท ต่างกับหมอทั่วไปที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 25 ล้านวอน หรือประมาณ​เกือบ 5.9 แสนบาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรเกาหลีใต้ทั่วไปเกือบ 6 เท่า

ที่มา: tvN

[เมื่อรักษาบุคลากรไว้ไม่ได้ มีหมอเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ]

เช่นที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหาหมอขาดแคลนนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศโลกที่ 1 อย่างเกาหลี หรือว่าสหรัฐ และแน่นอนว่าไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะข่าวหมอลาออกนั้นมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

สดๆ ร้อนๆ กับกรณีของโรงพยาบาลบึงกาฬ ที่หมออินเทิร์นลาออกพร้อมกัน ซึ่งสะท้อนปัญหาของสาธารณสุขไทย ทั้งจำนวนหมอที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร อย่าง จ.บึงกาฬ ที่มีหมอเพียงแค่ 1 คน ต่อประชากร 6.000 คน งานหนัก สวัสดิการ และเงินเดือนก็ไม่สมดุล ทำให้ไม่แปลกที่หมอจะลาออกยกเซต และน่ากังวลว่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นๆ จนกลายเป็น ‘บึงกาฬโมเดล’ ก็เป็นได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อย่าง กำหนดพื้นที่พิเศษ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากร เพิ่มจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือหมออินเทิร์น ขอสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการหรือ OT ส่งเสริมสวัสดิการ เป็นต้น

ไม่ผิดอย่างที่หลายคนคาด ว่าไม่มีมาตรการใดจะต้านความไม่พอใจได้ทัน เพราะที่เห็นชัดเจน มาตรการจำนวนหนึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยระยะเวลา เช่น การเพิ่มจำนวนแพทย์ เพราะกว่านักเรียนแพทย์คนหนึ่งจะเป็นหมออินเทิร์นได้ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี ส่วนการยืมหมอมาจากจังหวัดใกล้ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ขณะที่ Telemedicine ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านสัญญาณ และอุปกรณ์ รวมไปถึงหมอที่ต้องแบ่งเวลามาตรวจคนไข้ทางไกล ยังไม่นับเรื่องงบประมาณสำหรับค่าตอบแทน และสวัสดิการที่ยังคงเป็นข้อจำกัด

และถึงแม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ในตอนนี้ ก็ยังมีปัญหาใหญ่ ที่ทำให้มีหมอเท่าไหร่ก็อาจจะยังไม่พอ สืบเนื่องจากพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เช่นที่ นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา เคยให้ความเห็นเอาไว้

นพ.วีระพันธ์ ให้ความเห็นว่า การที่คนรักษาสุขภาพน้อยลง และรัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หมอต้องทำงานหนักขึ้น อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งช่วยให้ประชาชนและผู้ป่วยทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็มาพร้อมกับข้อเสีย ที่อาจสนับสนุนให้คนไม่ใส่ใจดูสุขภาพเท่าที่ควร 

ต่างกับ ระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็น co-payment ตามอย่างอังกฤษที่ทำให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมจ่าย ไม่มากก็น้อยอาจช่วยทำให้ปัญหานี้เบาบางลง และผู้คนตระหนักถึงการรักษาสุขภาพมากขึ้น

[บทบาทของสื่อในวิกฤตวงการแพทย์] 

แน่นอนว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในสาขาจำเป็น เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งในเชิงนโยบายและในระยะยาว ซึ่งหลายต่อหลายครั้งดูเหมือนว่าละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์ กำลังพยายามเป็นหนึ่งในพลังที่ช่วยเปลี่ยนแปลงความจริงนี้

หนึ่งในตัวอย่างที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึง คือ Hospital Playlist ซีรีส์เกาหลีที่เลือกหยิบประเด็นการบริจาคอวัยวะมาถ่ายทอดอย่างจริงใจ โดยซีซัน 2 มีการนำเสนอประเด็นนี้ถึง 5 ตอนจากทั้งหมด 12 ตอน ทั้งเส้นเรื่อง บทสนทนา และฉากการตัดสินใจอันแสนละเอียดอ่อนของตัวละคร ปลุกกระแสให้คนในสังคมหันมาทบทวน และเปิดใจต่อการบริจาคอวัยวะมากขึ้น

ที่มา: tvN

ตามรายงานของ Korea Network for Organ Sharing (KONOS) หลังจากที่ตอนที่ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกระบวนการบริจาคอวัยวะ และการบริจาคหลังภาวะสมองตายออกอากาศ จำนวนผู้ลงทะเบียนบริจาคในสัปดาห์นั้น ก็พุ่งสูงขึ้นถึง 11 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และหากนับตลอดช่วง 6 สัปดาห์ ระหว่างกรกฎาคมถึงสิงหาคม ที่ซีรีส์ออกอากาศ จำนวนผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

‘การที่ลูกมอบตับให้ ไม่ใช่ว่าจะแบมือรับได้ง่ายๆ นะ’ ประโยคที่อาจารย์หมอ อี อิกจุน ตัวละครขวัญใจ ที่รับบทโดย โจ จองซอก ระเบิดอารมณ์ใส่คนไข้ที่เพิ่งปลูกถ่ายตับจากลูกสาว ถึง 2 คน แต่ยังกลับไปดื่มเหล้าอีก ยังคงติดตา และบอกเล่าทุกมิติที่แวดล้อมได้อย่างทรงพลัง

นี่เป็นแค่หนึ่งในหลักฐานว่า สื่อและละครสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยเปลี่ยนแนวคิดของคน ในประเทศไทยเอง แม้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับละครทางการแพทย์ เราก็เคยได้เห็นปรากฏการณ์ฟีเวอร์เกิดขึ้นจากละครมาแล้ว และผู้สร้างละครสามารถนำความสามารถมาใส่กับการถ่ายทอดเรื่องราวที่ให้ความรู้แก่ประชาชน 

ตั้งแต่ขั้นตอนการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น ความเห็นอกเห็นใจในบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องรับผู้ป่วยล้นมือในแต่ละวัน ไปจนถึงความเข้าใจในระบบสาธารณสุข เป็นต้น

เมื่อปัญหาของระบบสาธารณสุขนั้นใหญ่เกินจะฝากไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยังคงไม่รู้ว่าทางออกของเรื่องนี้จะเป็นไปเช่นไร ดังนั้น การที่เราต่างได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ผ่านสถานการณ์จริงไปจนถึงเรื่องเล่า ก็อาจเพิ่มความเข้าอกเข้าใจ ที่อาจช่วยให้ทุกคนบริหารจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น จนเปลี่ยนน้ำเดือด ให้กลายเป็นน้ำอุ่นได้ ในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่ต้องการ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า