SHARE

คัดลอกแล้ว

กองทัพเรือ แถลงผลสอบ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ อับปาง ปลายปี 65 เหตุสุดวิสัยจากอากาศแปรปรวนอย่างฉับพลัน ‘ผู้บังคับการเรือ’ ใช้ดุลยพินิจขาดความรอบคอบ เจ้าตัวขอลาออกทันที หลังจบการลงโทษ แสดงความรับผิดชอบ

วันนี้ (9 เม.ย. 67) กองทัพเรือ จัดแถลงผลสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุอับปาง กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย และรอดชีวิต 76 นาย นำโดย พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รวมถึง นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย

ทั้งนี้ มีการเปิดวิดีทัศน์เป็นภาพจำลองสรุปสาเหตุ จากนั้นได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและผู้ที่มาร่วมสังเกตการณ์ ซักถาม รวมกว่า 2 ชั่วโมง

สรุปประเด็นจากวิดีทัศน์ได้ดังนี้

– 17 ธ.ค. 65 เวลา 17.30 น. เรือหลวงสุโขทัย ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่หมาย หาดทรายรี จ.ชุมพร

– หลังออกเรือครึ่งชั่วโมง ได้มีประกาศแจกจ่าย เสื้อชูชีพ ให้กำลังพลของหน่วย ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยมีเสื้อชูชีพทั้ง 120 ตัว เพียงพอสำหรับกำลังพลที่ออกปฏิบัติการในครั้งนี้ (กำลังพลที่ไปทั้งหมด 105 นาย) แต่หลังจากประกาศ ปรากฏว่ากำลังพลยังไม่มารับเสื้อชูชีพครบ เนื่องจากมีภาระส่วนตัว ไม่ได้ยินการประกาศ บางส่วนไม่คุ้นเคยเส้นทางทางเรือ

– เวลา 02.00 น. เครื่องจักรใหญ่ซ้ายเกิดการขัดข้องทำให้ความเร็วลดลงจากเดิมเกือบครึ่ง เกิดคลื่นลมมีความแปรปรวนตลอดเวลา คลื่นมีความสูงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงเวลา 04.00 น. สภาพคลื่นลมเริ่มรุนแรงมากขึ้น คลื่นสูงประมาณ 4 เมตร เรือมีอาการโคลงในลักษณะขึ้น-ลงอย่างรุนแรง

– 04.30 น. ตรวจพบประตูทางเข้าบริเวณหัวเรือกาบซ้ายเปิดอยู่ และสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดัง กำลังพลประจำเรือจึงได้ปิดประตูแนบสนิท และหมุนควงมือล็อกจนเรียบร้อย พบมีน้ำสาดเข้ามาที่พื้น แต่ไม่มีน้ำนอง

– 05.00 น. ประตูดังกล่าวเปิดและสะบัดกระแทกจนเกิดเสียงดังอีก เมื่อปิดแล้วไม่สามารถหมุนควงมือล็อกได้ จึงใช้เชือกมัดไว้ โดยมีน้ำไหลออกมาจากขอบประตูด้านล่างของห้อง และมีน้ำไหลออกจากท่ออากาศดีเป็นช่วงๆ

– 6.00 น. เรือเดินทางใกล้หาดทรายรี เป็นพื้นที่ทะเลเปิด ขณะนั้นสภาพคลื่นลมรุนแรง ไม่มีเกาะบัง คลื่นสูง 4-6 เมตร ทำให้ไม่สามารถนำเรือจอดทอดสมอได้

– 6.30 น. เครื่องไฟฟ้าหมายเลข 3 หยุดการทำงาน จึงเดินเครื่องไฟฟ้าหมายเลข 1 ทดแทน

– 7.00 น. ผู้บังคับการเรือ ตัดสินใจนำเรือกลับขึ้นทางเหนือ ทิศทางสวนคลื่น สวนลม ต่อมาเกิดเสียงสัญญาณเตือนน้ำท่วมที่สะพานเดินเรือ เตือนว่ามีน้ำท่วมพื้นห้องคลังลูกปืน 40 มิลลิเมตร ตรวจสอบพบว่ามีน้ำไหลซึม ออกมาจากขอบล่างของประตูห้องบรรจุลูกปืน หลังเปิดประตูสำรวจมีน้ำไหลออกทางประตู จึงได้พยายามปิดต้านแรงดันน้ำจนปิดได้ กำลังพลช่วยกันต่อแถว วิดน้ำเพื่อระบายน้ำออกทางดาดฟ้าเปิดบริเวณประตูข้างห้องพักนายทหารสัญญาบัตร

– 7.45 น. ได้ติดต่อ ศรชล จ.ชุมพร ในการลำเลียงกำลังพลขึ้นฝั่ง แต่ได้รับแจ้งว่า เรือเล็กไม่สามารถออกมารับกำลังพลได้ เนื่องจากคลื่นลมแรง

– 8.00 น. เรือหลวงสุโขทัย ตกลงใจเดินทางกลับฐานทัพเรือสัตหีบ เนื่องจากคลื่นลมแรง และไม่สามารถจอดทอดสมอ ณ หาดทรายรี ได้ ระหว่างนั้นได้รับการประสานจากทัพเรือภาคที่ 1 ให้ส่งกำลังพลที่เดินทางร่วมไปกับเรือ จำนวน 30 นาย ที่ท่าเรือประจวบฯ จึงได้ประสานขอรับการสนับสนุนการเข้าจอดเรือ และได้มีการประกาศผ่านระบบประกาศซ้ำให้กำลังพลที่เหลือมารับเสื้อชูชีพ

– 8.15 น. ตรวจพบน้ำนองสูง 5 เซนติเมตร บริเวณช่องทางเดินหน้าห้องศูนย์ยุทธการ ภายในศูนย์ยุทธการ และห้องวิทยุ

– 8.30 น. เกิดไฟฟ้าช็อต ไหม้หม้อแปลงไฟฟ้า 220 โวลต์ มีการดับไฟ แต่ตัดไฟ

– 10.00 น. เรือหลวงสุโขทัย ติดต่อกับท่าเรือประจวบฯ เพื่อขอข้อมูลหน้าท่าเรือ และสภาพคลื่นลม เพื่อประกอบการพิจารณานำเรือเข้าจอดเทียบท่า

– 10.15 น. เกิดไฟไหม้ เครื่องสำรองไฟฟ้า สำหรับคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมภายในห้องวิทยุ เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ ระบบสื่อสารภายในยังใช้งานได้ แต่ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมใช้งานไม่ได้

– 10.20 น. ได้รับการประสานข้อมูลสภาพคลื่นลม บริเวณท่าเรือประจวบฯ มีคลื่นและลมรุนแรงมาก ไม่ปลอดภัยต่อการนำเรือเข้าเทียบหรือทอดสมอ

– 12.00 น. ห้องบรรจุลูกปืน ยังมีน้ำไหลเข้ามา เรือหลวงสุโขทัย จึงเปลี่ยนเข็มให้คลื่นลมส่งท้าย เพื่อตรวจสอบฝาแฮท พบว่าฝาเผยอ ออกจึงไขเกลียวปิดและมัดด้วยเชือก

– อีก 15 นาทีต่อมา ท่าเรือประจวบฯ ยังไม่สามารถจัดเรือลากจูง สนับสนุนการเข้าเทียบได้และขอเวลาเตรียมการ เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งไว้ล่วงหน้า

– 12.45 น. เรือหลวงสุโขทัย เดินเรืออยู่ห่างจากท่าเรือประจวบฯ 15 ไมล์ ได้ร่วมกันพิจารณาตัดสินใจ ผู้บังคับการเรือ ตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ขณะนั้นทะเลมีสภาพคลื่นลมรุนแรงมาก คลื่นสูง 4-5 เมตร

-13.00 น. มีเสียงเตือนน้ำท่วม ภายในห้องปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ พบน้ำไหล ตัวเรือกาบซ้ายมีน้ำท่วม มีการใช้เครื่องสูบน้ำออกน้ำ ระหว่างนั้นมีไฟดูดกำลังพล จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีตักน้ำส่งต่อกัน เพื่อระบายน้ำออกนอกตัวเรือ

– 14.00-15.00 น. ระบบพิทช์ใบจักรมีกำลังดันลดลง 2 ครั้ง สามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง 2 ครั้ง ขณะสภาพคลื่นลมเพิ่มขึ้น รุนแรงผิดปกติ

– 15.00 น. น้ำท่วมบริเวณ หน้าห้องเครื่องไฟฟ้า 3 สูงประมาณ 3 ฟุต เจ้าหน้าที่นำเครื่องสูบน้ำใต้น้ำ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีไฟดูด จึงให้กำลังพลมาช่วยระบายน้ำออก จนถึงเวลา 16.30 น. ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงได้ขึ้นมาปิดประตูผนึกน้ำด้านบน เหตุการณ์หน้าห้องไฟฟ้ามีมาต่อเนื่องตั้งแต่เช้า ช่วงแรกยังสามารถควบคุมน้ำได้ แต่หลังจากป้อมปืนแตก น้ำเข้าในเรือมากเกินกว่าจะควบคุม

– 15.45 น. ตรวจพบใยแก้วสีเหลืองบริเวณเปลือกไฟเบอร์ป้อมปืน 76 มิลลิเมตร โดยไม่สามารถเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด

– 16.00 น. ผู้บังคับการเรือ ตัดสินใจ หันเรือกลับท่าเรือประจวบฯ อีกครั้ง โดนคลื่นซัดด้านท้ายเรือ

– 17.45 น. เรือเอียงมากขึ้น มีการใช้สัญญาณไฟ SOS ต่อมาเครื่องไฟฟ้าดับลง

– 18.10 น. ผู้บังคับการเรือ ได้สั่งให้นับกำลังพล พบว่ามีครบ 105 นาย แต่มีทั้งกำลังพลที่สวมเสื้อชูชีพ และไม่สวมเสื้อชูชีพ ช่วงเวลานั้น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้สั่งการให้เรือหลวงกระบุรี ออกไปช่วย เรือหลวงสุโขทัย

– 20.00 น. เครื่องบินลาดตระเวน ขึ้นบิน เรือหลวงกระบุรี เข้าถึงเรือหลวงสุโขทัย เวลา 20.01 น. เกิดเรือหลวงสุโขทัย อับปาง

– 23.30 น. ท้ายเรือเริ่มจม

– 0.12 น. ของวันที่ 19 ธ.ค. 65 เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงทั้งลำ

พล.ร.ต.สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ไม่ได้เกิดจากความจงใจของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย และกำลังพลบนเรือ แต่เกิดจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงแปรปรวนอย่างฉับพลัน ทำให้เรือเกิดสภาวะผิดปกติและน้ำเข้าเรือจากรูทะลุ เป็นเหตุที่ทำให้เรือเอียงและอับปาง อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ตัดสินใจนำเรือปรับฐานสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางไกลและใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่า ที่จะนำเรือเข้าเทียบท่าเรือประจวบฯ เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย จึงเชื่อว่าการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย มีส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ในการใช้ดุลยพินิจโดยขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหายของผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นความผิด ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ 2476 โดยเห็นสมควรลงทัณฑ์ “กัก” เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งทัพเรือภาคที่ 1 ได้เสนอกองทัพเรือให้ดำเนินการทางวินัย กับผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย กับให้ส่งผลการพิจารณาให้ คณะกรรมการสอบฯ ความรับผิดทางละเมิดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนในความผิดทางอาญา ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพาน ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย และตอนหนึ่งได้กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ใดตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ตนและกำลังพลทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างสุดความสามารถ เพื่อกู้สถานการณ์ที่เกิดเหตุขึ้นในวันนั้น และได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอน แต่เหตุวิกฤติที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ในสถานการณ์วิกฤติและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น ในฐานะผู้บังคับการเรือจำเป็นจะต้องมีการตัดสิน ดังนั้นการนำเรือกลับฐานทัพสัตหีบ จึงมาจากการใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งจากการประมาณสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น เรือยังอยู่ในสภาวะปกติไม่มีอาการเอียง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือยังสามารถควบคุมได้ จึงเชื่อว่าสามารถนำเรือกลับได้ แต่หลังจากที่ตัดสินใจนำเรือกลับ เกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสภาพอากาศเลวร้ายกว่าเดิม

“ซึ่งการตัดสินใจของผม อาจเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่รอบคอบ จนส่งผลต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้นผมในฐานะผู้บังคับการเรือ จึงขอแสดงความผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการขอยอมรับโทษ ตามที่ทัพเรือภาคที่ 1 ได้เสนอ และตามที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะเห็นควร นอกจากนี้แล้วหลังจากเรื่องทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้น ผมขอแสดงเจตจำนงในการลาออกจากกองทัพเรือ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด เป็นบ้านเกิดอันอบอุ่นของผม และเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นการดำรงไว้ ซึ่งเกียรติของตำแหน่งผู้บังคับการเรือ ที่นายทหารเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดำรงมา” นาวาโท พิชิตชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นสอบถาม ผู้บัญชาการทหารเรือ ถึงความพร้อมของเรือลำอื่นของกองทัพเรือว่าจะให้ความมั่นใจกับประชาชนได้อย่างไร แต่ถามอดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ให้ยืนยันว่าไม่ใช่เหยื่อที่ไม่ได้รับความยุติธรรม

พลเรือเอก อะดุง ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ตามที่ได้เห็นและได้พิสูจน์ ดำน้ำไปตรวจแล้ว เรือจมเพราะมีรอยแตกของเรือ แตกแรกเกิดจากเบรกกันคลื่นที่ป้อมหัวเรือ อันเนื่องมาจากเรือต้องฟันคลื่นอยู่เป็นเวลานาน ไม่ได้เกี่ยวกับเรือที่เหลือของกองทัพเรือจะเสี่ยงไหม เรืออายุ 36 ปี ต้องตีคลื่นอยู่เป็นเวลานาน ทางเทคนิคเขาบอกแล้วว่าเกิดได้ ส่วนเรื่องน้ำเข้าแค่ 1 ตารางเมตรน่าจะเอาอยู่ แต่หลังจากดำน้ำแล้วเห็นป้อมปืนซึ่งไม่น่าแตก แตกเป็นรูใหญ่มากและประตูบางบานก็ถูกเปิดด้วยแรงกระแทกตลอดเวลา ทำให้ปริมาณน้ำเข้ามีจำนวนมาก เกินกว่าจะสูบออกได้ สิ่งที่เกิดทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเรือกองทัพเรือทุกลำจะเกิด แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่เราเจอคลื่นลมที่เกินกว่าที่เราคาดหวังและคิดว่าจะไม่เจอ

“ตอนออกเรือไปเรือรบทุกลำ คลื่นมียังไงก็ต้องออกเพื่อไปช่วยประชาชน แต่เราจะดูว่า คลื่นลมแต่ละครั้งเรือถูกสร้างมาให้ทนได้ไหม แต่ครั้งนี้ตอนออกเรือ เรือลำนี้ทนได้ กับพยากรณ์อากาศที่เราอ่านตอนออกเรือ แต่เมื่อวิ่งไปถึงตั้งแต่ตอนขาลงก็ยังเอาอยู่ แต่พอไปถึงใกล้ๆ ชุมพร เกิดการแปรปรวนเกินกว่ากำลังของเรือที่จะทนได้จากการต่อเรือจึงเป็นที่มาของการแตกและฉีกของตัวเรือ ส่วนที่ป้อมปืนแตกนั้น พล.ร.ต.อภิรมย์ (พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง คณะทำงานผู้เชี่ยววชาญด้านเทคนิคและคณะกรรมการสอบสวนฯ) ยอมรับว่าไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่รูที่เห็นทุกคนก็เห็นด้วยภาพ…มันทำให้น้ำเข้าเรือมหาศาล ขอบพระคุณที่ท่านห่วงว่าเรือรบไทยจะเสี่ยงไหม ไม่เสี่ยง เราจำเป็นชีวิตเพื่อออกเรือไปช่วยประชาชน แต่เราเสี่ยงแบบมีหลักการไม่ใช่เสี่ยงออกไปแบบไม่จมแบบนี้ แต่ครั้งนี้สุดวิสัยจริงๆ”

“จากที่ผู้บังคับบัญชาท่านชี้แจงมา การใช้ดุลยพินิจต่างๆ ของผม เป็นไปตามที่ได้ชี้แจง เป็นตามนั้นจริงครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังพลก็ดี การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจนำเรือกลับสัตหีบก็ดีอยู่ภายใต้ดุลยพินิจ และคำสั่งการของผม ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการเดินเรือ หรือปฏิบัติการอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้บังคับการเรือ มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ผู้อื่นไม่สามารถมาแทรกแซงกรารปฏิบัติหรือสั่งการเป็นอย่างอื่นได้ นั่นหมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น อยู่ภายใต้การประเมินสถานการณ์ และตัดสินใจของผมแต่เพียงผู้เดียว ความยุติธรรมต่างๆ ในวันนี้ผมยอมรับและเห็นเป็นทิศทางเดียวกับที่ผู้บังคับบัญชาได้สอบสวนและสรุปมาในโทษต่างๆ ก็ดี หรือสาเหตุต่างๆ ก็ดี ขอยืนยันตรงนี้เลยว่าผมมิใช่เป็นเหยื่อของความยุติธรรม และขอยืนยัน ณ ที่นี้เลยว่า ทุกอย่างที่กองทัพเรือได้ทำการสอบสวนมาถูกต้องไม่มีการปกปิด ไม่มีการดำเนินการอื่นใดที่ผิดไปจากความจริงทั้งสิ้น และผมก็ขอยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราเป็นผู้บังคับบัญชา เราต้องรับผิดมาก่อนรับชอบ นี่เป็นสิ่งที่เรายึดกันมาตลอด” อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย กล่าว

ภาพ ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / Thai News Pix

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า