SHARE

คัดลอกแล้ว

Anatomy of a Scandal ฉาวซ่อนเงื่อน เป็นซีรีส์จาก Netflix ที่มาได้ถูกจังหวะพอดี ตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยราวกับจะรู้ล่วงหน้า ด้วยเรื่องราวของ นักการเมืองที่โดนคดีล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมรู้สึกคุ้น ๆ กับเหตุการณ์คล้ายคลึงกันกับบนหน้าข่าวกับคดีของนาย ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่มีเหยื่อออกมาเรียกร้องความยุติธรรมกว่า 15 ราย จากการล่วงละเมิดทางเพศในอดีตจนถึงปัจจุบัน

Anatomy of a Scandal เป็นเรื่องราวของ เจมส์ ไวท์เฮาส์ (รับบทโดย รูเพิร์ต เฟรนด์) นักการเมืองรูปหล่อ เก่งกาจอนาคตไกล เพื่อนสนิทนายก ที่โดน โอลิเวีย ลิตตัน (รับบทโดย นาโอมิ สก็อตต์) นักวิจัยรัฐสภา อดีตชู้รักฟ้องว่าถูกข่มขืนในลิฟท์ ทำให้ โชเฟีย (รับบทโดย เซียนนา มิลเลอร์) ภรรยาของเขาที่เคยรักและเชื่อในตัวสามีแบบหมดใจเกิดตั้งคำถามขึ้นมาว่าสามีคนดีของเธอนั้นเป็นคนดีจริงหรือไม่ และคดีนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการลากเรื่องเน่าเฟะในอดีตอื่น ๆ ออกมารอวันเปิดเผย

เรื่องของเจมส์นั้นต่างกับข่าวในประเทศไทยอยู่บ้าง ด้วยจำนวนเหยื่อที่น้อยกว่าและความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการสมยอมกับการไม่สมยอมนั้นดูจะเลือนรางลงในสายตาของหลายคน แต่สิ่งที่น่าสนใจที่ซีรีส์นำเสนอคือมุมมองที่อาจจะทำให้ผู้ชมเห็นได้ว่า ทำไมคนหน้าตาดีที่มีทุกอย่างพร้อมถึงลงเอยด้วยการมีคดีล่วงละเมิดทางเพศติดตัวไปได้

ตลอดเรื่องซีรีส์ปูให้เห็นว่าความมั่นใจและดีพร้อมของเจมส์คือบ่อเกิดแห่งปัญหา เพราะสิ่งรอบ ๆ ตัวเขาค่อย ๆ บ่มเพาะทัศนคติและความรู้สึกว่าเขามีอำนาจบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ อาจจะโดยที่เขาไม่รู้ตัว ตั้งแต่ยังเด็กที่เขามักจะโกงเวลาเล่นเกม หรือโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่แม่เขาไม่เคยจะเห็นว่าเป็นเรื่องแย่ เมื่อโตมาและเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างอ็อกซ์ฟอร์ดเขาก็มาอยู่ในกลุ่มลิเบอทีนในเรื่องที่เป็นกลุ่มที่รวมเด็กหนุ่มรวย ๆ ที่ใช้เงินเป็นเบี้ยเพื่อเลี้ยงสังสรรค์หรือทำอะไรตามชอบใจ เพราะคิดว่าเงิน ทำให้พวกเขาทำอะไรก็ได้ เช่น ฉากที่เขาพยายามจ่ายค่าชดเชยให้เด็กเสิร์ฟที่โดนลวนลาม ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากที่เน้นย้ำความรู้สึกถึงอภิสิทธิ์ที่เขามีเหนือคนอื่นหรือแม้แต่ที่เขาชอบพูดกับลูกว่าเพราะพวกเราเป็นไวท์เฮาส์และพวกไวท์เฮาส์ “เป็นที่หนึ่งเสมอ” ก็สะท้อนให้เห็นว่าการปลูกฟังว่าเขาอยู่เหนือกว่าใคร ๆ นั้นซึมลึกในตัวเจมส์และกำลังถ่ายทอดไปสู่ลูก

ถึงแม้ซีรีส์จะเป็นเรื่องราวสมมุติที่ดัดแปลงมาจากนิยายอีกทีแต่ก็มีเค้าโครงความจริงไม่น้อย ไม่ใช่แค่เพราะข่าวในบ้านเรา แต่ในต่างประเทศก็มีเรื่องราวคล้ายกันนี้ที่คนดังล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ในเรื่องที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงอย่างกลุ่มลิเบอทีนในเรื่องก็ดูจะอ้างอิงมาจากสโมสรชายล้วนที่มีอยู่จริงในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอย่าง สโมสรบูลลิงดอน หรือ Bullingdon Club ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1780 ซึ่งเป็นสโมสรเดียวกับอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง The Riot Club จากบทความของ The Indipendent ซึ่งเล่าเรื่องราวของสโมสรนี้ ระบุว่าวัฒนธรรมของกลุ่มคือการแต่งตัวจัดเต็มพร้อมชุดยูนิฟอร์มสูทหางยาวสีกรมท่าคอทำจากกำมะหยี่และปกผ้าไหมสีงาช้าง กระดุมสลักอักษรย่อ เสื้อกั๊ก และโบว์ไทสีฟ้าบูลลิงดอนสีประจำสโมสร แค่ชุดก็มีมูลค่ากว่า 3,500 ปอนด์

บทความของ The Guardian ได้เปิดเผยว่าแม้จะเริ่มมาด้วยการเป็นสโมสรคริกเกตและล่าสัตว์ แต่เรื่องขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของสโมสรนี้คือการจัดงานเลี้ยงกินเหล้าแพง ๆ จนเมาเละ ทุบทำลายสิ่งของต่าง ๆ ตามชอบใจ โดยเฉพาะใครได้รับเลือกเป็นประทานคนใหม่จะโดนทุบห้องเละ และหลายครั้งในงานเลี้ยงนั้นจะมีหญิงค้าบริการมาให้บริการด้วย และสำหรับพวกเขาผู้หญิงเป็นแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่ง

การที่สมาชิกของกลุ่มนี้มีคนดังที่อยู่ในวงการการเมืองก็ไม่เกินความจริงเพราะหนึ่งอดีตสมาชิกนั้นคือนายกรัฐมนตรีของอังกฤษอย่าง บอร์ริส จอห์นสัน อดีตนายกฯ อย่าง เดวิด คาเมรอน หรือแม้แต่กษัตริย์ เอ็ดเวิร์ดที่แปดของอังกฤษ ก็ถูกว่ากันว่าเคยเป็นสมาชิกของสโมสรนี้ก่อนที่จะถอนตัวหลังจากที่เรื่องราวของงานเลี้ยงตอนคำ่คืนหนึ่งหลุดไปถึงพระกรรณของควีนแมรี่ ตัวบูลลิงดอนคลับนั้นถูกวิพากย์วิจารณ์หลายครั้งว่าเป็นสัญญลักษณ์ของชนชั้น ด้วยพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นอภิสิทธ์ชน สมากชิกที่จำกัดเฉพาะคนที่ถูกคัดเลือกมาเท่านั้น New York Times เคยเขียนถึงบูลลิงดอนคลับไว้ในปี 1913 ว่ามัน “เป็นตัวแทนของความมีเอกสิทธิ์ในออกซ์ฟอร์ด มันเป็นสโมสรของบุตรของขุนน้ำขุนนาง บุตรของมหาเศรษฐี เหล่าสมาชิกต่างเป็นตัวแทนของ ‘เลือดใหม่’ ของมหาวิทยาลัย” แต่ดูเหมือนในปัจุบันชื่อเสียที่สะสมมาทำให้สโมสรต้องเจอกับภาวะวิกฤติโดยบทความจาก The Spectator ในปี 2017 รายงานว่าสโมสรเหลือสมาชิกเพียงแค่สองคนเท่านั้น

ความหลังของเจมส์และบูลลิงดอนคลับตอกย้ำให้เห็นว่าที่จริงการข่มขืนในหลายครั้งอาจะไม่ใช่เรื่องของความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของอำนาจเพราะผู้กระทำรู้สึกว่าเขามีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้เพราะชินกับอภิสิทธ์ที่ตัวเองได้รับ จากหน้าตา ฐานะที่ตนมี หรือเป็นเรื่องของความสำคัญตัวผิดคิดว่าอีกฝ่ายคงไม่ปฏิเสธเขา ซึ่งสะท้อนผ่านประโยคที่เจมส์พูดในเรื่องว่า ‘Don’t be such a prick tease’ หรือ ‘อย่ามายั่วหน่อยเลย’

และตัวซีรีส์นำเสนอให้เห็นการตอบสนองของสังคมต่อคดีล่วงละเมิดทางเพศในหมู่ผู้ชายชนชั้นนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความผิดในการล่วงละเมิดนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคน โดยเฉพาะถ้าผู้กระทำเป็นคนดังหรือมีหน้ามีตาในสังคม เพราะเสียงของคนที่มีชื่อเสียงนั้นดังกว่าเสมอ เหมือนที่ในเรื่องเราแทบจะไม่ได้ฟังเรื่องราวจากมุมของโอลิเวียและความทรมานที่เธอต้อเผชิญนอกจากฉากในศาล  แค่เพียงรักษาภาพลักษณ์ไว้และรอให้ข่าวซา ความผิดก็จะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยที่แทบจะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของพวกเขาเลย ราวกับพวกเขามีบัตรโกงในเกมเศรษฐีอยู่ในชีวิตจริง

นอกจากนี้ซีรีส์ยังทำให้เห็นมุมมองของเหยื่อในคดีข่มขืนที่เกิดจากคนใกล้ชิด เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คำว่าสมยอมกับข่มขืนอยู่ห่างกันเพียงชั่วอึดใจ ดังเช่นเรื่องราวของ โอลิเวีย ลิตตัน ที่แม้เธอจะหลงรักเจมส์หัวปักหัวปำ และถึงเธอจะไม่ได้ปฏิเสธเขาอย่างชัดเจนด้วยวาจา มันก็ไม่ได้หมายความว่าเธออนุญาตให้เขาทำอะไรกับเธอก็ได้ ฉากในศาลสะท้อนให้เห็นการตัดสินคดีข่มขืนที่ในหลายครั้งความคลุมเครือหรือการถูกชักจูงมุมมองโดยทนายความอาจจะเป็นช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดหลุดคดีได้ และยังแสดงให้เห็นอีกว่ากระบวนการที่เหยื่อจะต้องเล่าเหตุการณ์น่าสะเทือนใจซ้ำ ๆ อย่างละเอียดท่ามกลางสายตาคนมากมาย และทนายที่คอยซักไซ้และโจมตี ก็คอยย้ำเตือนให้เห็นว่าเหยื่อในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ต้องรวบรวมความกล้าที่จะต้องเผชิญกับความเลวร้ายซ้ำไปมาและแรงกดดันจากสังคมมากแค่ไหน ทำให้หลายคนเลือกจะเก็บความลับนี้ไว้กับตัวเอง

ทั้งหมดนี้ทำให้ Anatomy of a Scandal ฉาวซ่อนเงื่อน มอบอะไรทิ้งไว้ให้ผู้ชมมากกว่าความสนุกของเรื่องราวที่ค่อย ๆ คลี่คลายปมปริศนาออกมา เพราะมันทำให้เราได้มองคดีล่วงละเมิดทางเพศในมุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น

“ดิฉันรู้ว่าพวกคุณจะไม่ทำผิดพลาดด้วยการคิดว่าคนรวยและคนมีอำนาจเล่นตามกฏที่ต่างออกไป ว่าคนที่ไม่คุ้นเคยกับการโดนปฏิเสธควรได้รับการยกเว้นเมื่อได้ยินมัน ว่าเสรีภาพของพวกเขาแตกต่างจากของคนอื่น”

ประโยคส่งท้ายของเคท ทนายความฝ่ายจำเลยในศาล เป็นสิ่งที่เตือนใจเราให้เราลองตรองดูว่าเมื่อเราอ่านข่าวคดีข่มขืน เรามองมันจากมุมมองไหนและความคิดเห็นของเรากำลังทำให้คนบางกลุ่มได้รับอภิสิทธิ์ที่เขาไม่สมควรได้รับอยู่หรือไม่

อ้างอิง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า